การพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2010 11:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบแนวทางการพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเสนอ โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1. การพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ ให้ส่วนราชการจัดทำแผนในการยกเลิก ปรับปรุงแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายที่ส่วนราชการรักษาการ หรืออยู่ในความรับผิดชอบของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานในกำกับเกี่ยวกับการอนุมัติหรืออนุญาตทั้งที่มีใบอนุญาตและไม่มีใบอนุญาต แต่เป็นการอนุมัติหรืออนุญาตที่ไม่ถูกต้อง ไม่มีความ จำเป็นหรือไม่เหมาะสม เช่น ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น ล้าสมัย หรือสร้างภาระให้กับผู้ขอรับอนุมัติหรือผู้ขอรับอนุญาตเกินความจำเป็นเมื่อเทียบกับประโยชน์ของประชาชนและส่วนราชการ โดยการดำเนินการแบ่งออกเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่ 1 เป็นการจัดทำแผนพัฒนากฎหมายในปีงบประมาณ พ.ศ.2553 และระยะที่ 2 เป็นการจัดทำกฎหมายตามแผนพัฒนากฎหมายที่ได้รับอนุมัติให้แล้วเสร็จในปีงบประมาณ พ.ศ.2554

การพัฒนากฎหมายดังกล่าวสอดคล้องกับคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีชุดปัจจุบัน ในนโยบายด้านกฎหมายและยุติธรรมที่มีนโยบายในการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายและกฎระเบียบที่ล้าสมัยและเปิดช่องให้เกิดการทุจริตประพฤติมิชอบกับการพัฒนากฎหมายให้เหมาะสมกับภาวะเศรษฐกิจ สังคม และการคุ้มครองสิทธิส่วนบุคคล

2. การพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ แบ่งออกเป็น 2 ประเภท คือ

(1) การพัฒนากฎหมายสำหรับส่วนราชการระดับกรมทั่วไป ซึ่งมีแนวทางการดำเนินการที่สำคัญ ดังนี้

(1.1) ขั้นตอนที่ 1 แบ่งเป็น 2 ขั้นตอน ดังนี้

(1.1.1) ขั้นตอนที่ 1.1 ส่วนราชการ สำรวจ ตรวจสอบ และรวบรวมรายชื่อกฎหมายที่ส่วนราชการรักษาการหรืออยู่ในความรับผิดชอบ ของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานในกำกับให้ครบถ้วนถูกต้อง

(1.1.2) ขั้นตอนที่ 1.2 ส่วนราชการ สำรวจ ตรวจสอบ และรวบรวมบทบัญญัติของกฎหมายตามขั้นตอนที่ 1.2 ที่เกี่ยวกับการอนุมัติหรืออนุญาตทั้งที่มีใบอนุญาต และไม่มีใบอนุญาต พร้อมระบุหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับบทบัญญัติ เช่น ต้องได้รับการพิจารณาร่วมกันหรือต้องได้รับการอนุมัติหรืออนุญาตร่วมกับส่วนราชการรัฐวิสาหกิจ หรือหน่วยงานอื่น

(1.2) ขั้นตอนที่ 2 ส่วนราชการ ศึกษาวิเคราะห์บทบัญญัติของกฎหมายตามขั้นตอนในข้อ (1.1.2) ว่ามีความถูกต้อง ความจำเป็นหรือความเหมาะสม เช่น ขัดหรือแย้งกับกฎหมายอื่นทั้งในระดับที่สูงกว่าหรือในระดับเดียวกัน ซ้ำซ้อนกับกฎหมายอื่น ล้าสมัย หรือสร้างภาระให้กับผู้ขอรับอนุมัติ หรือผู้ขอรับอนุญาตเกินความจำเป็นหรือไม่ประการใด เมื่อเทียบกับประโยชน์ของประชาชนเป็นหลักและประโยชน์ของส่วนราชการ หากเห็นว่าบทบัญญัติของกฎหมายดังกล่าวไม่ถูกต้อง ไม่มีความจำเป็นหรือไม่มีความเหมาะสมตามหลักเกณฑ์ข้างต้นแล้วให้เสนอยกเลิก หรือปรับปรุงแก้ไขแล้วแต่กรณี ในกรณีบทบัญญัติของกฎหมายที่เสนอขอยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวข้องกับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และหน่วยงานอื่น ให้ประสานการดำเนินการในลักษณะบูรณาการ

(1.3) ขั้นตอนที่ 3 ส่วนราชการนำผลการดำเนินการตาม (1.1) - (1.2) เผยแพร่ใน website ของส่วนราชการ และจัดทำการรับฟังความคิดเห็นของผู้อยู่ใต้บังคับของกฎหมาย หรือผู้มีส่วนได้เสียในกฎหมาย (Focus Group)

(1.4) ขั้นตอนที่ 4 จัดทำแผนพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ และเสนอแผนพัฒนากฎหมาย โดยระบุกฎหมายและบทบัญญัติที่จะยกเลิก หรือปรับปรุงแก้ไข พร้อมทั้งจัดลำดับความสำคัญและความเร่งด่วนในการยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายกับแจ้งรายชื่อกฎหมายที่จะดำเนินการร่างเพื่อยกเลิกหรือปรับปรุงแก้ไขกฎหมายดังกล่าว โดยระบุหลักการและเหตุผล สรุปสาระสำคัญเสนอคณะกรรมการพัฒนากฎหมายระดับกระทรวง พิจารณาเพื่อให้ความเห็นชอบ ในกรณีส่วนราชการสังกัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่อยู่ในบังคับบัญชาขึ้นตรงต่อนายกรัฐมนตรี หรือส่วนราชการไม่สังกัดสำนักนายกรัฐมนตรี กระทรวง ให้นำแผนพัฒนากฎหมายเสนอต่อคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของตนให้ความเห็นชอบ

(1.5) ขั้นตอนที่ 5 นำแผนพัฒนากฎหมายที่ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการพัฒนากฎหมายระดับกระทรวง หรือคณะกรรมการพัฒนากฎหมายของกรม เสนอรัฐมนตรีเจ้าสังกัดหรือรัฐมนตรีที่กำกับดูแลแล้วแต่กรณีอนุมัติ แล้วส่งมาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2553

ในกรณีที่ส่วนราชการใดดำเนินการจัดทำแผนพัฒนากฎหมายแล้วเสร็จ และสามารถเสนอร่างกฎหมายตามแผนพัฒนากฎหมายที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามาที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 30 กันยายน 2553 หรือจัดทำกฎหมายตามแผนพัฒนากฎหมายที่ส่วนราชการสามารถออกได้เอง และประกาศใช้บังคับได้ภายในวันที่ 30 กันยายน 2553 ให้คณะกรรมการเจรจาข้อตกลงและการประเมินการพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ นำหลักเกณฑ์ และวิธีการประเมินการจัดทำแผนพัฒนากฎหมายมาประเมินการจัดทำร่างกฎหมายโดยอนุโลม และหากส่วนราชการนั้นดำเนินการจัดทำแผนพัฒนากฎหมายหรือ จัดทำร่างกฎหมายรายฉบับไม่ครบถ้วนตามหลักเกณฑ์ ขั้นตอน หรือวิธีการ ให้คณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการเจรจาข้อตกลงและการประเมินการพัฒนากฎหมายของส่วนราชการมีอำนาจในการไม่ปรับลดคะแนนสำหรับการไม่ดำเนินการดังกล่าวได้ตามที่เห็นสมควร

กรณีส่วนราชการใดไม่มีกฎหมายที่จะต้องดำเนินการข้างต้น ให้แจ้งขอยกเว้นการดำเนินงานดังกล่าวต่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อพิจารณาต่อไป

(2) การพัฒนากฎหมายสำหรับสำนักงานปลัดกระทรวง ยกเว้นสำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กรณีที่สำนักงานปลัดกระทรวงไม่มีกฎหมายพัฒนา ให้สำนักงานปลัดกระทรวงรวบรวมแผนพัฒนากฎหมายของส่วนราชการในกระทรวงส่งให้สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีภายในวันที่ 30 มิถุนายน 2553

3. กระบวนการดำเนินการ

(1) การดำเนินการของส่วนราชการ

(1.1) จัดทำแผนพัฒนากฎหมายในความรับผิดชอบตามข้อ 2 (1) และ (2)

(1.2) จัดตั้งคณะกรรมการพัฒนากฎหมายระดับกระทรวง หรือกรม โดยอาจประกอบด้วยผู้แทนส่วนราชการในกระทรวง กรม ผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง และผู้ทรงคุณวุฒิที่มีความรู้ในกฎหมายของกระทรวง หรือกรมนั้น ๆ เพื่อพิจารณากลั่นกรองให้คำแนะนำหรือคำปรึกษาหารือในอันที่จะทำให้การพัฒนากฎหมายของแต่ละกระทรวง หรือกรมนั้น ๆ ดำเนินไปด้วยความราบรื่นและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ให้มีสิทธิได้รับเบี้ยประชุมตามพระราชกฤษฎีกาเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547

(2) การเจรจาและประเมินแผนพัฒนากฎหมายจัดให้มีคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการมีอำนาจหน้าที่ในการเจรจาและประเมินแผนพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ กับมีอำนาจหน้าที่ในการเจรจาและประเมินแผนพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ กับมีอำนาจหน้าที่ในการเจรจาและประเมินผลการจัดทำกฎหมายตามแผนดังกล่าวด้วย จำนวนคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการให้เป็นไปตามที่สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเห็นสมควร

(3) การพิจารณาอุทธรณ์ของส่วนราชการ จัดให้มีคณะกรรมการหรือคณะอนุกรรมการพิจารณาอุทธรณ์ผลการประเมินการพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ ซึ่งประกอบด้วย ผู้ทรงคุณวุฒิและผู้แทนส่วนราชการต่าง ๆ เช่น สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ และสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เป็นต้น

(4) การกำกับและติดตาม จัดให้มีคณะกรรมการกำกับติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานพัฒนากฎหมายของส่วนราชการ โดยมีรองนายกรัฐมนตรีหรือรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ที่นายกรัฐมนตรีมอบหมายเป็นประธานกรรมการ ผู้ทรงคุณวุฒิ ผู้แทนส่วนราชการต่าง ๆ รวมถึงผู้แทนภาคเอกชนและผู้แทนภาคประชาชนเข้าร่วมเป็นกรรมการ โดยมีสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเป็นฝ่ายเลขานุการ

(5) การให้คำแนะนำและติดตาม

(5.1) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี จะจัดให้มีการสัมมนาหรือเชิญผู้แทนส่วนราชการที่เกี่ยวข้องมาชี้แจงแนวทางการดำเนินงานและรับฟังความคิดเห็นจากส่วนราชการ รวมทั้งรับฟังปัญหาและอุปสรรคการดำเนินงานตามที่เห็นสมควร

(5.2) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีจะได้ติดตามการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ เป็นระยะๆ และแก้ไขปัญหาอุปสรรคการดำเนินงานของส่วนราชการต่างๆ

(5.3) สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีได้จัดทำปฏิทินการพัฒนากฎหมายประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2553 เพื่อใช้ประกอบการกำกับและติดตามของคณะกรรมการและคณะอนุกรรมการต่างๆ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ