ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 20, 2010 15:51 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) อีกวาระหนึ่ง (สำหรับปี 2553 — 2554)

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงคมนาคมเสนอเรื่อง ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) อีกวาระหนึ่ง (สำหรับปี 2553 — 2554) สรุปได้ดังนี้

ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 เห็นชอบให้ประเทศไทยสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีขององค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (International Maritime Organization : IMO) อย่างต่อเนื่องเมื่อครบวาระทุกๆ 2 ปี และมอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศดำเนินการขอเสียงหรือแลกเสียงสนับสนุนจากประเทศสมาชิก IMO และให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อใช้ในการหาเสียงสมัครเข้ารับเลือกตั้งสำหรับปีงบประมาณก่อนการเลือกตั้ง จำนวน 3 ล้านบาท และปีงบประมาณถัดมาจำนวน 5 แสนบาทสลับกันไปตามที่กระทรวงคมนาคมได้เสนอ เริ่มตั้งแต่ปีงบประมาณ 2550 เป็นต้นไป

สำนักงานเลขาธิการ IMO ได้จัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกคณะมนตรี IMO สำหรับวาระปี 2553 — 2554 ในช่วงการประชุมสมัชชาสมัยสามัญ ครั้งที่ 26 ของ IMO ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน — 4 ธันวาคม 2552 ณ สำนักงานใหญ่ IMO กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งประเทศไทยได้รับการเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีของ IMO อย่างต่อเนื่องอีกวาระหนึ่ง สรุปดังนี้

1. ความเป็นมา

1.1 องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) เป็นทบวงการชำนัญพิเศษของสหประชาชาติ จัดตั้งขึ้นในปี พ.ศ. 2502 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเวทีในการสร้างความร่วมมือระหว่างประเทศสมาชิกในการกำหนดมาตรฐานและแนวปฏิบัติเพื่อความปลอดภัยในการเดินเรือและการคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล รวมทั้งเพื่อเป็นกลไกในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการระหว่างประเทศสมาชิก ปัจจุบันมีสมาชิกจำนวน 169 ประเทศ มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ ณ กรุงลอนดอน ประเทศสหราชอาณาจักร

1.2 คณะมนตรี (Council) เป็นองค์กรบริหารงานของ IMO ประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 40 ประเทศ ได้รับเลือกตั้งจากสมัชชา (Assembly) มีวาระคราวละ 2 ปี ทำหน้าที่ตรวจสอบ กำกับดูแล และติดตามงานของ IMO แทนสมัชชาในช่วงระหว่างสมัยการประชุม โดยคณะมนตรีจะมีการประชุมปีละ 2 ครั้ง สมาชิกคณะมนตรีของ IMO จำนวน 40 ประเทศ แบ่งออกเป็นประเภทต่าง ๆ ดังนี้

กลุ่ม A ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์มากที่สุดในการให้บริการด้านการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ จำนวน 10 ประเทศ

กลุ่ม B ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์มากที่สุดในด้านการค้าทางทะเลระหว่างประเทศ จำนวน 10 ประเทศ

กลุ่ม C ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษในด้านการขนส่งทางทะเลหรือการเดินเรือและเป็นตัวแทนจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก จำนวน 20 ประเทศ

1.3 ประเทศไทยได้สมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีของ IMO ในประเภทกลุ่ม C และได้รับเลือกตั้งสมัยแรกสำหรับวาระปี 2549 — 2550 ในช่วงการประชุมสมัชชาสมัยสามัญ ครั้งที่ 24 ของ IMO เดือนพฤศจิกายน 2548 ต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 21 พฤศจิกายน 2549 เห็นชอบให้ประเทศไทยสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีของ IMO อย่างต่อเนื่องเมื่อครบวาระทุก ๆ 2 ปี ดังกล่าวข้างต้น และในช่วงการประชุมสมัชชาสมัยสามัญครั้งที่ 25 ของ IMO เดือนพฤศจิกายน 2550 ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีของ IMO เป็นวาระที่สองติดต่อกัน (สำหรับปี 2551-2552)

1.4 ภายหลังจากได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีของ IMO ประเทศไทยได้ดำเนินงานต่าง ๆ เพื่อสนับสนุนงานของ IMO ควบคู่ไปกับการพัฒนาการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีของประเทศไทย อาทิเช่น การสมัครเข้าร่วมโครงการตรวจสอบประเทศสมาชิกโดยสมัครใจของ IMO ซึ่งเป็นโครงการประเมินประสิทธิภาพการดำเนินงานของประเทศสมาชิก โดยคณะผู้ตรวจสอบของ IMO ได้ตรวจสอบประเทศไทยเมื่อเดือนตุลาคม 2550 และขณะนี้อยู่ในระหว่างการจัดทำสรุปรายงานผลตรวจสอบ นอกจากนี้ประเทศไทยยังได้รับความช่วยเหลือทางวิชาการจาก IMO เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติตามพันธกรณีและข้อกำหนดของอนุสัญญา/พิธีสารที่สำคัญต่าง ๆ ของ IMO รวมทั้งประเทศไทยได้ร่วมกับ IMO ในการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนาระดับภูมิภาคเพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติตามมาตรฐานและข้อบังคับของ IMO และการส่งผู้แทนไทยเข้าร่วมประชุมที่สำคัญต่าง ๆ ของ IMO เพิ่มมากขึ้น ซึ่งทำให้สามารถติดตามผลการประชุมที่สำคัญ และในกรณีที่ประเทศสมาชิกจะต้องดำเนินการตามมาตรฐานหรือข้อกำหนดใหม่ ๆ ของ IMO ก็ทำให้ประเทศไทยสามารถดำเนินการได้อย่างทันท่วงที

2. เรื่องเพื่อทราบ

2.1 การสมัครรับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีของ IMO สำหรับวาระปี 2553 — 2554

ในการประชุมสมัชชาสมัยสามัญ ครั้งที่ 26 ของ IMO ระหว่างวันที่ 23 พฤศจิกายน — 4 ธันวาคม 2552 ณ สำนักงานใหญ่ IMO กรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร ซึ่งกระทรวงคมนาคมได้ดำเนินการสมัครเข้ารับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีของ IMO ในประเภทกลุ่ม C อีกวาระหนึ่งสำหรับปี 2553 — 2554 โดยมีการดำเนินงานกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อรณรงค์หาเสียงสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง โดยร่วมมือกับกระทรวงการต่างประเทศและสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงลอนดอน ซึ่งประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีของ IMO ในประเภทกลุ่ม C อีกวาระหนึ่ง ทั้งนี้ รายชื่อประเทศสมาชิกที่ได้รับเลือกตั้งในประเภทกลุ่มต่าง ๆ มีดังนี้

กลุ่ม A ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์มากที่สุดในการให้บริการด้านการขนส่งทางเรือระหว่างประเทศ จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ประเทศจีน กรีซ อิตาลี ญี่ปุ่น นอร์เวย์ ปานามา เกาหลีใต้ รัสเซีย สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

กลุ่ม B ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์มากที่สุดในด้านการค้าทางทะเลระหว่างประเทศ จำนวน 10 ประเทศ ได้แก่ประเทศ อาร์เจนตินา บังกลาเทศ บราซิล แคนาดา ฝรั่งเศส เยอรมนี อินเดีย เนเธอร์แลนด์ สเปน และสวีเดน

กลุ่ม C ประเทศสมาชิกที่มีผลประโยชน์เป็นพิเศษในด้านการขนส่งทางทะเลหรือการเดินเรือและเป็นตัวแทนจากภูมิภาคต่าง ๆ ของโลก จำนวน 20 ประเทศ ได้แก่ประเทศออสเตรเลีย บาฮามาส ชิลี ไซปรัส เดนมาร์ก อียิปต์ อินโดนีเซีย จาไมกา เคนยา มาเลเซีย มอลตา เม็กซิโก เบลเยียม ไนจีเรีย ฟิลิปปินส์ ซาอุดิอาระเบีย สิงคโปร์ แอฟริกาใต้ ไทย และตุรกี

2.2 แผนการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคม

2.2.1 ผลจากการที่ประเทศไทยได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีของ IMO อย่างต่อเนื่อง ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีโอกาสดำเนินงานร่วมกันอย่างใกล้ชิดกับ IMO มากกว่าในอดีตที่ผ่านมา ได้เรียนรู้ข้อมูลความก้าวหน้าและประสบการณ์ต่างๆ มากมาย ซึ่งเป็นประโยชน์สำหรับการพัฒนาและปรับปรุงมาตรฐานการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวีของประเทศไทยอย่างมาก นอกจากนี้ทำให้ประเทศไทยเป็นที่รู้จักและยอมรับมากขึ้นในเวทีระหว่างประเทศ อย่างไรก็ตามในการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายยิ่งขึ้น รวมทั้งโอกาสในการได้รับเลือกตั้งเป็นสมาชิกคณะมนตรีของ IMO อย่างต่อเนื่อง กระทรวงคมนาคมได้มีแผนงานการส่งเสริมบทบาทของประเทศไทยในการเข้าร่วมกิจกรรมต่าง ๆ ของ IMO ให้มากยิ่งขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งการเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสัมมนาระดับภูมิภาคโดยร่วมมือกับ IMO และการเข้าร่วมงานการประชุมต่าง ๆ ณ สำนักงานใหญ่ IMO อย่างแข็งขัน ซึ่งในกรณีนี้อาจจำเป็นต้องกำหนดให้มีผู้แทนไทยเพื่อปฏิบัติหน้าที่ประจำ ณ สำนักงานใหญ่ IMO เช่นเดียวกับที่ประเทศสมาชิกคณะมนตรีอื่น ๆ จัดให้มีผู้แทนประจำ

2.2.2 เนื่องจากปัจจุบันมีอนุสัญญาต่างๆ ที่อยู่ภายใต้ความรับผิดชอบของ IMO จำนวนมากกว่า 50 ฉบับ ซึ่งครอบคลุมในเรื่องมาตรฐานข้อบังคับด้านความปลอดภัยทางทะเล การรักษาความปลอดภัยทางทะเล การคุ้มครองสิ่งแวดล้อมทางทะเล การอำนวยความสะดวกในการขนส่งทางทะเล และเกี่ยวกับพื้นฐานที่จำเป็นสำหรับการประกอบธุรกิจด้านการขนส่งทางทะเล เช่น การประกันภัย และการชดใช้ค่าเสียหาย และอื่น ๆ และการเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเหล่านี้มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดการยอมรับ และการได้รับความเชื่อถือจากต่างประเทศ รวมทั้งการส่งเสริมการพัฒนาด้านการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี โดยที่ปัจจุบันประเทศไทยได้เข้าเป็นภาคีอนุสัญญาต่างๆ ดังกล่าวข้างต้นเพียงจำนวน 13 ฉบับ จึงยังคงเหลืออนุสัญญาที่สำคัญอีกจำนวนหลายฉบับที่ประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคี ในขณะที่ประเทศสมาชิกคณะมนตรีอื่น ๆ ส่วนใหญ่เข้าเป็นภาคีแล้ว ดังนั้น ในฐานะที่ประเทศไทยดำรงตำแหน่งสมาชิกคณะมนตรีของ IMO ซึ่งเป็นองค์กรที่จะต้องดำรงบทบาทผู้นำของIMO กระทรวงคมนาคมจึงได้มีแผนงานการเร่งรัดเข้าเป็นภาคีอนุสัญญา IMO ที่สำคัญต่าง ๆ ซึ่งประเทศไทยยังไม่ได้เข้าเป็นภาคีโดยเร็ว

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 19 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ