มาตรการภาษีสำหรับการวางหลักทรัพย์เป็นประกันการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 6, 2010 15:13 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบมาตรการภาษีสำหรับการวางหลักทรัพย์เป็นประกันการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

กระทรวงการคลังเสนอว่า

1. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้ขอให้กระทรวงการคลังพิจารณามาตรการภาษีสำหรับการวางหลักทรัพย์เป็นประกันการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า โดยขอให้ยกเว้นภาษีที่เกี่ยวข้องกับการโอนและรับโอนคืนหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และขอให้กำหนดแนวทางการเสียภาษีที่ชัดเจนของ Manufactured Benefit ที่ broker จ่ายให้กับลูกค้า

2. กระทรวงการคลังพิจารณาแล้วเห็นว่า ลักษณะการวางหลักประกันเป็นหลักทรัพย์ตามพระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 มีระบบการวางหลักทรัพย์สินเป็นประกันตามลำดับชั้น และทรัพย์สินที่โอนเป็นประกันจะเป็นทรัพย์สินที่มีสภาพคล่องสูง ประกอบกับ ก.ล.ต. ได้มีการจัดตั้งศูนย์ซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และมีธุรกรรมการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเพื่อบริหารความเสี่ยงที่เกิดขึ้นจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย และดัชนีกลุ่มหลักทรัพย์ ตลอดจนสินค้าหรือตัวแปรอื่น ดังนั้น เพื่อเป็นการสนับสนุนการทำธุรกรรมการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าอันจะส่งผลให้ธุรกรรมในตลาดอนุพันธ์เติบโตอย่างต่อเนื่อง จึงเห็นควรยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ ให้แก่ผู้โอนและผู้รับโอนหลักทรัพย์ที่วางเป็นประกันการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้าตามกฎหมายว่าด้วยสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ซึ่งเป็นการดำเนินการแนวทางเดียวกับการยกเว้นภาษีเงินได้ กรณีกิจการซื้อหรือขายคืนหลักทรัพย์โดยมีสัญญาซื้อขายหรือซื้อคืนตามพระราชกฤษฎีกาออกตามความในประมวลรัษฎากร ว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 364) พ.ศ. 2542 และประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 82) เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ผู้ขายและผู้ซื้อหลักทรัพย์ที่กระทำกิจการซื้อหรือขายหลักทรัพย์โดยมีสัญญาขายหรือซื้อคืน ลงวันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2543

3. การดำเนินการตามร่างพระราชกฤษฎีกาดังกล่าว จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้กับธุรกรรมการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า และขจัดความซ้ำซ้อนในการจัดเก็บภาษี และคาดว่าจะไม่กระทบต่อรายได้ภาษีอากร เนื่องจากปัจจุบันยังไม่มีการวางหลักทรัพย์เป็นประกันการซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า จึงยังไม่มีรายได้ภาษีในส่วนนี้

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

1. ยกเว้นภาษีเงินได้ให้แก่ลูกค้า ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชี สำหรับเงินได้ที่เกิดจากการโอนและรับโอนซึ่งหลักทรัพย์ที่เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า

ในกรณีที่ลูกค้าเป็นบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายต่างประเทศและมิได้ประกอบกิจการในประเทศไทย หากได้รับเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินชดเชยดอกเบี้ยจากหลักทรัพย์ที่เป็นประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ต้องยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินชดเชยเงินปันผลที่ได้รับหรือในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินชดเชยดอกเบี้ยที่ได้รับ จึงจะได้รับยกเว้นภาษี (ร่างมาตรา 4)

2. ลูกค้าซึ่งได้รับยกเว้นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา หากยอมให้ผู้จ่ายเงินได้หักภาษี ณ ที่จ่าย ในอัตราร้อยละ 10.0 ของเงินชดเชยเงินปันผลที่ได้รับ หรือในอัตราร้อยละ 15.0 ของเงินชดเชยดอกเบี้ยที่ได้รับ เมื่อถึงกำหนดยื่นรายการให้ได้รับการยกเว้นไม่ต้องนำเงินชดเชยเงินปันผลหรือเงินชดเชยดอกเบี้ยดังกล่าวมารวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้ (ร่างมาตรา 5)

3. ให้ยกเว้นภาษีเงินได้สำหรับเงินปันผลที่ได้จากบริษัทที่ตั้งขึ้นตามกฎหมายไทย หรือเงินส่วนแบ่งกำไรที่ได้จากกองทุนรวมที่จัดตั้งขึ้นตามกฎหมายว่าด้วยหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ร่างมาตรา 6)

4. ให้ยกเว้นภาษีธุรกิจเฉพาะและอากรแสตมป์ สำหรับรายรับหรือการกระทำตราสารอันเนื่องมาจากการโอนหรือรับโอนซึ่งหลักทรัพย์ที่เป็นหลักประกันในการปฏิบัติตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้า ให้แก่ลูกค้า ตัวแทนซื้อขายสัญญาซื้อขายล่วงหน้า สำนักหักบัญชี แล้วแต่กรณี (ร่างมาตรา 7)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ