ปัญหาการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบที่ 1) เพิ่มเติม

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2010 13:49 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบปัญหาในทางปฏิบัติโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2552/53 (รอบที่ 1) เพิ่มเติม ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ และมอบหมายให้กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปพิจารณาแนวทางแก้ไขปัญหาให้เป็นไปตามกรอบและหลักเกณฑ์ที่รัฐบาลกำหนด และเสนอคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) พิจารณาตามลำดับต่อไป

ข้อเท็จจริง

กระทรวงพาณิชย์ ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ รายงานว่า ได้รับการร้องเรียนปัญหาการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2552/53 (รอบที่ 1) เพิ่มเติมจาก (1) คณะอนุ กขช. ระดับจังหวัดขอนแก่น และบุรีรัมย์ (2) เกษตรกร (มหาสารคามและร้อยเอ็ด) และนายสุชาติ ศรีสังข์ อดีตสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และ (3) ผลการประชุมคณะอนุกรรมาธิการติดตามการบริหารงบประมาณในการพยุงราคาสินค้าเกษตร สรุปประเด็นปัญหาได้ดังนี้

1. เกษตรกรตกหล่นไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกร เกษตรกร จ.ร้อยเอ็ดและมหาสารคาม ได้ไปติดต่อขอขึ้นทะเบียนเกษตรกรวันที่ 15-30 ธันวาคม 2552 แต่เจ้าหน้าที่ของสำนักงานเกษตรอำเภอไม่รับขึ้นทะเบียนเกษตรกร โดยอ้างว่าระบบปิดแล้ว

2. เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. กำหนดวันใช้สิทธิให้ซึ่งไม่ใช่วันที่เกษตรกรเลือก เกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม บุรีรัมย์ และขอนแก่น ได้ทำสัญญาประกันรายได้ในช่วงวันที่ 1-15 พฤศจิกายน 2552 และแจ้ง ธ.ก.ส. ขอใช้สิทธิวันที่ 16 — 30 พฤศจิกายน 2552 แต่เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. ให้มาใช้สิทธิช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2552 — 28 กุมภาพันธ์ 2553 เกษตรกรจึงเห็นว่าไม่ได้รับความเป็นธรรมและทำให้เสียสิทธิที่จะได้รับเงินชดเชยที่มากกว่า ซึ่งเกษตรกรบางรายก็ได้รับเงินไปแล้ว

3. เกษตรกรมีที่นาหลายแปลงแต่เกษตรอำเภอขึ้นทะเบียนให้เพียงแปลงเดียว เนื่องจากเกษตรอำเภอจ้างต้นกล้าอาชีพมาดำเนินการ เกษตรกร จ.มหาสารคาม ซึ่งมีโฉนดที่นาหลายแปลง แต่เกษตรอำเภอขึ้นทะเบียนให้แปลงเดียวทำให้เกษตรกรได้สิทธิประกันรายได้น้อยกว่าที่เป็นจริง

4. เกษตรกรปลูกข้าว 2 ชนิด ทำสัญญาประกันรายได้วันเดียวกันแต่ ธ.ก.ส. กำหนดวันใช้สิทธิ ต่างกัน เกษตรกร อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวคนละแปลง ได้ทำสัญญาประกันรายได้ในวันเดียวกัน แต่เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. กำหนดวันใช้สิทธิต่างกัน ทำให้เกษตรกรได้รับเงินชดเชยน้อยกว่าที่ควรจะได้รับ

5. ธ.ก.ส. จ่ายเงินชดเชยรายได้ให้เกษตรกรแล้วขอคืนบางส่วน เกษตรกร อ.นาเชือก จ.มหาสารคาม ได้รับเงินชดเชยประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวแล้ว แต่เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. มาขอเงินชดเชยบางส่วนคืน โดยอ้างว่าจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรเกินกว่าสิทธิที่เกษตรกรจะได้จึงขอคืนบางส่วน

6. เกษตรกรขอให้จ่ายส่วนต่างชดเชยช่วงวันที่ 1- 15 ธันวาคม 2552 เกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี ที่ได้ปฏิบัติเป็นไปตามหลักเกณฑ์โครงการประกันรายได้ โดยปฏิบัติตนเป็นเกษตรกรที่ดีมีการขึ้นทะเบียน การทำประชาคม การทำสัญญา และการใช้สิทธิตามที่หน่วยงานราชการกำหนด แต่ได้รับเงินชดเชยข้าวหอมมะลิ ตันละ 405 บาท ซึ่งน้อยกว่าเกษตรกรที่ตกสำรวจ และรัฐบาลได้ผ่อนผันให้ใช้สิทธิวันที่1 — 15 ธันวาคม 2552 ซึ่งได้รับเงินส่วนต่างชดเชย ข้าวหอมมะลิ ตันละ 1,580 บาท ทำให้เกษตรกรคิดว่ารัฐบาลไม่ได้ให้ความยุติธรรมและมีความต้องการให้รัฐบาลจ่ายเงินชดเชยให้เกษตรกรตามประกาศเกณฑ์กลางอ้างอิง วันที่ 1-15 ธันวาคม 2552 ทั้งเกษตรกรที่ได้รับเงินชดเชยไปแล้ว และเกษตรกรที่ยังไม่ถึงกำหนดการใช้สิทธิ

7. เกษตรอำเภอออกหนังสือรับรองให้เกษตรกรไม่ตรงตามชนิดข้าวที่เกษตรกรปลูก เกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานีปลูกข้าวหอมมะลิแต่เกษตรอำเภอออกหนังสือรับรองให้เป็นปลูกข้าวเจ้า ทำให้เกษตรกรได้รับเงินชดเชยประกันรายได้ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง

8. เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. นำเงินชดเชยมาจ่ายให้เกษตรกรและคิดค่าใช้จ่ายจากเกษตรกร เจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส. จังหวัดอุบลราชธานีได้นำเงินชดเชยรายได้มาจ่ายให้เกษตรกรที่บ้าน (ในหลักการ ธ.ก.ส. จะต้องโอนเงินเข้าบัญชีเกษตรกร) และคิดค่าใช้จ่ายจากเกษตรกรรายละ 30 บาท นี้ คาดว่าจะยังมีการร้องเรียนปัญหาการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าวนาปี ปี 2552/53 รอบที่ 1 ของจังหวัดต่าง ๆ เพิ่มเติมเข้ามาอีก

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ