คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ
ตามที่คณะรัฐมนตรีได้รับทราบแผนบูรณาการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนนเสนอ โดยตั้งเป้าหมายในช่วงรณรงค์ป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 “7 วันขับขี่ปลอดภัย เทิดไท้องค์ราชัน” ระหว่างวันที่ 29 ธันวาคม 2552 ถึงวันที่ 4 มกราคม 2553 ที่จะลดลงทั้งจำนวนครั้งอุบัติเหตุ ผู้เสียชีวิต และผู้บาดเจ็บให้ได้อย่างน้อยร้อยละ 5 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเทศกาลปีใหม่ 2552 นั้น
รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประธานกรรมการและผู้อำนวยการศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้มีคำสั่งศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ที่ 3/2552 ลงวันที่ 4 ธันวาคม 2552 แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 โดยมีรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน และให้มีอำนาจหน้าที่ในการบูรณาการการดำเนินงานร่วมกับกระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม และกระทรวงสาธารณสุข เพื่ออำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนภายใต้หลักปฏิบัติ “ไปสะดวก กลับสบาย”
ในการนี้ การดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 ได้เสร็จสิ้นลงด้วยความเรียบร้อยแล้ว ดังนั้น ศูนย์อำนวยการความปลอดภัยทางถนน ได้สรุปผลการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 ดังนี้
1. ภาพรวมสถิติอุบัติเหตุในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553
1) เกิดอุบัติเหตุทางถนน 3,534 ครั้ง เปรียบเทียบปีใหม่ 2552 ซึ่งเกิด 3,824 ครั้ง ลดลง 290 ครั้ง คิดเป็นร้อยละ 7.58
2) มีผู้เสียชีวิต 347 ราย เปรียบเทียบกับปีใหม่ 2552 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 367 ราย ลดลง 20 ราย คิดเป็นร้อยละ 5.45
3) มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 3,827 คน เปรียบเทียบกับปีใหม่ 2552 ซึ่งมีผู้บาดเจ็บ 4,107 คน ลดลง 280 คน คิดเป็นร้อยละ 6.82
2. การวิเคราะห์ข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553
1) จากข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 พบว่าผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บจากอุบัติเหตุทางถนนมีสาเหตุมาจากเมาสุราแล้วขับขี่ เป็นอันดับแรกร้อยละ 40.46 รองลงไป คือ การขับรถเร็ว มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย และตัดหน้ากระชั้นชิด โดยมีรถจักรยานยนต์เป็นพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ร้อยละ 82.60 นอกจากนี้ ยังพบว่า กลุ่มวัยแรงงาน ช่วงอายุตั้งแต่ 20-49 ปี เป็นกลุ่มที่ประสบอุบัติเหตุสูงถึง ร้อยละ 55.61 และเป็นกลุ่มเด็กและเยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี ร้อยละ 27.67
2) ถนนที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ ถนนสายรองในเขตความรับผิดชอบเทศบาล อบต. ถนนของกรมทางหลวงชนบท ซึ่งอยู่ในพื้นที่ตำบลหมู่บ้าน และชุมชน ร้อยละ 64.60 อย่างไรก็ตาม พบว่าอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นในถนนสายรอง มีอัตราลดลงประมาณ ร้อยละ 9.80
3) ช่วงเวลาเกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ช่วงเวลากลางคืน ร้อยละ 67.46
4) ข้อมูลการจับกุมดำเนินคดีผู้กระทำผิดกฎหมายจราจร พบว่ามีผู้กระทำผิดในกรณีที่ไม่มีใบอนุญาตขับขี่รถสูงที่สุดร้อยละ 33.14 รองลงไป คือ ไม่สวมหมวกนิรภัย ไม่คาดเข็มขัด มอเตอร์ไซค์ไม่ปลอดภัย ขับขี่รถด้วยความเร็ว ขับรถย้อนศร ขับรถฝ่าฝืนสัญญาณไฟจราจร และเมาสุราแล้วขับขี่ ตามลำดับ
5) จากผลสำรวจของกระทรวงสาธารณสุขพบว่าในช่วงเทศกาลปีใหม่ 2553 ยังมีผู้กระทำผิดจำหน่ายสุราในสถานที่ห้ามจำหน่ายร้อยละ 8.06 โดยเฉพาะในสถานีบริการน้ำมันเชื้อเพลิงและในสวนสาธารณะ และในเวลาห้ามขาย ร้อยละ 9.62 โดยผู้จำหน่ายอ้างเหตุต้องการมีรายได้มากที่สุดและ มีถึงร้อยละ 16.74 ที่เห็นว่าไม่มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง
6) กลุ่มวัยแรงงานเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเกิดอุบัติเหตุสูงสุดทั้งในระหว่างการเดินทางและเมื่อกลับถึงภูมิลำเนา มักจะกระทำผิดกฎหมายจราจรโดยเฉพาะคดีเมาแล้วขับ จึงส่งผลให้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตเป็นจำนวนมาก
3. ข้อเสนอเชิงนโยบาย
เพื่อให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่สอดคล้องกับสถานการณ์การเกิดอุบัติเหตุทางถนนดังกล่าวส่งผลถึงการป้องกันและลดอุบัติเหตุอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดำเนินการในช่วงเทศกาลสงกรานต์ 2553 จึงเห็นควรดำเนินการ ดังนี้
1) ให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและจังหวัดนำข้อมูลสถิติอุบัติเหตุทางถนนไปปรับปรุงเพื่อวิเคราะห์สาเหตุ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องไปดำเนินการแก้ไขปัญหาจุดเสี่ยงจุดอันตราย และปรับแผนการดำเนินงานป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนทั้งในช่วงปกติและช่วงเทศกาลให้สอดคล้องกับสภาพปัญหา
2) ให้กระทรวงคมนาคมร่วมกับกระทรวงแรงงานวางแผนร่วมกันในการจัดระบบการอำนวยความสะดวกในการเดินทางของประชาชนกลุ่มผู้ใช้แรงงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงเทศกาล เช่น การจัดหารถโดยสารรับส่งผู้ใช้แรงงาน ตลอดจนให้ความรู้เกี่ยวกับการป้องกันอุบัติเหตุและการขับขี่ปลอดภัย เพื่อเสริมสร้างพฤติกรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน
3) ให้กระทรวงมหาดไทยส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน โดยให้มีการจัดทำประชาคมในทุกหมู่บ้านและชุมชน เพิ่มบทบาทของกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน เพื่อกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนของตนเอง รวมทั้งให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเข้ามามีส่วนร่วมรับผิดชอบในการดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน ตลอดจนพัฒนาศักยภาพของอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน เพื่อสนับสนุนการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
4) ให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินโครงการ 365 วัน ลดความตายด้วยวินัยจราจรอย่างต่อเนื่องต่อไป โดยให้ความสำคัญกับคดีเมาแล้วขับ ขับรถเร็ว แซงในที่คับขัน และความผิดอื่นตาม 10 ฐานความผิดสำคัญ ซึ่งเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุมากที่สุด
5) ให้กระทรวงมหาดไทย กระทรวงคมนาคม กระทรวงศึกษาธิการ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และหน่วยงานที่มีกิจกรรมด้านการฝึกอบรมขับขี่ปลอดภัยเร่งรัดการดำเนินการในเรื่องการฝึกอบรมให้ความรู้การขับขี่ปลอดภัยเสริมสร้างวินัยจราจรให้แก่เด็กและเยาวชนให้เป็นไปอย่างจริงจังและต่อเนื่อง และเห็นผลเป็นรูปธรรม นอกจากนี้ ในการจัดกิจกรรมรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุทางถนน ให้ทุกหน่วยงานเปิดโอกาส ให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในกิจกรรมการรณรงค์เพื่อลดอุบัติเหตุให้มากที่สุด เพื่อให้เด็กและเยาวชน เกิดความรู้ความเข้าใจ และสร้างเสริมพฤติกรรมความปลอดภัยในการใช้รถใช้ถนน ตลอดจนการมีจิตอาสาในการทำงานเพื่อสังคม
6) ให้กระทรวงวัฒนธรรมรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างจิตสำนึกค่านิยมวัฒนธรรมความปลอดภัยในเรื่องการใช้รถใช้ถนน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชน
7) ปัญหาเด็กและเยาวชนมีแนวโน้มบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แล้วขับขี่รถจักรยานยนต์เพิ่มขึ้น จึงเห็นควรให้กระทรวงสาธารณสุข สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และกรมสรรพสามิตร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรณรงค์ให้ถึงกลุ่มเป้าหมายที่เป็นเด็กและเยาวชนอย่างจริงจังเกี่ยวกับผลกระทบจากการเมาแล้วขับ ตลอดจนให้ผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้รับทราบและปฏิบัติตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 และพระราชบัญญัติสุรา พ.ศ. 2493 อย่างเคร่งครัด
8) ให้กระทรวงอุตสาหกรรมร่วมกับกรมการขนส่งทางบกกำหนดแนวทางในการปรับปรุงมาตรฐานความปลอดภัยเกี่ยวกับรถจักรยานยนต์ โดยกำหนดให้มีหมวกนิรภัยและอุปกรณ์ล็อกหมวกนิรภัยไว้กับตัวรถเพื่อป้องกันการสูญหาย เป็นอุปกรณ์ส่วนควบประจำรถจักรยานยนต์ทุกคัน ตลอดจนส่งเสริมให้มีการผลิตรถจักรยานยนต์ที่มีความปลอดภัยสูงโดยเฉพาะจำกัดควบคุมความเร็วของรถจักรยานยนต์ได้ เช่น รถจักรยานยนต์ที่ใช้ระบบไฟฟ้าเป็นพลังงาน เป็นต้น
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 12 มกราคม 2553--จบ--