วงเงินงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2010 11:32 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่สำนักงบประมาณเสนอ ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1. นโยบายงบประมาณ วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 โดยมีสาระสำคัญ ดังนี้

1.1 นโยบายงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

สืบเนื่องจากการคาดการณ์แนวโน้มภาวะเศรษฐกิจว่า เศรษฐกิจไทยในปี 2554 จะขยายตัวประมาณร้อยละ 3.5 — 4.5 อัตราเงินเฟ้อประมาณร้อยละ 2.0-3.0 โดยมีแรงกระตุ้นเศรษฐกิจที่สำคัญจากการขยายตัวของการส่งออก อันเป็นผลสืบเนื่องจากแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ปรับตัวดีขึ้น ประกอบกับการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในระยะที่ผ่านมาของรัฐบาลเป็นปัจจัยสนับสนุนให้เกิดการบริโภคและการจ้างแรงงานอย่างต่อเนื่อง ซึ่งปัจจัยหลักทั้ง 2 ประการดังกล่าวได้ส่งผลให้เศรษฐกิจฟื้นตัวขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม การใช้กำลังการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้น เกิดการระดมทุนจากแหล่งทุนต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศเพื่อเร่งรัดการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ รวมทั้งส่งผลให้เกิดความเชื่อมั่นในระบบเศรษฐกิจของผู้บริโภคและนักลงทุนอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม ในปี 2554 ยังคงมีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องระมัดระวัง ได้แก่ แนวโน้มอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศที่อาจส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันด้านราคาสินค้าส่งออกของไทย และการผันผวนของราคาน้ำมันที่อาจส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ รวมทั้งแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นซึ่งจะทำให้ต้นทุนในการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนเพิ่มสูงขึ้นได้ และแนวทางการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 รัฐบาลยังคงให้ความสำคัญกับการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการเสริมสร้างความยั่งยืนทางการคลังบนพื้นฐานของการนำแนวทางของปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงเป็นหลักในการพัฒนา และการจัดสรรทรัพยากรของประเทศ ดังนั้น ในการบริหารจัดการการใช้จ่ายภาครัฐ จะยึดหลักผลสำเร็จของการดำเนินงานตามเป้าหมาย ความโปร่งใส มีประสิทธิภาพ ระมัดระวังปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ และเพื่อให้สามารถนำนโยบายของรัฐบาล ไปสู่การปฏิบัติและเกิดประโยชน์โดยตรงต่อประชาชน ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 จึงกำหนด นโยบายงบประมาณ ดังนี้

1) ดำเนินนโยบายงบประมาณขาดดุล ภายใต้กรอบความยั่งยืนทางการคลังเพื่อให้เศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง

2) เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการเพื่อลดการใช้จ่ายงบประมาณภาครัฐ

3) ทบทวนเพื่อชะลอหรือยกเลิกการดำเนินงานของหน่วยงานของรัฐ (Redeploy) ที่มีลำดับความสำคัญลดลงหรือหมดความจำเป็น และสามารถประหยัดค่าใช้จ่ายได้

4) เพิ่มสัดส่วนรายจ่ายลงทุนในระดับที่เหมาะสมในการสนับสนุนการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

5) สนับสนุนงบประมาณเพื่อการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาจังหวัดและกลุ่มจังหวัด ในจำนวนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ

6) ส่งเสริมการกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น โดยให้ความสำคัญกับการเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเร่งรัดการถ่ายโอนภารกิจให้ท้องถิ่นตามนโยบายของรัฐบาล

1.2. ประมาณการรายได้ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

จากการคาดการณ์ภาวะเศรษฐกิจตามนัยข้อ 1 คาดว่าในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 รัฐบาลจะสามารถจัดเก็บรายได้รวม จำนวน 1,958,500 ล้านบาท เมื่อหักการคืนภาษีของกรมสรรพากรการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้องค์การบริหารส่วนจังหวัด การกันเงินเพื่อชดเชยภาษีสำหรับสินค้าส่งออก และการจัดสรรภาษีมูลค่าเพิ่มให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นตามพระราชบัญญัติกำหนดแผนและขั้นตอนการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติมจะคงเหลือรายได้สุทธิ จำนวน 1,650,000 บาท สูงกว่าประมาณการรายได้สุทธิปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ตามเอกสารงบประมาณที่กำหนดไว้ 1,350,000 ล้านบาท จำนวน 300,000 ล้านบาท หรือร้อยละ 22.2 และสูงกว่าประมาณการรายได้สุทธิที่ปรับปรุงใหม่ ณ มกราคม 2553 ซึ่งประมาณไว้ 1,522,000 ล้านบาท จำนวน 107,350 ล้านบาท หรือร้อยละ 7

1.3. วงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

สาระสำคัญของวงเงินและโครงสร้างงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 เมื่อเปรียบเทียบกับพระราชบัญญัติงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 สรุปได้ดังนี้

1.3.1 งบประมาณรายจ่าย จำนวน 2,070,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณพ.ศ. 2553 จำนวน 370,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 21.8 โดยประมาณการว่าจะประกอบด้วยโครงสร้างรายจ่ายหลัก ดังนี้

(1) รายจ่ายประจำ จำนวน 1,630,936.2 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณพ.ศ. 2553 จำนวน 196,226.1 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.7 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 78.8 ของวงเงินงบประมาณรวม เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 84.4 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

(2) รายจ่ายเพื่อชดใช้เงินคงคลัง จำนวน 30,346.1 ล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 1.4 ของวงเงินงบประมาณรวม (รายจ่ายรายการนี้ในงบประมาณประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ไม่ได้ตั้งไว้เนื่องจากได้ตั้งไปแล้วในงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมปีงบประมาณ พ.ศ. 2552 จำนวน 19,139.5 ล้านบาท)

(3) รายจ่ายลงทุน จำนวน 341,369.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวน 127,000.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 59.2 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 16.5 ของวงเงินงบประมาณรวม เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 12.6 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

(4) รายจ่ายชำระคืนต้นเงินกู้ จำนวน 67,347.9 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณพ.ศ. 2553 จำนวน 16,427 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 32.3 และคิดเป็นสัดส่วนร้อยละ 3.3 ของวงเงินงบประมาณรวม เทียบกับสัดส่วนร้อยละ 3 ของปีงบประมาณ พ.ศ. 2553

1.3.2 รายได้สุทธิ จำนวน 1,650,000 ล้านบาท

1.3.3 ดุลงบประมาณขาดดุล จำนวน 420,000 ล้านบาท คิดเป็นร้อยละ 4.1 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 จำนวน 70,000 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 20

2. แนวทางการจัดทำและเสนอของบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 มีดังนี้

2.1 ตรวจสอบความสอดคล้องกับบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 แผนการบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 — 2554 แผนปฏิบัติราชการ 4 ปี และแผนปฏิบัติราชการประจำปีของกระทรวง/หน่วยงาน

2.2 ให้ความสำคัญต่อการดำเนินภารกิจของกระทรวง/หน่วยงาน ที่สอดคล้องกับนโยบายสำคัญของรัฐบาล และจุดเน้นของยุทธศาสตร์การจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554

2.3 ให้เน้นการจัดลำดับความสำคัญของภารกิจที่จะดำเนินการและกำหนดเป้าหมายให้เหมาะสม สอดคล้องกับความจำเป็นและวงเงินงบประมาณโดยประหยัด รวมทั้งคำนึงถึงความสามารถในการใช้จ่ายจริงของปีงบประมาณปัจจุบันและปีที่ผ่านมา

2.4 ในการเสนองบประมาณโครงการ/กิจกรรม/รายการใหม่ ให้ทบทวนเพื่อชะลอ ปรับลด หรือยกเลิกการดำเนินภารกิจของกระทรวง/หน่วยงาน ที่มีความสำคัญในระดับต่ำหรือดำเนินการแล้วได้ผลไม่คุ้มค่า หรือหมดความจำเป็น หรือไม่สอดคล้องกับสภาวการณ์ในปัจจุบันลงในจำนวนที่สอดคล้องกับการเสนอโครงการ/กิจกรรม/รายการใหม่

2.5 การพิจารณาใช้จ่ายงบประมาณควรครอบคลุมจากทุกแหล่งเงิน ทั้งเงินงบประมาณและเงินนอกงบประมาณ รวมทั้งขอให้ส่งรายงานการรับและการใช้จ่ายเงินรายได้ของหน่วยงานที่ไม่ต้องนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินของปีงบประมาณที่ผ่านมา เพื่อประกอบการพิจารณาของสำนักงบประมาณ

2.6 นำเครื่องมือการวิเคราะห์การจัดการงบประมาณตามมติคณะรัฐมนตรีมาพิจารณาประกอบการดำเนินงาน ดังนี้

(1) การวางแผนและบริหารโครงการ

(2) การวิเคราะห์ความสำเร็จของการดำเนินงานจากการใช้จ่ายงบประมาณ (Performance Assessment Rating Tool : PART)

(3) การวิเคราะห์ความเสี่ยงตามหลักธรรมาภิบาลของแผนงาน/โครงการที่สำคัญตามนโยบายรัฐบาล

3. การจัดสรรงบประมาณให้กับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด สำหรับปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 จะได้กำหนดให้จังหวัด/กลุ่มจังหวัดมีงบประมาณเพื่อการพัฒนาจังหวัด/กลุ่มจังหวัด ในจำนวนที่เหมาะสมและสอดคล้องกับสถานการณ์ด้านการคลังของประเทศ

4. การจัดสรรงบประมาณให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ได้ให้ความสำคัญกับการสร้างศักยภาพและเร่งรัดการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเองให้สูงขึ้น เพื่อให้สามารถพึ่งตนเองได้มากยิ่งขึ้น รวมทั้งเพิ่มการจัดบริการสาธารณะให้แก่ประชาชนในด้านคุณภาพชีวิตที่ดีเพิ่มขึ้น จึงเห็นควรจัดสรรเงินอุดหนุนให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จำนวน 173,900 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 ที่ได้รับการจัดสรร 139,895.2 ล้านบาท เป็นจำนวน 34,004.8 ล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 24.3

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ