คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติธรรมนูญศาลทหาร (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงกลาโหมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจออกข้อบังคับและระเบียบเพื่อปฏิบัติการตามพระราชบัญญัตินี้ และให้เป็นผู้รับผิดชอบงานธุรการของศาลทหาร โดยให้หัวหน้าสำนักตุลาการทหารมีอำนาจวางระเบียบราชการศาลทหาร รวมทั้งให้คำแนะนำแก่ตุลาการศาลทหารในการปฏิบัติตามระเบียบราชการศาลทหาร ตลอดจนให้เจ้ากรมพระธรรมนูญโดยอนุมัติรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมมีอำนาจวางระเบียบราชการอัยการทหาร (ร่างมาตรา 3)
2. กำหนดให้ตุลาการพระธรรมนูญและอัยการทหารได้รับเงินเพิ่มสำหรับตำแหน่ง โดยเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนและเงินประจำตำแหน่งของผู้พิพากษา หรือตุลาการศาลอื่น และพนักงานอัยการ แล้วแต่กรณี และเพิ่มบทบัญญัติให้ตุลาการศาลทหารมีความเป็นอิสระในการพิจารณาพิพากษาอรรถคดี กับให้มีอำนาจปกครองบังคับบัญชา จ่าศาลทหารและเจ้าหน้าที่ประจำศาลทหาร (ร่างมาตรา 5)
3. กำหนดให้ศาลจังหวัดทหารมีอำนาจพิจารณาพิพากษาคดีอาญาได้ทุกบทกฎหมาย เว้นแต่คดีที่จำเลยมียศทหารชั้นสัญญาบัตร และให้การพิพากษาคดีของศาลทหารสอดคล้องกับมาตรา 192 แห่งประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา (ร่างมาตรา 6 และร่างมาตรา 11)
4. ยกเลิกอำนาจของผู้บังคับบัญชาทหารในการสั่งควบคุมตัวผู้ต้องหาซึ่งเป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหาร (ร่างมาตรา 7)
5. กำหนดสิทธิของผู้เสียหายและจำเลย โดยกำหนดให้ผู้เสียหายซึ่งมิได้เป็นบุคคลที่อยู่ในอำนาจศาลทหารมีอำนาจฟ้องคดีอาญาต่อศาลทหารในเวลาปกติ และมีสิทธิแต่งทนายว่าต่างได้ นอกจากนี้ ให้จำเลยมีสิทธิแต่งทนายแก้ต่างได้ในศาลทหารทั้งในเวลาปกติและในเวลาไม่ปกติ และให้ศาลทหารตั้งทนายให้แก่จำเลยโดยให้ศาลจ่ายเงินรางวัลและค่าใช้จ่ายแก่ทนายที่ศาลตั้ง (ร่างมาตรา 8 — ร่างมาตรา 10)
6. แก้ไขเพิ่มเติมเรื่องการอุทธรณ์และฎีกา โดยแก้ไขระยะเวลาอุทธรณ์และฎีกา และกำหนดให้คู่ความอาจอุทธรณ์คำพิพากษาหรือคำสั่งของศาลทหารในเวลาไม่ปกติ ศาลอาญาศึก หรือศาลที่พิจารณาพิพากษาคดีแทนศาลอาญาศึกได้ และให้คดีถึงที่สุดในศาลทหารกลาง นอกจากนี้ กำหนดให้คู่ความสามารถอุทธรณ์ปัญหาข้อกฎหมายโดยตรงต่อศาลทหารสูงสุด แก้ไขหลักเกณฑ์ในการฏีกาปัญหาข้อเท็จจริง และกำหนดให้มีการอนุญาตให้ฏีกาในคดีที่ต้องห้ามมิให้ฏีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยตุลาการพระธรรมนูญหรือรับรองฏีกาในปัญหาข้อเท็จจริงโดยหัวหน้าอัยการทหาร (ร่างมาตรา 12 — ร่างมาตรา 15)
7. แก้ไขการบังคับคดีในกรณีหญิงมีครรภ์ต้องคำพิพากษาให้ประหารชีวิต และกำหนดหน้าที่ของศาลทหารชั้นต้นที่ต้องส่งสำนวนคดีที่พิพากษาลงโทษประหารชีวิตหรือจำคุกตลอดชีวิตไปยังศาลทหารกลาง (ร่างมาตรา 16)
8. กำหนดผู้มีอำนาจสั่งลงโทษกรณีจำเลยอยู่ต่างท้องถิ่นกับผู้บังคับบัญชาหรือไม่อยู่ในบังคับบัญชาของทหาร และกรณีเป็นคำพิพากษาของศาลประจำหน่วยทหารและศาลอาญาศึก (ร่างมาตรา 17)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2553--จบ--