การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 20, 2010 13:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและรับทราบตามที่สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. เห็นชอบร่างประกาศ เรื่อง การขยายระยะเวลาการประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงในเขตท้องที่จังหวัดนราธิวาส จังหวัดปัตตานี และจังหวัดยะลา และร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศที่คณะรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ

2. รับทราบร่างประกาศ เรื่อง การให้ประกาศและคำสั่งที่นายกรัฐมนตรีกำหนดตามประกาศสถานการณ์ฉุกเฉินที่มีความร้ายแรงยังคงมีผลใช้บังคับ รวม 3 ฉบับ เป็นเวลา 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 20 มกราคม 2553 ถึงวันที่ 19 เมษายน 2553

3. ให้กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร (กอ.รมน.) ประเมินผลการดำเนินมาตรการลดผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในพื้นที่แล้วรายงานให้คณะรัฐมนตรีทราบเป็นระยะ และให้เร่งรัดการนำมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาดำเนินการในพื้นที่ 4 อำเภอของจังหวัดสงขลาโดยเร็ว

4. ให้ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องกับการปฏิบัติงานในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ให้ความสำคัญกับการนำมาตรการลดผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายมาใช้ควบคู่กับการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงในระยะต่อไปอย่างจริงจัง

ข้อเท็จจริง

สำนักงานสภาความมั่นคงแห่งชาติเสนอว่า

1. ในรอบ 3 เดือนที่ผ่านมาการใช้พระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 มีประโยชน์ต่อการควบคุมสถานการณ์ โดยส่งผลให้เจ้าหน้าที่สามารถควบคุมตัวผู้ต้องสงสัยได้ รวม 171 คน และได้ดำเนินมาตรการลดผลกระทบจากการบังคับใช้กฎหมายความมั่นคงภายในพื้นที่ ร่วมกับการยึดหลักความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน ได้เปิดโอกาสในการสร้างความเข้าใจกับผู้ต้องสงสัยและประชาชนในพื้นที่ให้ลดความหวาดระแวง และมีความไว้วางใจการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่มากขึ้น ตลอดจนให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์เกี่ยวกับโครงสร้างและกระบวนการก่อเหตุรุนแรง จนสามารถไปขยายผลให้เป็นประโยชน์ต่อการแก้ไขสถานการณ์ได้เป็นอย่างดี โดยประชาชนในพื้นที่มีความเชื่อมั่นในความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจว่าจะได้รับความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่รัฐอย่างเต็มที่

2. การนำมาตรา 21 ของพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ. 2551 มาใช้ เป็นการเปลี่ยนแปลงในนิตินโยบายที่จะนำไปสู่การสร้างบรรยากาศของความสมานฉันท์ โดยจะเป็นการเปิดพื้นที่ให้แก่ฝ่ายที่ไม่เห็นด้วยกับการใช้ความรุนแรงเข้ามามีส่วนร่วมกับภาครัฐในการแก้ไขปัญหา จึงควรเร่งรัดการดำเนินการในเรื่องนี้ด้วย

3. การใช้อำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. 2548 เพื่อแก้ไขปัญหาความไม่สงบที่เกิดขึ้นใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ยังมีความจำเป็นเพื่อให้เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานมีอำนาจตามกฎหมายที่เหมาะสมในการแก้ไขปัญหาอย่างต่อเนื่อง ในการนี้ กอ.รมน.ขอเสนอให้มีการใช้พระราชกำหนดฯ ต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ