คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ที่เกิดจากปัญหาผลผลิตไข่ไก่ล้นตลาด ในระยะเร่งด่วน ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. ด้านการตลาด ขยายตลาดรองรับผลผลิตไข่ไก่ให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ โดยรณรงค์ให้มีการเพิ่มการบริโภคไข่ไก่ ผ่านกระทรวงที่กำกับดูแลหน่วยงานในสังกัดกว้างขวาง ที่สามารถรณรงค์ให้มีการบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้นได้จำนวนมาก ประกอบด้วย
(1) กระทรวงพาณิชย์ : ประสานเชื่อมโยงการจำหน่ายให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่นำผลผลิตไปจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภคโดยตรง ในสถานที่ราชการและแหล่งชุมชน รวมทั้งจัดกิจกรรมส่งเสริมการจำหน่ายไข่ไก่ ภายใต้ Farm Outlet ที่จัดภายในงานธงฟ้า รวมทั้งเพื่อรณรงค์เชิญชวนให้มีการบริโภคไข่ไก่เพิ่มขึ้น
(2) กระทรวงกลาโหม กระทรวงยุติธรรม กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย และกระทรวงศึกษาธิการ : มอบหมายหน่วยงานในสังกัด อาทิ กองทัพ เรือนจำ โรงพยาบาล และโรงเรียน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่ โดยรับซื้อไข่ไก่จากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่โดยตรง ในราคา ณ แหล่งผลิต ตามภาวะตลาด เป็นเวลาอย่างน้อย 30 วัน ภายในช่วงเดือนมกราคม — กุมภาพันธ์ 2553 เพื่อให้เกษตรกรสามารถระบายไข่ไก่ส่วนเกินได้อย่างน้อยจำนวนวันละ 1,000,000 ฟอง โดยกระทรวงพาณิชย์เป็นหน่วยงานกลางในการประสานเชื่อมโยงระหว่างหน่วยงานราชการกับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่
2. ด้านการผลิต เร่งรัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ดำเนินการตามมติคณะกรรมการนโยบายและพัฒนาไก่ไข่และผลิตภัณฑ์ (Egg Board) ที่มีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์เป็นประธาน เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2553 ให้ลดกำลังการผลิต โดยขอความร่วมมือผู้ผลิตไก่ไข่พันธุ์และผู้เลี้ยงไก่ไข่ขนาด 100,000 ตัวขึ้นไป ชะลอการนำลูกไก่เข้าเลี้ยง และปลดแม่ไก่ยืนกรงเร็วขึ้นก่อนอายุการปลดปกติที่ 78 สัปดาห์
ข้อเท็จจริง
1. กระทรวงพาณิชย์ได้รับการร้องเรียนจากเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไข่รายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณไข่ไก่ออกสู่ตลาดเกินความต้องการ ส่งผลให้ราคาไข่ไก่ที่เกษตรกรขายได้อ่อนตัวลงตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2552 เป็นต้นมา
2. ภาวะราคา/ปัญหา/สาเหตุ ราคาไข่ไก่คละ ที่เกษตรกรขายได้ ณ แหล่งผลิต อ่อนตัวลง จากฟองละ 2.30 บาท (กลางเดือนธันวาคม 2552) เหลือฟองละ 2.00 บาท ในปัจจุบัน (11 มกราคม 2553) โดยมีสาเหตุจากเกิดปริมาณไข่ไก่ส่วนเกินสะสมในระบบตลาดประมาณวันละ 1-2 ล้านฟอง อันเนื่องมาจากปัญหาลูกไก่ไข่พันธุ์ขาดแคลนต่อเนื่องมาจากเดือนธันวาคม 2552 ทำให้มีการชะลอการปลดแม่ไก่ยืนกรงออกไปจากอายุการปลดที่เหมาะสมที่ 78 สัปดาห์ ในขณะที่ราคาขายปลีกไข่ไก่ เบอร์ 3 ในตลาดสดทั่วไป อยู่ที่ฟองละ 2.50-2.60 บาท อยู่ในระดับใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน
รายการ ปี 2550 ปี 2551 ปี 2552 ปี 2553 ผลผลิต (ล้านฟอง) 8,990 9,424 9,902 10,219 บริโภคในประเทศ (ล้านฟอง) 8,683 8,949 9,499 9,819 การส่งออก (ล้านฟอง) 241 406 314 350
(ม.ค.-พ.ย. 52) (เป้าหมาย)
ต้นทุนการผลิต (บาท/ฟอง) 1.94 2.32 2.2 ราคาไข่ไก่ คละ ณ แหล่งผลิต (บาท/ฟอง) 1.92 2.23 2.27 2
(11 ม.ค. 53) ช่วงผลผลิตออกมาก: ตุลาคม - กุมภาพันธ์
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2553--จบ--