ร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2010 11:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้สำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีอำนาจประกาศผลการตรวจสอบมาตรฐาน ผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานให้ประชาชนทราบเพื่อที่จะคุ้มครองผู้บริโภคจากผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน (เพิ่ม (3/1) ของร่างมาตรา 4 และเพิ่มร่างมาตรา 46 ตรี)

2. แก้ไขเพิ่มเติมองค์ประกอบของคณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม โดยเพิ่มผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน และปะธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยหรือผู้แทนให้เป็นกรรมการโดยตำแหน่ง และให้เลขาธิการสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมแต่งตั้งข้าราชการในสำนักงานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นผู้ช่วยเลขานุการได้ไม่เกินสองคน (แก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 7)

3. แก้ไขให้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมมีอำนาจกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการเกี่ยวกับการประกาศผลการตรวจสอบผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐาน (แก้ไขร่างมาตรา 8 (5))

4. เพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ เพื่อให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมแต่งตั้งบุคคลที่มีความเหมาะสมและมีความรู้ความสามารถเป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ รวมทั้งทำให้บทบัญญัติของกฎหมายเกี่ยวกับคณะกรรมการครบถ้วนสมบูรณ์ยิ่งขึ้น (เพิ่มร่างมาตรา 8/1)

5. แก้ไขบทบัญญัติเกี่ยวกับวาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นผู้แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิและการเพิ่มบทบัญญัติเกี่ยวกับคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ (แก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 9 และร่างมาตรา 10)

6. แก้ไขให้คณะกรรมการมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นผู้พิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการวิชาการและให้กรรมการวิชาการผู้ใดพ้นจากตำแหน่งเพื่อให้ระบบและโครงสร้างการแต่งตั้ง ถอดถอน และความรับผิดชอบของ คณะกรรมการวิชาการมีความสอดคล้องกันและคล่องตัวยิ่งขึ้น (แก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 13 และร่างมาตรา 14 (6))

7. กำหนดอายุใบอนุญาต หลักเกณฑ์การต่ออายุใบอนุญาต การอุทธรณ์ คำสั่งไม่ต่ออายุใบอนุญาต และอัตราค่าธรรมเนียมการต่ออายุใบอนุญาต เพื่อให้บทบัญญัติเกี่ยวกับใบอนุญาตเหมาะสมยิ่งขึ้น (เพิ่มร่างมาตรา 25 ตรี และเพิ่ม (7) ของอัตราค่าธรรมเนียมท้ายพระราชบัญยัติ และแก้ไขเพิ่มเติมร่างมาตรา 26)

8. กำหนดหลักเกณฑ์การรับโอนใบอนุญาตกรณีที่ผู้ได้รับใบอนุญาตซึ่งเป็นบุคคลธรรมดาถึงแก่ความตายและกรณีผู้ได้รับอนุญาตเป็นนิติบุคคลซึ่งได้ควบรวมกับนิติบุคคลอื่นเพื่อไม่ให้กิจการนั้นได้รับผลกระทบ (เพิ่มร่างมาตรา 26/1)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ