สรุปสถานการณ์ภัยหนาวและการวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 20, 2010 15:31 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์ ภัยหนาวที่เกิดขึ้น โดยสรุปสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มกราคม 2553) และเนื่องจากในเดือนมีนาคม จะมีอุณหภูมิสูงขึ้น เป็นผลทำให้อากาศร้อนอบอ้าว และร้อนจัดในบางพื้นที่ ประกอบกับมีปริมาณฝนตกน้อยเกือบตลอดช่วง ปริมาณฝนเฉลี่ยจะต่ำกว่าค่าปกติ ตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝนปี 2552 (กันยายน 2552) เป็นต้นมา จนถึงช่วงฤดูร้อน (กุมภาพันธ์ - พฤษภาคม 2553) สาเหตุจากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ และปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยรวม มีค่าน้อยกว่าปีที่แล้วถึงร้อยละ 8 เป็นเหตุทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยต้องประสบกับความแห้งแล้ง และขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตร กระทรวงมหาดไทย จึงได้วางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2553 ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์ภัยหนาวและการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 18 มกราคม 2553)

1.1 พื้นที่ประสบภัยหนาวที่มีอุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์อากาศหนาว (8.0-15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (ต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) และได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว จำนวน 36 จังหวัด สรุปได้ดังนี้

ที่    ภาค         พื้นที่ประกาศภัยพิบัติ                                         รวม
1    เหนือ        เชียงราย น่าน พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน            14 จังหวัด

ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร เชียงใหม่ อุตรดิตถ์

พิษณุโลก สุโขทัย

2    ตะวันออก     นครพนม บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร สกลนคร สุรินทร์         19 จังหวัด
เฉียงเหนือ    อุดรธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ หนองคาย เลย หนองบัวลำภู

กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา

อุบลราชธานี มุกดาหาร

3    กลาง        ลพบุรี  สุพรรณบุรี                                      2 จังหวัด
4    ตะวันออก     จันทบุรี                                              1 จังหวัด
                 รวม                                               36 จังหวัด

1.2 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ปี 2552 - 2553 ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และมี 36 จังหวัด รายงานว่า ได้มอบเครื่องกันหนาวให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนใน 487 อำเภอ 3,514 ตำบล 40,196 หมู่บ้าน โดยกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภากาชาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สมาคม มูลนิธิ ในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว โดยแจกจ่ายเครื่องกันหนาวไปแล้ว รวม 646,470 ชิ้น แยกเป็น ผ้าห่มนวม 528,590 ผืน เสื้อกันหนาว 81,040 ตัว หมวกไหมพรม 15,730 ใบ และอื่นๆ 21,110 ชิ้น

ตารางจังหวัดที่ประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินและได้แจกจ่ายเครื่องกันหนาวช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ที่   ภาค       จังหวัดที่แจกจ่ายเครื่องกันหนาว        จำนวนราษฎรเดือดร้อนจากภัยหนาว      จำนวนเครื่องกันหนาว
                                                      คน         ครัวเรือน      ที่แจกจ่ายแล้ว (ชิ้น)
1   เหนือ      กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่        1,061,169         294,769          383,711

เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน ตาก

น่าน แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พะเยา

พิษณุโลก สุโขทัย

2   ตะวันออก   กาฬสินธุ์  ชัยภูมิ  บุรีรัมย์  ร้อยเอ็ด      2,019,415          54,647          254,909
เฉียงเหนือ  ศรีสะเกษ  สกลนคร  สุรินทร์

เลยหนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี

นครราชสีมา มุกดาหาร นครพนม

มหาสารคาม ยโสธร หนองคาย ขอนแก่น

อำนาจเจริญ

3   กลาง      ลพบุรี   สุพรรณบุรี                     120,554          19,955            2,850
4   ตะวันออก   จันทบุรี                               25,462           6,050            5,000
    รวม       36 จังหวัด 487 อำเภอ 3,514 ตำบล    3,226,600         775,421          646,470

40,196 หมู่บ้าน

2. การให้ความช่วยเหลือ

2.1 สิ่งของพระราชทาน

1) มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบสิ่งของพระราชทาน ผ้าห่มกันหนาวและอุปกรณ์กีฬา แก่นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และมอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทานแก่ราษฎรผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดหนองคาย อุดรธานี เลย พิษณุโลก แพร่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลพบุรี ตาก ลำปาง น่าน และจังหวัดอุตรดิตถ์ ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2552 — 10 มกราคม 2553 รวมทั้งสิ้น 23,683 ชุด

2) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย และคณะนำเครื่องกันหนาว ยาสามัญประจำบ้าน เครื่องอุปโภคบริโภค มอบให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เชียงใหม่ และจังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 14-28 ธันวาคม 2552 รวม 3,829 ชุด เสื้อกันหนาวเด็กนักเรียนพร้อมอุปกรณ์การเรียน จำนวน 667 ชุด

3) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ผู้แทนพระองค์ นำถุงยังชีพและสิ่งของพระราชทาน ไปมอบที่จังหวัดเลย ตาก สกลนคร แม่ฮ่องสอน เชียงราย อำนาจเจริญ และจังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2552 — 15 มกราคม 2553 รวมทั้งสิ้น 10,500 ชุด

4) พลโท นายแพทย์อำนาจ บาลี ผู้อำนวยการสำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ พร้อมคณะ ร่วมกับเหล่ากาชาดจังหวัดฉะเชิงเทรา นำผ้าห่มกันหนาว 500 ผืน เสื้อกันหนาวผู้ใหญ่และเด็กอย่างละ 500 ตัว และยาสามัญประจำบ้าน 500 กล่อง มอบให้ผู้ประสบภัยหนาว ที่โรงเรียนบ้านหนองคอก ตำบลคลองตะเกรา อำเภอ ท่าตะเกียบ จังหวัดฉะเชิงเทรา

2.2 การให้ความช่วยเหลือของกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1) จังหวัดมีเงินทดรองราชการตามระเบียบกระทรวงการคลัง ว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และหลักเกณฑ์และวิธีดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2551 ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดสำหรับจัดซื้อผ้าห่มและเครื่องกันหนาวที่จำเป็นเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประสบภัย เมื่ออุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์อากาศหนาว (8.0-15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (ต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) ในวงเงินจังหวัดหนึ่งไม่เกินงบประมาณปีละ 1,000,000 บาท แต่ทั้งนี้หากเงินฉุกเฉินดังกล่าวไม่เพียงพอ จังหวัดสามารถขอยกเว้นหลักเกณฑ์ เพื่อขอขยายวงเงินทดรองราชการ ได้อีกตามความเหมาะสมและจำเป็น ในวงเงินไม่เกิน 50 ล้านบาท ซึ่งมีจังหวัดได้ขอขยายวงเงินแล้วรวม 34 จังหวัด เป็นเงินรวม 1,246.17 ล้านบาท

2) มูลนิธิร่วมกตัญญู นำโดย นางรัตนา สมสกุลรุ่งเรือง ประธานมูลนิธิฯ นำกำลังเจ้าหน้าที่ และอาสาสมัคร ออกเดินทางไปมอบผ้าห่มกันหนาวพร้อมถุงยังชีพในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 2,500 ชุด พร้อมกันนี้ได้นำอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา และทุนการศึกษา ไปมอบให้กับโรงเรียนในพื้นที่ จำนวน 82 โรงเรียน

3) หอการค้าไทย-จีน และสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ได้มอบผ้าห่มช่วยเหลือภัยหนาว จำนวน 8,000 ผืน ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้นำไปมอบให้แก่ประชาชนใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย อุตรดิตถ์ แพร่ พะเยา และจังหวัดเชียงราย

4) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 200,000 ผืน มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท แจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ 15 จังหวัด

3. การวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2553

3.1 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายลักษณะอากาศในช่วงเดือนมีนาคม ว่าจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าว และร้อนจัดในบางพื้นที่ ประกอบกับมีปริมาณฝนตกน้อยเกือบตลอดช่วง ปริมาณฝนเฉลี่ยจะต่ำกว่าค่าปกติ ตั้งแต่ช่วงปลายฤดูฝนปี 2552 เป็นต้นมา จนถึงช่วงฤดูร้อน และปริมาตรน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่โดยรวม มีค่าน้อยกว่าปีที่แล้ว เป็นเหตุทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยต้องประสบกับความแห้งแล้ง และขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่บริเวณนอกเขตชลประทาน

3.2 การดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทย ได้แจ้งให้จังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการเกี่ยวกับการวางแผน การเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2553 ดังนี้

1) แจ้งแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2553 ตลอดจนนโยบายการจัดสรรน้ำของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ให้ทุกจังหวัดทราบ ซึ่งมีแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2553 ทั่วประเทศ รวมทั้งสิ้น 12.27 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 9.50 ล้านไร่ และพืชไร่-ผัก 2.77 ล้านไร่ ทั้งนี้ การจัดสรรน้ำเพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ จัดลำดับความสำคัญ ดังนี้ 1) เพื่อการอุปโภค-บริโภค และการประปา 2) เพื่อการรักษาระบบนิเวศน์ทางน้ำ 3) เพื่อการเกษตรกรรม 4) เพื่อการอุตสาหกรรม สำหรับด้านการผลิต ให้ส่งเสริมเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังได้ ไม่เกิน 9.50 ล้านไร่ โดยเร่งรัดการผลิตและขยายพื้นที่ปลูกพืชไร่-ผักที่มีลู่ทางการตลาดที่ดี พืชทดแทนการนำเข้าและพืชอุตสาหกรรม

2) มาตรการด้านต่าง ๆ ได้แก่ (1) ด้านการจัดสรรน้ำ ให้วางแผนจัดสรรน้ำตามปริมาณน้ำต้นทุนที่มีอยู่ในแต่ละพื้นที่ และสามารถกระจายน้ำให้พื้นที่เป้าหมายได้อย่างทั่วถึง สำหรับเขตสูบน้ำด้วยไฟฟ้า ให้สูบน้ำตามศักยภาพน้ำต้นทุนที่มีอยู่ ทั้งนี้ให้กลุ่มผู้ใช้น้ำมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการน้ำให้มีประสิทธิภาพสูงสุด (2) ด้านการผลิต กำหนดพื้นที่ทำนาปรังให้ชัดเจนและมีการควบคุมกำกับอย่างเข้มงวด ให้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปรัง ส่งเสริมการปลูกข้าวในพื้นที่กลุ่มผู้ใช้น้ำซึ่งมีขบวนการกลุ่มในการบริหารจัดการ ส่งเสริมให้เกษตรกรมีการกระจายการผลิตไปสู่พืชอื่นๆ ทดแทนข้าวนาปรัง รวมทั้งประสานความร่วมมือภาคเอกชนด้านการตลาด (3) ด้านการประชาสัมพันธ์ เน้นประเด็นเรื่องสถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำต่างๆ แผนการจัดสรรน้ำ รณรงค์ให้มีการใช้น้ำอย่างมีประสิทธิภาพและปฏิบัติตามแผนฯ รณรงค์ให้เกษตรกรในเขตลุ่มน้ำเจ้าพระยางดปลูกข้าวนาปรังครั้งที่ 2 การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตพืชฤดูแล้ง รณรงค์ให้เกษตรกรไถกลบตอซังและฟางข้าวเพื่องดการเผาฟาง ให้ใช้พันธุ์ข้าวคุณภาพดี และการเตือนภัยการระบาดของโรคและแมลงศัตรูพืช

3) ให้จังหวัดชี้แจงประชาสัมพันธ์การวางแผนการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2553 ผ่านสื่อมวลชนแขนง ต่างๆ ให้ประชาชนที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบของจังหวัด/อำเภอ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่อยู่ในพื้นที่รับผิดชอบได้ทราบ และขอความร่วมมือเกษตรกร ภาคอุตสาหกรรม และบุคคลทั่วไปที่เกี่ยวข้องได้วางแผนกิจกรรมการใช้น้ำต่าง ๆ ให้เหมาะสมตามนโยบายที่กำหนดต่อไป

4. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 18-23 มกราคม 2553

4.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 19-21 มกราคม 2553 บริเวณความกดอากาศสูงที่ปกคลุมประเทศไทยตอนบนจะมีกำลังอ่อนลง ทำให้มีหมอกเพิ่มมากขึ้นกับมีฝนบางแห่ง สำหรับในช่วงวันที่ 18-22 มกราคม 2553 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณทะเลจีนใต้ตอนล่าง คาดว่าจะเคลื่อนเข้าใกล้ภาคใต้ตอนล่าง ทำให้ภาคใต้ตอนล่างมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางพื้นที่ ขอให้ประชาชนบริเวณภาคใต้ตอนล่างระวังอันตรายจากสภาวะฝนตกหนัก ซึ่งอาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลากได้ คลื่นลมในอ่าวไทยมีกำลังแรงขึ้น ขอให้ชาวเรือเพิ่มความระมัดระวังอันตรายในการเดินเรือ ส่วนเรือเล็กควรงดออกจากฝั่งในระยะนี้

4.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้แจ้งเตือนเกี่ยวกับสภาวะอากาศให้จังหวัดในภาคใต้ เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัย วาตภัย และดินถล่ม อันเกิดจากสภาวะฝนตกหนัก และคลื่นลมแรงแล้ว และให้ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขต จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ