คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้กระทรวงพาณิชย์พิจารณาดำเนินการชี้แจงต่อเกษตรกรหรือดำเนินมาตรการที่เหมาะสมตามหลักการของโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องข้าว ในเขตภาคใต้ในช่วงระยะเวลาที่เกษตรกรเริ่มเก็บเกี่ยวและมีปริมาณข้าวเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมากในระยะนี้ก่อน และเร่งรัดให้กรมส่งเสริมการเกษตร และธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เร่งจดทะเบียนจัดทำประชาคม ออกใบรับรองเกษตรกร และทำสัญญาประกันรายได้กับเกษตรกรโดยเร็ว และมอบหมายให้เลขาธิการนายกรัฐมนตรีหารือกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องพิจารณาทบทวนและเสนอกลไกในลักษณะที่ถาวรหรือออกเป็นระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีเพื่อให้การดำเนินโครงการดังกล่าวมีลักษณะที่ต่อเนื่องในระยะยาว
สาระสำคัญของเรื่อง
ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเดินทางไปปฏิบัติราชการเพื่อติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยเฉพาะเรื่องข้าว เมื่อวันที่ 13-14 มกราคม 2553 ในเขตพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง นั้น สรุปสาระสำคัญของการดำเนินงานได้ดังนี้
1. สรุปความก้าวหน้าของการดำเนินงานโครงการฯ ในเรื่องข้าว ณ วันที่ 14 มกราคม 2553 มีเกษตรกรเข้าทำสัญญากับทาง ธ.ก.ส. แล้ว ร้อยละ 90.27 และเกษตรกรขอใช้สิทธิแล้ว ร้อยละ 64.01 คิดเป็นวงเงินชดเชยจำนวน 21,166.7 ล้านบาท โดยทางภาคใต้ขณะนี้ได้เริ่มการจดทะเบียน และการทำสัญญากับทาง ธ.ก.ส. แล้ว ร้อยละ 10.02 จากเป้าหมาย 238,368 ราย ซึ่งตามกำหนดจะต้องดำเนินการทำสัญญาให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 15 เมษายน 2553
ณ วันที่ 30 ธันวาคม 52 ณ วันที่ 14 มกราคม 53 จำนวนราย ร้อยละของ จำนวนราย ร้อยละของ ทะเบียน ทะเบียน 1) การขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว 3,468,581 93.36 3,480,204 93.67 2) ผ่านการรับรองโดยประชาคม 3,334,999 96.15 3,352,025 96.32 3) ธ.ก.ส. รับทะเบียนเกษตรกร 3,227,952 93.06 3,265,989 93.84 4) ธ.ก.ส.ทำสัญญา 3,124,793 90.09 3,141,743 90.27 5) การใช้สิทธิของเกษตรกร 1,985,499 57.24 2,227,603 64.01 6) จำนวนเงินชดเชย (ล้านบาท) 19,117.90 21,166.70 หมายเหตุ : การขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว คิดเป็นร้อยละของเป้าหมาย 3,715,326 ราย
- เฉพาะภาคใต้
2. ความก้าวหน้าของการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช และพัทลุง ในอำเภอ ควนขนุน อำเภอหัวไทร และอำเภอพุนพิน ซึ่งเป็นพื้นที่ปลูกข้าวที่สำคัญที่สุดของภาคใต้ คือ ร้อยละ 50 ของเป้าหมาย ในขณะนี้ได้จดทะเบียนผู้ปลูกข้าวไว้แล้ว 32,699 ราย หรือร้อยละ 30.58 ของเป้าหมาย แต่ เนื่องจากขณะนี้การเพาะปลูกข้าวในภาคใต้ได้มีการเปลี่ยนพันธุ์ข้าวที่ปลูกจากเดิมซึ่งปลูกพันธุ์พื้นเมืองมาเป็นการปลูกข้าวพันธุ์ชัยนาทเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งช่วงของการเก็บเกี่ยวจะเร็วขึ้นจากเดิมซึ่งจะเก็บเกี่ยวในช่วงต้นเดือนกุมภาพันธ์มาเป็นกลางเดือนมกราคม ประกอบกับการเก็บเกี่ยวได้ใช้เครื่องเกี่ยวข้าวแทนการเก็บเกี่ยวด้วยแรงงาน จึงทำให้ปริมาณข้าวเข้าสู่ตลาดเป็นจำนวนมากและโครงสร้างการตลาดซึ่งมีโรงสีขนาดกลางและขนาดเล็กกระจายตามพื้นที่ของแต่ละอำเภอเป็นผลให้ราคารับซื้อข้าวจากเกษตรกรต่ำกว่าราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงเป็นจำนวนมาก เกษตรกรส่วนใหญ่ในพื้นที่ของ 3 จังหวัดดังกล่าวขายข้าวได้ในราคาประมาณ 7,500-8,300 บาท ซึ่งเกษตรกรอ้างว่าต่ำกว่าราคาอ้างอิงที่เกษตรกรควรได้รับ
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2553--จบ--