ความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา 65 โครงการที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2010 11:52 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา 65 โครงการที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอ และมอบหมายให้กระทรวงอุตสาหกรรมจัดตั้งศูนย์บริการให้คำปรึกษาปัญหาตามมาตรา 67 วรรคสอง แบบบูรณาการที่ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (OSOS) พร้อมแต่งตั้งคณะทำงานกลางเพื่อหาข้อสรุปในแนวทางดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง โดยมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นที่ปรึกษา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และมีผู้แทนจากกระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงสาธารณสุข โดยให้กระทรวงอุตสาหกรรมเป็นฝ่ายเลขานุการ

สรุปความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหา 65 โครงการที่ต้องดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550

1. เรื่องเดิม

1.1 ศาลปกครองกลางมีคำสั่งเมื่อวันที่ 29 กันยายน 2552 ให้ระงับโครงการหรือกิจกรรมจำนวน 76 โครงการที่ดำเนินการอยู่ในพื้นที่มาบตาพุด บ้านฉางและใกล้เคียงไว้เป็นการชั่วคราวจนกว่าศาลจะมีคำสั่งเป็นอย่างอื่น ซึ่งต่อมาศาลสูงสุดได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 2 ธันวาคม 2552 แก้คำสั่งศาลปกครองกลางและให้คุ้มครองชั่วคราวเฉพาะโครงการท้ายคำฟ้องจำนวน 65 โครงการ

1.2 กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานได้จัดทำสรุปสาระสำคัญ 65 โครงการและแนวทางการแก้ไขปัญหาเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติในคราวประชุมหารือเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2552 เห็นชอบแนวทางการแก้ไขปัญหาตามที่กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานเสนอ โดยมอบให้กระทรวงอุตสาหกรรมและกระทรวงพลังงานให้การสนับสนุนและประสานข้อมูลกับภาคเอกชนในการจัดทำคำชี้แจงศาลในประเด็นโครงการเข้าข่ายยกเว้นการคุ้มครองชั่วคราวส่งให้ศาลตามขั้นตอนต่อไป

2. การดำเนินการ

2.1 การแก้ไขปัญหา 65 โครงการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว

2.1 กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) ได้จัดประชุมผู้ประกอบการ 65 โครงการที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวของศาลปกครองกลาง ณ ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 18 ถนนพญาไท เขตปทุมวัน กรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2552

2.2 อก. ได้จัดตั้งคลินิกให้คำปรึกษา ณ ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (ศูนย์ OSOS) อาคารจัตุรัสจามจุรี ชั้น 18 โดยมีสำนักงานย่อยที่กรมโรงงานอุตสาหกรรม (กรอ.) และการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) และพร้อมมีคำสั่งแต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อให้คำแนะนำแก่ภาคอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบจากคำสั่งคุ้มครองชั่วคราวในการจัดทำคำชี้แจงเพิ่มเติมต่อศาล โดยมีปลัดกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และให้ดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 45 วัน

ซึ่ง อก. และกระทรวงพลังงาน (พน.) ได้รวบรวมและจัดทำประเด็นในการเขียนคำร้องขอให้ศาลปกครองกลางทบทวนการกำหนดมาตรการหรือวิธีการคุ้มครองเพื่อบรรเทาทุกข์ชั่วคราวก่อนการพิพากษา และได้มีหนังสือแจ้งแนวทางการจัดทำคำชี้แจงต่อศาลดังกล่าว ให้ผู้ประกอบการทราบและพิจารณาจัดทำคำร้องขอต่อศาลต่อไป โดยขอให้ผู้ประกอบการแจ้งกลับผลการพิจารณาดำเนินการในเรื่องดังกล่าวภายในวันที่ 22 มกราคม 2553 และจากการตรวจสอบ ข้อมูล ณ วันที่ 22 มกราคม 2553 พบว่ามีโครงการที่อาจได้รับผลกระทบ จำนวน 42 โครงการ (แยกเป็น 11 โครงการที่ดำเนินการแล้ว 9 โครงการที่ก่อสร้างแล้วเสร็จ และ 22 โครงการที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง) โดยแยกเป็น 3 กลุ่ม ดังนี้

ก) โครงการที่มีเหตุผลเพียงพอในการขอผ่อนผันการคุ้มครองชั่วคราว 19 โครงการได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาลแล้ว 16 โครงการ

ข) โครงการที่ขอผ่อนผันต่อศาลเนื่องจากอยู่ระหว่างก่อสร้าง 15 โครงการได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาลแล้ว 5 โครงการ

ค) โครงการที่ต้องหาเหตุผลอื่นในการขอผ่อนผันต่อศาล จำนวน 8 โครงการ ได้ดำเนินการยื่นคำร้องขอต่อศาลแล้ว 3 โครงการ

โดยมีโครงการในกลุ่มที่ยังไม่มีการก่อสร้างใดๆ (18 โครงการ) ได้ทำการยื่นคำร้องขอต่อศาลแล้ว 6 โครงการ ดังนั้น สรุปโดยรวม มีการยื่นคำร้องขอต่อศาลไปแล้วทั้งสิ้น 30 โครงการ

2. การให้คำปรึกษาด้านกฎระเบียบและกระบวนการดำเนินการเพื่อให้เป็นไปตามมาตรา 67 วรรคสอง

คณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ได้ดำเนินการจัดทำและปรับปรุงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ในการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฯ จำนวน 2 ระเบียบ ดังนี้

2.2.1 ประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ลงวันที่ 29 ธันวาคม 2552 (มีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 30 ธันวาคม 2552)

2.2.2 ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประสานงานการให้ความเห็นขององค์การอิสระในโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ลงวันที่ 12 มกราคม 2553 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 12 มกราคม 2553

อนึ่ง คณะกรรมการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เพื่อปรับปรุงรายการโครงการหรือกิจกรรมที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ซึ่ง ณ ปัจจุบัน คณะอนุกรรมการฯ ได้วางแนวทางการจัดกิจกรรมเพื่อรับฟัง ความคิดเห็นในพื้นที่ 4 ภาค และกรุงเทพมหานคร พร้อมจัดเตรียมงบประมาณสำหรับดำเนินการ และจัดทำหลักเกณฑ์เพื่อกำหนดว่าโครงการลักษณะใดเข้าข่ายรุนแรง เพื่อพิจารณาปรับปรุงโครงการ 19 ประเภทตามร่างที่ สผ. ได้จัดทำไว้ ก่อนนำไปรับฟังความคิดเห็นต่อไป

ดังนั้น ในระหว่างนี้ ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมสามารถใช้แนวทางตามประกาศฯ (2.2.1) และระเบียบฯ (2.2.2) ข้างต้น ในการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสองของรัฐธรรมนูญฯ ได้ ซึ่ง อก.ในฐานะหน่วยงานอนุญาตโครงการ ได้จัดเตรียมความพร้อมสำหรับการให้บริการและคำปรึกษาด้านต่างๆ ดังนี้

ก) แต่งตั้งคณะทำงานเฉพาะกิจเพื่อประสานการดำเนินการตามมาตรา 67 วรรคสอง โดยมี รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม หัวหน้ากลุ่มภารกิจด้านกำกับตรวจสอบกระบวนการผลิตเป็นประธาน ซึ่งคณะทำงานฯ ได้มีการประชุมไปแล้วรวม 4 ครั้ง และอยู่ระหว่างการจัดเตรียมแนวทางการดำเนินงาน (Road Map) ตามภาคผนวก ง. ของประกาศฯ (2.2.1) ข้างต้น รวมถึงการจัดฝึกอบรมเพื่อสร้างความพร้อม (Capacity Building) ให้กับเจ้าหน้าที่ของกระทรวงอุตสาหกรรม โดยมีกำหนดจัดฝึกอบรมในวันที่ 5 กุมภาพันธ์ ศกนี้ ทั้งนี้ คาดว่าอีกประมาณ 6 เดือนจึงจะมีโครงการหรือกิจกรรมที่ อก. ในฐานะหน่วยอนุมัติ/อนุญาต ต้องดำเนินการจัดทำกระบวนการรับฟังความคิดเห็นตามประกาศฯ ดังกล่าว

ข) หน่วยงานในสังกัด อก. และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้มีการประชาสัมพันธ์ ในภาพกว้างให้กับนักลงทุนได้ทราบว่าจะต้องดำเนินการอย่างไร หรือเตรียมตัวอย่างไรสำหรับการลงทุนในโครงการที่อาจมีผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ดังนี้

  • กนอ. เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมซักซ้อมความเข้าใจกับนักลงทุนในการดำเนินการ ตามมาตรา 67 วรรคสอง เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 ณ สำนักงานใหญ่ กนอ. มักกะสัน กรุงเทพฯ
  • สกท. เป็นเจ้าภาพหลักในการประชุมร่วมกับสภาหอการค้าญี่ปุ่นในประเทศไทย (JCC) ในวันที่ 28 มกราคม 2553 ที่ ศูนย์ OSOS (ชี้แจงโดยผู้แทนจาก อก. และ ทส.)
  • ทส. โดย สผ. จัดประชุมชี้แจงการดำเนินการตามประกาศฯ (2.2.1) ข้างต้น ให้แก่ผู้ประกอบการและผู้สนใจ ในวันที่ 25 มกราคม 2553 ที่โรงแรมรามาการ์เดน กรุงเทพมหานคร

3. ข้อเท็จจริง

3.1 โครงการที่ยื่นชี้แจงเพิ่มเติมต่อศาลจำนวน 30 โครงการ ศาลปกครองกลางได้มีคำสั่งเมื่อวันที่ 22 มกราคม 2553 ยกคำร้องทั้ง 30 โครงการ และให้ความเห็นประกอบดังนี้

กรณีที่ 1 โครงการหรือกิจกรรมใดที่ได้ดำเนินการตามกฎระเบียบที่ผู้มีอำนาจหน้าที่กำหนดตามมาตรา 67 วรรคสอง ผู้ถูกฟ้องคดีทั้งแปดหรือผู้มีส่วนได้เสียอาจมีคำร้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอให้พิจารณามีคำสั่งแก้ไขหรือยกเลิกคำสั่งนั้นเสีย

กรณีที่ 2 โครงการหรือกิจกรรมที่ไม่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ตามประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการฯ ลงวันที่ 16 มิถุนายน 2552 ศาลเห็นว่าเป็นโครงการที่ได้รับยกเว้นตามคำสั่งศาลอยู่แล้ว ซึ่งผู้ประกอบการต้องตรวจสอบกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.)

3.2 เลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) ได้เข้าตรวจเยี่ยมและติดตามผลการดำเนินงานของศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (OSOS) ชั้น 18 อาคารจัตุรัสจามจุรี ถนนพญาไท เมื่อวันที่ 25 มกราคม 2553 เวลา 10.00 — 11.30 น. ซึ่งเพื่อให้การแก้ไขปัญหาตามมาตรา 67 วรรคสอง เป็นแบบบูรณาการ ที่ประชุมจึงเห็นชอบให้

ก) จัดตั้งศูนย์บริการให้คำปรึกษาปัญหาตามมาตรา 67 วรรค 2 ที่ ศูนย์ประสานการบริการด้านการลงทุน (OSOS) โดยมีผู้แทนที่มีความรู้จากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาอยู่ประจำ ทั้ง กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.)

ข) จัดตั้งคณะทำงานกลางเพื่อหาข้อสรุปในแนวทางดำเนินการตามมาตรา 67 วรรค 2 โดยมีเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (นายกอร์ปศักดิ์ สภาวสุ) เป็นที่ปรึกษา ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรมเป็นประธาน และมีผู้แทนจาก อก. ทส. และ สธ. โดยให้อก. เป็นฝ่ายเลขานุการ และให้ อก. นำเสนอคณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบต่อไป

ค) ให้คณะทำงานที่จัดตั้งขึ้นและศูนย์บริการให้คำปรึกษาปัญหาตามมาตรา 67 วรรค 2 ดำเนินการ ดังนี้

  • ให้คำปรึกษาแก่โครงการที่จะยื่นคำร้องชี้แจงข้อมูลเพิ่มเติมต่อศาล
  • ให้คำแนะนำรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินการในการจัดทำรายงาน HIA แก่โครงการที่อยู่ระหว่างคำสั่งคุ้มครองชั่วคราว
  • ให้ข้อมูลรายละเอียดและขั้นตอนการดำเนินการในการจัดทำรายงาน HIA แก่โครงการ อื่นๆ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ