ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2010 11:11 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่สำนักงาน คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้พระราชบัญญัตินี้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป และให้ยกเลิกพระราชบัญญัติคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ พ.ศ. 2542 กำหนดนิยามคำว่า “ผู้เสียหาย” และให้ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 2 — ร่างมาตรา 5)

2. กำหนดให้มีคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่งและกรรมการอื่นอีกหกคน ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งตามคำแนะนำของวุฒิสภา กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการ รวมทั้งอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ (ร่างมาตรา 7 — ร่างมาตรา 9 และร่างมาตรา 16)

3. กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาจำนวนเจ็ดคน ทำหน้าที่สรรหาและคัดเลือกผู้ซึ่งมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้ามเพื่อเป็นกรรมการ และกำหนดขั้นตอนการสรรหา การเสนอรายชื่อ รวมทั้งการแต่งตั้งกรรมการ (ร่างมาตรา 10)

4. กำหนดให้กรรมการเป็นผู้ดำรงตำแหน่งระดับสูงตามกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริต และให้มีวาระการดำรงตำแหน่งหกปีนับแต่วันที่พระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง รวมทั้งกำหนดเหตุของการพ้นจากตำแหน่ง นอกจากการพ้นจากตำแหน่งตามวาระ และการให้สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรหรือสมาชิกวุฒิสภามีสิทธิร้องขอต่อประธานวุฒิสภาเพื่อให้วุฒิสภามีมติให้ถอดถอนกรรมการออกจากตำแหน่ง (ร่างมาตรา 11 — ร่างมาตรา 14)

5. กำหนดอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ และให้กรรมการปฏิบัติหน้าที่อย่างอิสระและเป็นธรรม และต้องยึดผลประโยชน์ส่วนรวมของชาติและประชาชนเป็นสำคัญ (ร่างมาตรา 16 — ร่างมาตรา 17)

6. กำหนดให้ประธานกรรมการและกรรมการเป็นผู้ปฏิบัติงานประจำเต็มเวลาได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง ประโยชน์ตอบแทนอื่น และค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปปฏิบัติงาน รวมตลอดทั้งบำเหน็จตอบแทนเมื่อพ้นจากตำแหน่ง ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไข และอัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (ร่างมาตรา 18)

7. กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีฐานะเป็นส่วนราชการที่เป็นหน่วยงานอิสระตามรัฐธรรมนูญและมีฐานะเป็นนิติบุคคล อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (ร่างมาตรา 19)

8. กำหนดหลักเกณฑ์การบรรจุ การแต่งตั้ง และการได้รับเงินเดือนและเงินประจำตำแหน่ง ของข้าราชการในสำนักงาน (ร่างมาตรา 20 ร่างมาตรา 24 และร่างมาตรา 27)

9. กำหนดให้บุคคลที่ถูกละเมิดสิทธิมนุษยชนหรือพบเห็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนมีสิทธิร้องเรียนโดยทำ คำร้องเป็นหนังสือหรือร้องเรียนโดยวิธีอื่นได้ และกำหนดขั้นตอนการทำงานร่วมกันระหว่างคณะกรรมการและสำนักงาน (ร่างมาตรา 31 — ร่างมาตรา 40)

10. กำหนดโทษสำหรับผู้ที่ไม่มาให้ถ้อยคำ หรือไม่ส่งวัตถุ เอกสารหรือพยานหลักฐานตามหนังสือเรียกของคณะกรรมการ และผู้ที่ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของคณะกรรมการ รวมทั้งโทษสำหรับกรรมการ อนุกรรมการ และพนักงานเจ้าหน้าที่ที่เปิดเผยข้อเท็จจริงที่รู้หรือได้มาเนื่องจากการปฏิบัติการตามอำนาจหน้าที่ของพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 43 และร่างมาตรา 50 — ร่างมาตรา 52)

11. กำหนดให้สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติมีอำนาจฟ้องคดีต่อศาลยุติธรรมแทนผู้เสียหายได้ (ร่างมาตรา 49)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ