สรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนตุลาคม พ.ศ.2552

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2010 16:12 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบสรุปผลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เดือนตุลาคม พ.ศ.2552ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

สำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร เป็นประจำทุกเดือน โดยสอบถามประชากรที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป ด้วยวิธีการสุ่มตัวอย่าง ทุกจังหวัดทั่วประเทศ มีครัวเรือนตกเป็นตัวอย่าง 26,520 ครัวเรือนต่อเดือน สำหรับในเดือนตุลาคม พ.ศ.2552 ในภาพรวมสถานการณ์แรงงาน อัตราการว่างงานลดลง ร้อยละ 0.1 เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 หากเปรียบเทียบกับช่วงเดือนกันยายน พ.ศ.2552 อัตราการว่างงานลดลงร้อยละ 0.1 (จาก 1.2 เป็นร้อยละ1.1 ) สำหรับสาระสำคัญการสำรวจ สรุปได้ดังนี้

1. ผู้อยู่ในกำลังแรงงาน

ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงาน มีจำนวนทั้งสิ้น 38.25 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้มีงานทำ 37.66 ล้านคน ผู้ว่างงาน 4.10 แสนคน และผู้ที่รอฤดูกาล 1.8 แสนคน ทั้งนี้ ผู้ที่อยู่ในกำลังแรงงานมีจำนวนเพิ่มขึ้นจากช่วงเวลาเดียวกันกับปี 2551 จำนวน 4.6 แสนคน (จาก 37.79 ล้านคน เป็น 38.25 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.4

2. ผู้มีงานทำ

2.1 ผู้มีงานทำ 37.66 ล้านคน เพิ่มจากช่วงเดียวกันของปี 2551 จำนวน 5.0 แสนคน (จาก 37.16 ล้านคน เป็น 37.66 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.3 ซึ่งมีผู้ทำงานเพิ่มขึ้นและลดลงในสาขาต่าง ๆ ได้ดังนี้

(1) มีผู้ทำงานเพิ่มขึ้น นอกภาคเกษตรกรรมเพิ่มขึ้น 7.6 แสนคน (จาก 23.18 ล้านคน เป็น 23.94 ล้านคน) โดยเป็นการเพิ่มในสาขาการขายส่ง ขายปลีกฯ มากที่สุด 3.7 แสนคน (จาก 5.92 ล้านคน เป็น 6.29 ล้านคน ) สาขาโรงแรมและภัตตาคารเพิ่มขึ้น 2.3 แสนคน (จาก 2.43 ล้านคน เป็น 2.66 ล้านคน) สาขาการศึกษาเพิ่มขึ้น 1.1 แสนคน (จาก 1.09 ล้านคน เป็น 1.20 ล้านคน) สาขาอสังหาริมทรัพย์ฯ เพิ่มขึ้น 1.0 แสนคน (จาก 0.75 ล้านคน เป็น 0.85 ล้านคน) สาขาการขนส่งฯ เพิ่มขึ้น 3 หมื่นคน (จาก 1.19 ล้านคน) เป็น 1.22 ล้านคน) ตามลำดับ

(2) ผู้ทำงานลดลง เป็นการลดลงในสาขาการผลิต 6 หมื่นคน (จาก 5.88 ล้านคน เป็น 5.82 ล้านคน) โดยเป็นการลดลงและเพิ่มในสาขาการผลิตย่อย ซึ่งสาขาการผลิตที่ลดลง ได้แก่ สาขาการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ทำจากโลหะประดิษฐ์ 1.2 แสนคน (จาก 4.30 แสนคน เป็น 3.13 แสนคน) การผลิตอุปกรณ์และเครื่องอุปกรณ์ฯ 7.5 หมื่นคน (จาก 4.11 แสนคน เป็น 3.36 แสนคน) การผลิตผลิตภัณฑ์จากแร่อโลหะ 6.3 หมื่นคน (จาก 2.84 แสนคน เป็น 2.21 แสนคน) การผลิตเครื่องแต่งกาย 4 หมื่นคน (จาก 7.79 แสนคน เป็น 7.39 แสนคน) การฟอกและตกแต่งหนังฟอก 3.7 หมื่นคน (จาก 1.20 แสนคน เป็น 0.83 แสนคน) การผลิตเครื่องจักรสำนักงานฯ 2 หมื่นคน (จาก 0.39 แสนคน เป็น 0.19 แสนคน) ตามลำดับ ส่วนสาขาการผลิตที่เพิ่มขึ้น การผลิตผลิตภัณฑ์อาหารและเครื่องดื่ม 1.0 แสนคน การผลิตเฟอร์นิเจอร์ 5.5 หมื่นคน ที่เหลืออยู่ในสาขาการผลิตอื่น ๆ

2.2 สำหรับผู้ทำงานได้ไม่เต็มเวลา (ทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์) พบว่า ในจำนวนผู้ทำงานทั้งหมด 37.66 ล้านคน มีผู้ทำงานที่มีชั่วโมงการทำงานน้อยกว่า 35 ชั่วโมงต่อสัปดาห์ จำนวน 7.10 ล้านคน หรือ คิดเป็นร้อยละ 18.9 หากเปรียบเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2551 เพิ่มขึ้น 4.6 แสนคน (จาก 6.64 ล้านคน เป็น 7.10 ล้านคน) หรือเพิ่มขึ้นร้อยละ 6.9

3. ผู้ว่างงาน

3.1 ผู้ว่างงานทั่วประเทศมีจำนวน 4.1 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานร้อยละ 1.1 ของกำลังแรงงานรวม (ลดลง 4 หมื่นคน เมื่อเปรียบเทียบกับช่วงเดียวกันกับปี 2551 ) ประกอบด้วย ผู้ว่างงานที่ไม่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 1.0 แสนคน โดยอยู่ในกลุ่มเยาวชน (15-24 ปี) 8 หมื่นคน และกลุ่มของผู้อยู่ในวัยทำงาน (25 ปี ขึ้นไป) 2 หมื่นคน อีกส่วนหนึ่งเป็นผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนจำนวน 3.1 แสนคน โดยเป็นผู้ว่างงานที่มาจากภาคการผลิต 1.2 แสนคน ภาคการบริการและการค้า 1.2 แสนคน และภาคเกษตรกรรม 7.0 หมื่นคน

3.2 ผู้ว่างงานเป็นผู้มีการศึกษาอยู่ในระดับมัธยมศึกษาตอนต้นมากที่สุดจำนวน 1.2 แสนคน รองลงมาเป็นระดับอุดมศึกษา 1.0 แสนคน ประถมศึกษา 8.4 หมื่นคน ไม่มีการศึกษาและต่ำกว่าประถมศึกษา 5.9 หมื่นคน และระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย 4.9 หมื่นคน และตามลำดับ

3.3 ผู้ว่างงานส่วนใหญ่อยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากที่สุด 1.3 แสนคน ภาคกลาง 1.2 แสนคน ภาคใต้ 0.7 แสนคน ภาคเหนือ 0.6 แสนคน และกรุงเทพมหานคร 0.3 แสนคน โดยภาคใต้มีอัตราการว่างงานสูงสุดร้อยละ 1.4 ต่ำสุดเป็นกรุงเทพมหานครและภาคเหนือ ร้อยละ 0.8

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ