ผลการดำเนินงานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปีงบประมาณ 2552 (1 ตุลาคม 2551 — 30 กันยายน 2552)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 6, 2010 15:33 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินงานการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ปีงบประมาณ 2552 (1 ตุลาคม 2551 — 30 กันยายน 2552) ตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติเสนอ ซึ่งมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. ความครอบคลุมในระบบหลักประกันสุขภาพ

1.1 ประชาชนคนไทยมีหลักประกันสุขภาพเพิ่มขึ้น ครอบคลุมประชาชนผู้มีสิทธิจำนวน 62.36 ล้านคน คิดเป็นร้อยละ 99.47 ของประชากรทั้งประเทศ (62.69 ล้านคน)

1.2 ประชากรลงทะเบียนสิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า จำนวน 47.56 ล้านคน

1.3 การใช้บริการทางการแพทย์เฉพาะผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีดังนี้

1.3.1 การใช้บริการผู้ป่วยนอก จำนวน 140.88 ล้านครั้ง/39.02 ล้านคน ส่วนผู้ป่วยในมีจำนวน 5.20 ล้านคน/21.17 ล้านวัน

1.3.2 การแพทย์แผนไทยมีผู้รับบริการทั้งสิ้น 306,755 คน/689,292 ครั้ง

1.3.3 การใช้บริการตติยภูมิเฉพาะด้านโรคหัวใจและหลอดเลือด ตั้งแต่ปี 2549 — 2551 ส่วนใหญ่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น พบว่ามีผู้ใช้บริการทำหัตถการที่สำคัญ ได้แก่ การผ่าตัดหัวใจแบบเปิด จำนวนสูงสุด รองลงมาเป็นการฉีดสี การใส่สายสวนหัวใจและการใส่บอลลูน

1.3.4 ผู้ติดเชื้อเอชไอวีและผู้ป่วยเอดส์มีผู้รับบริการ VCT สะสม (คลินิกให้คำปรึกษาและตรวจเลือด) จำนวน 335,362 ราย

1.3.5 การฟื้นฟูสมรรถภาพคนพิการมีผู้พิการในระบบหลักประกันสุขภาพทั้งสิ้น 567,703 ราย

1.3.6 การสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคมีการให้บริการวัคซีนไข้หวัดใหญ่ในกลุ่ม โรคเรื้อรัง จำนวน 1,355,180 ราย

1.3.7 การใช้บริการผู้ป่วยโรคเฉพาะ โรคเลือดออกง่าย มีผู้รับบริการมากที่สุด คิดเป็นร้อยละ 449.03

2. การควบคุมคุณภาพและมาตรฐานบริการสาธารณสุข หน่วยบริการที่ได้รับการรับรองคุณภาพตาม มาตรฐาน Hospital Accreditation (HA) ในขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 และขั้นรับรองคุณภาพ HA มีจำนวนรวม 963 แห่ง คิดเป็น ร้อยละ 97.27 จากโรงพยาบาลทั้งหมด 990 แห่ง มีเรื่องร้องเรียนที่ผ่านช่องทางโทรศัพท์สายด่วน สปสช. 1330 ณ เดือนมิถุนายน 2552 จำนวน 105 เรื่อง ส่วนผลการสำรวจความพึงพอใจต่อระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของประชาชนและบุคลากรในหน่วยบริการ พบว่า ประชาชนมีความพึงพอใจร้อยละ 89.32 ส่วนผู้ให้บริการมีความพึงพอใจร้อยละ 60.30

3. การคุ้มครองสิทธิ การให้บริการประชาชนเพื่อช่วยเหลือผู้มีสิทธิและผู้ให้บริการในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีการให้บริการทั้งสิ้น 783,487 เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องสอบถามข้อมูล จำนวน 769,082 เรื่อง (ร้อยละ 98.16) ส่วนเรื่องร้องเรียนที่ได้รับการตอบสนองภายใน 30 วันทำการ คิดเป็นร้อยละ 95.04 และเรื่องร้องทุกข์ดำเนินการแล้วเสร็จ คิดเป็นร้อยละ 97.66 ด้านการชดเชยความเสียหายกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการใช้บริการสาธารณสุขในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า มีผู้ได้รับความเสียหายได้รับการชดเชย จำนวน 660 ราย เป็นเงิน 73.22 ล้านบาท

4. การสนับสนุนการมีส่วนร่วมของภาคี มีศูนย์ประสานงานหลักประกันสุขภาพประชาชน 102 ศูนย์ ใน 76 จังหวัด เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี 337 กลุ่ม เครือข่ายผู้ป่วยโรคไตวายเรื้อรัง (ชมรมเพื่อนโรคไต) 26 ชมรม เครือข่ายศูนย์ ส่งเสริมมิตรภาพบำบัด ฯลฯ

5. การบริหารกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เบิกจ่ายงบกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติในภาพรวมทั้งสิ้น 71,785.70 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 89.07

6. โครงการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้พัฒนาโครงการที่เอื้อประโยชน์แก่ประชาชนในการเข้าใช้บริการได้สะดวก รวดเร็ว ใกล้บ้าน ได้แก่ โครงการใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรประกันสุขภาพถ้วนหน้า การเข้ารับการบริการโดยไม่จำกัดหน่วยบริการปฐมภูมิภายในจังหวัด เป็นต้น

7. ปัญหา อุปสรรค และแนวทางแก้ไข ปัจจัยที่มีผลกระทบต่อความสำเร็จของการดำเนินงานหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ได้แก่ สถานะของการเบิกจ่ายเงินกองทุนไม่เป็นปัจจุบัน การโอนเงินงบประมาณกองทุนในแต่ละงวดล่าช้าการดำเนินการกองทุนตำบลมีแนวทางปฏิบัติที่ไม่ชัดเจน การจัดทำสัญญากับหน่วยบริการไม่เป็นไปในมาตรฐานเดียวกัน เป็นต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ