สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 6, 2010 15:37 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2552 ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เป็นประจำทุกเดือน โดยสอบถามประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีครัวเรือนตกเป็นตัวอย่าง 26,520 ครัวเรือนต่อเดือน สำหรับในไตรมาสที่ 3 พ.ศ. 2552 ในภาพรวมสถานการณ์แรงงาน อัตราการว่างงานเท่าเดิม คือ ร้อยละ 1.2 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 หากเปรียบเทียบกับช่วงไตรมาสที่ 2 พ.ศ. 2552 อัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 0.5 (จาก 1.7 เป็นร้อยละ 1.2) สำหรับสาระสำคัญการสำรวจ สรุปได้ดังนี้

1. ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน

ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.88 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 38.37 ล้านคน ผู้ว่างงาน 456,000 คน และผู้ที่รอฤดูกาล 50,000 คน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2551 จำนวน 540,000 คน (จาก 38.34 ล้านคน เป็น 38.88 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4

2. ผู้มีงานทำ

2.1 ผู้มีงานทำ 38.37 ล้านคน เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2551 จำนวน 530,000 คน (จาก 37.84 ล้านคน เป็น 38.37 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4 ซึ่งมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลงในสาขาต่างๆ ได้ดังนี้

(1) มีผู้ทำงานเพิ่มขึ้น นอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 670,000 คน (จาก 21.77 ล้านคน เป็น 22.44 ล้านคน) โดยเป็นการเพิ่มในสาขาการขายส่ง ขายปลีกฯ มากที่สุด 240,000 คน (จาก 5.63 ล้านคน เป็น 5.87 ล้านคน) สาขาโรงแรมและภัตตาคาร เพิ่มขึ้น 210,000 คน (จาก 2.35 ล้านคน เป็น 2.56 ล้านคน) สาขาการผลิต เพิ่มขึ้น 70,000 คน (จาก 5.23 ล้านคน เป็น 5.30 ล้านคน) สาขาการบริหารราชการและป้องกันประเทศ เพิ่มขึ้น 70,000 คน (จาก 1.30 ล้านคนเป็น 1.37 ล้านคน) สาขาก่อสร้าง เพิ่มขึ้น 30,000 คน (จาก 2.01 ล้านคน เป็น 2.04 ล้านคน) สาขาการขนส่งฯ เพิ่มขึ้น 20,000 คน (จาก 1.09 ล้านคน เป็น 1.11 ล้านคน) ตามลำดับ

(2) ผู้ทำงานลดลง เป็นการลดลงในสาขาเกษตรกรรมมากที่สุด 140,000 คน (จาก 16.07 ล้านคน เป็น 15.93 ล้านคน) รองลงมากระจายอยู่ในสาขาอื่นๆ ได้แก่ สาขากิจกรรมด้านการบริการชุมชนฯ 33,000 คน (จาก 819,000 คน เป็น 786,000 คน) สาขาการเป็นตัวกลางทางการเงินลดลง 24,000 คน (จาก 396,000 คน เป็น 372,000 คน) สาขาองค์การระหว่างประเทศฯ ลดลง 16,000 คน (จาก 40,000 คน เป็น 24,000 คน) สาขางานด้าน สุขภาพฯ ลดลง 5,600 คน (จาก 720,000 คน เป็น 715,000 คน)

2.2 สำหรับผู้ทำงานได้ไม่เต็มเวลา (ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวน 5.97 ล้านคน หรือคิดเป็นร้อยละ 15.6 หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.8 (จากร้อยละ 14.8 เป็นร้อยละ 15.6) สำหรับผู้ทำงานได้เต็มเวลา (ทำงานตั้งแต่ 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) มีจำนวน 32.40 ล้านคน หรือ คิดเป็นร้อยละ 84.4 หรือลดลงร้อยละ 0.8 (จากร้อยละ 85.2 เป็นร้อยละ 84.4)

3. ผู้ว่างงาน

3.1 ผู้ว่างงานทั่วประเทศมีจำนวน 460,000 คน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.2 ของกำลังแรงงานรวม (เพิ่มขึ้น 6,000 คน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2551) ประกอบด้วยผู้ว่างงาน ที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 160,000 คน โดยอยู่ในกลุ่มเยาวชน (15-25 ปี) 120,000 คน และกลุ่มของผู้อยู่ในวัยทำงาน (25 ปีขึ้นไป) 37,000 คน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 300,000 คน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคการผลิต 140,000 คน ภาคการบริการและการค้า 130,000 คน และภาคเกษตรกรรมรวม 35,000 คน

3.2 ผู้ว่างงาน เป็นผู้มีการศึกษาอยู่ในระดับอุดมศึกษามากที่สุดจำนวน 148,000 คน รองลงมาเป็นระดับมัธยมศึกษาตอนต้น 112,000 คน ประถมศึกษา 81,000 คน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 73,000 คน และไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 42,000 คน ตามลำดับ

3.3 ผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 131,000 คน ภาคกลาง 118,000 คน ภาคเหนือ 86,000 คน ภาคใต้ 73,000 คน และกรุงเทพมหานคร 49,000 คน โดยภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 1.4 ต่ำสุดเป็นภาคตะวันออกเฉียงเหนือร้อยละ 1.0

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 5 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ