เรื่อง การดำเนินการเกี่ยวกับบันทึกความเข้าใจว่าด้วยการอนุวัติการตรวจลงตราเดียวในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือ
ทางเศรษฐกิจ อิรวดี — เจ้าพระยา — แม่โขง (ACMECS Single Visa - ASV) ระหว่างรัฐบาลไทยกับ รัฐบาลกัมพูชา
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบให้ส่งความตกลงระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาสำหรับการอนุวัติการตรวจลงตราเดียวในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี — เจ้าพระยา — แม่โขง ที่ได้ลงนามแล้ว เพื่อขอความเห็นชอบจากรัฐสภา ก่อนดำเนินการให้มีผลผูกพัน ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ
ข้อเท็จจริง
กระทรวงการต่างประเทศเสนอว่า
1. เมื่อวันที่ 17 ธันวาคม 2550 รัฐบาลไทย และรัฐบาลกัมพูชา ได้ร่วมลงนามความตกลงสำหรับการอนุวัติการตรวจลงตราเดียวในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี — เจ้าพระยา — แม่โขง (ACMECS Single Visa - ASV)
2. ในโอกาสที่จะแจ้งซึ่งกันและกัน เพื่อให้ความตกลงฯ มีผลใช้บังคับ กระทรวงการต่างประเทศจึงได้จัดทำหนังสือแลกเปลี่ยนเพื่อแจ้งการมีผลใช้บังคับและตกลงกันยืนยันความเข้าใจร่วมกันของคู่ภาคีในเรื่องนี้อีกครั้งหนึ่ง ในการนี้ กระทรวงการต่างประเทศจึงได้จัดทำร่างหนังสือแลกเปลี่ยน และส่งไปยังสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงพนมเปญ เพื่อมอบแก่ฝ่ายกัมพูชาสำหรับพิจารณาพร้อมกับแจ้งผลให้กระทรวงการต่างประเทศทราบต่อไป
3. ระหว่างการประชุมคณะกรรมการร่วมไทย — กัมพูชา เมื่อวันที่ 4 -5 สิงหาคม 2552 ฝ่ายกัมพูชาได้มอบสำเนาล่วงหน้าหนังสือให้กับกระทรวงการต่างประเทศเพื่อเป็นการประสานงานในเบื้องต้นแจ้งว่าฝ่ายกัมพูชาได้บรรลุ ซึ่งการดำเนินกระบวนการภายในต่าง ๆ เพื่อให้ความตกลงมีผลใช้บังคับเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พร้อมกับได้แจ้งทางวาจาด้วยว่า ฝ่ายกัมพูชามีความเห็นว่าร่างหนังสือฯ ของไทยที่เสนอไปเป็นเรื่องภายในของไทย และหนังสือของฝ่ายกัมพูชาฉบับนี้ก็ถือเป็นการตอบแล้ว โดยจะไม่มีหนังสือซึ่งลงนามโดยรัฐมนตรีต่างประเทศกัมพูชาตอบกลับมาตามรูปแบบที่ฝ่ายไทยได้เสนอไปอีก ซึ่งนับเป็นแนวปฏิบัติตามปรกติของฝ่ายกัมพูชา
4. โดยที่ศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยที่ 6 — 7/2551 ลงวันที่ 8 กรกฎาคม 2551 เกี่ยวกับแถลงการณ์ร่วมไทย — กัมพูชา ว่าเป็นหนังสือสัญญาซึ่งจะต้องได้รับความเห็นชอบจากรัฐสภาตามมาตรา 190 วรรค 2 ของรัฐธรรมนูญฯ ดังนั้น เพื่อให้ความตกลงฯ ระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรกัมพูชาว่าด้วยการตรวจลงตราเดียวฯ ที่ได้มีการลงนามไปก่อนคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นไปด้วยความรอบคอบ กระทรวงการต่างประเทศจึงได้พิจารณาทบทวนการดำเนินการในกรอบ ASV ใหม่ และเห็นว่ากระบวนการขอรับความเห็นชอบของส่วนราชการที่เกี่ยวข้องของไทย (pre — clearance arrangement) ที่จะต้องมีขึ้นก่อนที่ฝ่ายไทยและกัมพูชาจะสามารถตรวจลงตรา ASV ให้กับนักท่องเที่ยวของประเทศที่สามควรจะต้องมีการดำเนินการตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญข้างต้น เพื่อป้องกันการถูกหยิบยกขึ้นกล่าวอ้างว่ารัฐบาลไทยทำหนังสือสัญญายกอำนาจอธิปไตยการตรวจลงตราเข้าประเทศ ซึ่งเดิมเคยมีอย่าง สมบูรณ์ให้กับฝ่ายกัมพูชา
สาระสำคัญของเรื่อง
ความตกลงการอนุวัติการตรวจลงตราเดียวในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี — เจ้าพระยา — แม่โขง (ACMECS Single Visa - ASV) มีสาระสำคัญดังนี้
1. วัตถุประสงค์
คู่ภาคีที่จะรับเอานโยบายร่วมกันเกี่ยวกับการตรวจลงตราเดียวในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี — เจ้าพระยา — แม่โขง คู่ภาคีตกลงที่จะอนุวัติการตรวจลงตราเดียวในกรอบยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิรวดี — เจ้าพระยา — แม่โขง ภายใต้ข้อกำหนด และเงื่อนไขที่ระบุไว้ในความตกลงและข้อตกลงปฏิบัติการ
2. ขอบเขต
ให้ใช้ในการตรวจลงตรานี้กับประเภทการท่องเที่ยวเท่านั้น
3. เงื่อนไขในการตรวจลงตรา
3.1 การตรวจลงตราจะออกให้แก่นักท่องเที่ยวซึ่งเดินทางเข้าและออก ดินแดนของคู่ภาคี
3.2 การตรวจลงตราจะออกให้แก่นักท่องเที่ยวผู้ซึ่ง
3.1.1 เป็นพลเมืองของทุกรัฐ
3.1.2 ไม่เคยถูกรายงานว่าเป็นบุคคลต้องห้ามเดินทางเข้าประเทศ
3.1.3 ไม่เคยต้องโทษในคดีอาญา
3.1.4 ถือหนังสือเดินทาง หรือเอกสารที่ใช้แทนหนังสือเดินทาง ที่เหลืออายุการใช้งานอย่างน้อย 6 เดือน และออกให้โดยหน่วยงานผู้มีอำนาจหน้าที่
3.1.5 ยื่นเอกสารเพื่อสนับสนุนวัตถุประสงค์และเงื่อนไขของแผนการเยือน และมีเงินเพียงพอ
4. ผลบังคับใช้
ความตกลงฉบับนี้จะมีผลบังคับในวันที่ภาคีที่เป็นฝ่ายแจ้งภายหลังได้แจ้งว่าได้ดำเนินการตามขั้นตอนทางกฎหมายภายในที่จำเป็นของตนสำหรับการมีผลใช้บังคับของความตกลงนี้เสร็จสิ้นแล้ว และหลังจากนั้นความตกลงนี้จะมีผลบังคับใช้ต่อไปจนกว่าคู่ภาคีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งแจ้งคู่ภาคีอีกฝ่ายหนึ่งเป็นลายลักษณ์อักษรล่วงหน้า 3 เดือน ถึงเจตนาของตนในการบอกเลิกความตกลง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2553--จบ--