การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวและสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2010 16:03 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 82 พรรษา 5 ธันวาคม 2552 ระหว่างวันที่ 1 — 13 ธันวาคม 2552 และผลการพิจารณาการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติในปี 2553 และรับทราบคำสั่งแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติแห่งการบรมราชาภิเษกปีที่ 60 และการเฉลิมพระชนมพรรษา ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้

ข้อเท็จจริง

คณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว 82 พรรษา 5 ธันวาคม 2552 ซึ่งมีรองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นประธานกรรมการ ได้มีการประชุมครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 มีผลการประชุมในสาระสำคัญดังนี้

1. ที่ประชุมได้รับทราบสรุปผลการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา 82 พรรษา 5 ธันวาคม 2552 ระหว่างวันที่ 1 — 13 ธันวาคม 2552 ที่ผ่านมา ณ บริเวณพระลานพระราชวังดุสิต บริเวณถนนราชดำเนิน และบริเวณท้องสนามหลวง ซึ่งการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติฯ ดำเนินไปด้วยความเรียบร้อย สมพระเกียรติ และยิ่งใหญ่

2. ที่ประชุมได้พิจารณาการจัดงานเฉลิมพระเกียรติในปี 2553 โดยเห็นว่าพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จขึ้นครองราชย์ เมื่อวันที่ 9 มิถุนายน 2489 และทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ประกอบพระราชพิธีบรมราชาภิเษก เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2493 ซึ่งเป็นพระราชพิธีที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวทรงรับเป็นพระมหากษัตริย์โดยสมบูรณ์ แล้วพระราชทานพระปฐมบรมราชโองการว่า “เราจะครองแผ่นดินโดยธรรม เพื่อประโยชน์สุขแห่งมหาชนชาวสยาม” ต่อมากำหนดให้วันที่ 5 พฤษภาคมของทุกปีเป็นวันพระราชพิธีฉัตรมงคล และโดยที่ในวันที่ 5 พฤษภาคม 2553 เป็นปีที่ 60 ของพระราชพิธีบรมราชาภิเษก วันที่ 12 สิงหาคม 2553 เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา 78 พรรษา ของสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ และวันที่ 5 ธันวาคม 2553 เป็นวันเฉลิมพระชนมพรรษา 83 พรรษา ของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว สมควรได้มีการจัดงานเฉลิมพระเกียรติอย่างต่อเนื่องตลอดปี 2553 และให้ประชาชนทั่วทั้งประเทศได้มีส่วนร่วมในการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ

3. การจัดงานเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวให้ดำเนินการภายใต้แนวคิดว่า “ชวนคนไทยรักสามัคคี ร่วมทำความดีถวายพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว” โดยให้มีกิจกรรมที่หลากหลายในด้านต่าง ๆ อันเกี่ยวเนื่องกับโครงการพระราชดำริ พระราชกรณียกิจ หรือพระบรมราโชวาท เช่น ด้านการศึกษา การศาสนา การเกษตร การชลประทาน การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ การจัดการสิ่งแวดล้อม การพลังงานทดแทน การดนตรี การกีฬา การเสด็จพระราชดำเนินทรงงานในพื้นที่จังหวัดต่าง ๆ การช่วยเหลือบำบัดทุกข์บำรุงสุขแก่ประชาชน การบำเพ็ญกุศล เป็นต้น โดยยึดการดำเนินงานถวายเป็นพระราชกุศลแด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวเพื่อทรงมีพระเกษมสำราญ และปลูกจิตสำนึกให้ประชาชนโดยเฉพาะเยาวชนรุ่นใหม่ได้มีความซาบซึ้ง สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความจงรักภักดี ที่พระบาทสมเด็จ พระเจ้าอยู่หัวทรงสร้างคุณประโยชน์แก่ประเทศชาติและห่วงใยประชาชนมาตลอดระยะเวลากว่า 60 ปี

4. ที่ประชุมมอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ รับไปพิจารณาเสนอการจัดกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติภายใน 2 สัปดาห์ และให้มีการแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติ รวมทั้งให้รายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบด้วย คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 22/2553 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติแห่งการบรมราชาภิเษกปีที่ 60 และการเฉลิมพระชนมพรรษา เนื่องในโอกาสพระราชพิธีบรมราชาภิเษก ปีที่ 60 และเฉลิมพระชนมพรรษาของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ ในปีพุทธศักราช 2553 นับเป็นมหามงคลพิเศษยิ่งที่ปวงชนทุกหมู่เหล่าจะได้ร่วมแสดงความกตัญญูกตเวที น้อมรำลึกในพระมหากรุณาธิคุณ และแสดงความจงรักภักดีถวายเป็นราชสักการะ โดยรัฐบาล ภาคเอกชน และประชาชนจะได้ร่วมกันจัดงานเฉลิมฉลองอย่างสมพระเกียรติ

ดังนั้น เพื่อให้การดำเนินงานเป็นไปด้วยความเรียบร้อย อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 11 (6) แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 จึงแต่งตั้งคณะกรรมการอำนวยการจัดงานเฉลิมพระเกียรติแห่งการบรมราชาภิเษกปีที่ 60 และการเฉลิมพระชนมพรรษา โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ดังนี้

1. องค์ประกอบ รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) เป็นประธานกรรมการ รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย เป็นรองประธานกรรมการ กรรมการประกอบด้วย รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายสาทิตย์ วงศ์หนองเตย) รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคมรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร

รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์) รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย (นายถาวร เสนเนียม) ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ราชเลขาธิการ เลขาธิการพระราชวัง รองราชเลขาธิการ (ท่านผู้หญิงบุตรี วีระไวทยะ) ราชเลขานุการในพระองค์สมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวง (ทุกกระทรวง) ปลัดกรุงเทพมหานคร เลขาธิการคณะกรรมการพิเศษเพื่อประสานงานโครงการอันเนื่องมาจากพระราชดำริ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ ผู้บัญชาการทหารสูงสุด ผู้บัญชาการทหารบก ผู้บัญชาการทหารเรือ ผู้บัญชาการทหารอากาศ ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ อธิบดีกรมประชาสัมพันธ์ อธิบดีกรมศิลปากร อธิบดีกรมการศาสนา อธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย แม่ทัพภาคที่ 1 ผู้บัญชาการตำรวจนครบาล เลขานุการบริหารโทรทัศน์รวมการเฉพาะกิจแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย  นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว ประธานสมาคมธนาคารไทย ประธานมูลนิธิ 5 ธันวามหาราช โดยมี ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นกรรมการและเลขานุการ อธิบดีกรมการปกครอง ผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี (นางปราณี สริวัฒน์) ผู้อำนวยการสำนักแผนงานและกิจการพิเศษ สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการสำนักงานเสริมสร้างเอกลักษณ์ของชาติ สำนักงานปลัดสำนัก นายกรัฐมนตรี ผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ผู้อำนวยการกองกลาง สำนักงานปลัด           สำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

2. อำนาจหน้าที่

2.1 พิจารณากำหนดรูปแบบ แนวทางการจัดงาน โครงการ และกิจกรรมเฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระนางเจ้าฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในโอกาสการบรมราชาภิเษกปีที่ 60 และการเฉลิมพระชนมพรรษา ให้สมพระเกียรติ

2.2 พิจารณามอบหมายภารกิจตามแผนงาน โครงการ และกิจกรรมให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับไปดำเนินการให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย

2.3 แต่งตั้งคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงานฝ่ายต่างๆ เพื่อช่วยเหลือการปฏิบัติงานตามที่เห็นสมควร

2.4 ดำเนินการอื่นๆ ตามที่ได้รับมอบหมาย

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 22 มกราคม 2553 เป็นต้นไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ