ขออนุมัติเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2010 17:15 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเสนอดังนี้

1. อนุมัติให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4 ในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 (ระยะเวลา 7 วัน) ณ บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ

2. อนุมัติค่าใช้จ่ายการจัดงานดังกล่าว ในวงเงิน 15,000,000 บาท จากงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ของสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

3. มอบหมายให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโดยสำนักงานปลัดกระทรวงร่วมกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องดำเนินการเป็นเจ้าภาพจัดงานดังกล่าว

ทั้งนี้ ให้สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดทำรายละเอียดเสนอขอตั้งงบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 ในวงเงิน 15,000,000 บาท เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการเป็นเจ้าภาพจัดงานเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4 ต่อไป ตามความเห็นของสำนักงบประมาณ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีรายงานว่า

1. เทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปคจัดขึ้นแล้ว 3 ครั้ง คือ ครั้งที่ 1 ที่สาธารณรัฐเกาหลีในปี พ.ศ. 2542 ครั้งที่ 2 ที่สาธารณรัฐสิงคโปร์ในปี พ.ศ. 2543 และครั้งที่ 3 ที่สาธารณรัฐประชาชนจีนในปี พ.ศ. 2547 ซึ่งกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นหน่วยงานหลักของประเทศไทยในคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมเอเปคในกรอบความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเปค (The Industrial Science and Technology Working Group - ISTWG) และในการประชุมคณะทำงานฯ ครั้งที่ 35 ระหว่างวันที่ 8-9 กันยายน 2551 ณ ประเทศเวียดนาม คณะทำงานฯ ได้ทาบทามให้ประเทศไทยรับเป็นเจ้าภาพการจัดงานเทศกาลวิทยาศาสตร์เยาวชนเอเปค ครั้งที่ 4 ซึ่งผู้แทนประเทศไทยได้ตอบรับเนื่องจากเป็นพันธกรณีซึ่งเขตเศรษฐกิจจะต้องหมุนเวียนกันเป็นเจ้าภาพและประเทศไทยมีความพร้อมด้านสถานที่และบุคลากร จึงมีศักยภาพที่จะแสดงออกในเวทีระหว่างประเทศ

2. คณะทำงานฯ ได้รับการจัดสรรเงินอุดหนุนโครงการจากกองทุนเอเปคค่อนข้างจำกัด ขณะที่โครงการความร่วมมือมีจำนวนมากขึ้นทุกปี เขตเศรษฐกิจจะต้องสมัครใจจัดตั้งงบประมาณรัฐบาลสมทบทุกโครงการ ดังนั้น กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจึงได้กำหนดให้การจัดงานเทศกาลวิทยาศาสตร์ฯ ครั้งที่ 4 เป็นโครงการเฉพาะกิจ และจะต้องจัดส่งคำของบประมาณสมทบจากรัฐบาลไทย จำนวน 15,000,000 บาท ภายในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ตามกรอบปฏิทินการจัดทำงบประมาณประจำปี พ.ศ. 2554 ซึ่งโครงการเฉพาะกิจดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ ดังนี้

2.1 ชื่อกิจกรรม “วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี : จากธรรมชาติสู่เทคโนโลยี” (Science and Technology : From Nature to Technology) เพื่อให้ผู้เข้าร่วมกิจกรรมเห็นความสำคัญขององค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์สาขา “ไบโอนิค”

2.2 เป้าหมายของกิจกรรม

1) มีข้อเสนอแนะการขยายความร่วมมือด้านเยาวชนวิทยาศาสตร์เอเปค เพื่อนำไปพัฒนานโยบายและแนวทางการจัดทำโครงการความร่วมมือของคณะทำงานวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมเอเปค

2) ประเทศไทยคงบทบาทนำในการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ โดยมีเยาวชนวิทยาศาสตร์เป็นกลุ่มเป้าหมายใหม่ในการกระชับความสัมพันธ์ระดับภูมิภาค

3) มีเครือข่ายเยาวชนวิทยาศาสตร์เอเปคจำนวน 300 คน ที่ได้รับการส่งเสริมให้คิดค้นอย่างถูกวิธี เข้มข้นและสามารถพัฒนาเป็นนักวิทยาศาสตร์ และนักธรรมชาติวิทยาที่มีคุณภาพในอนาคต

4) มีเครือข่ายครูวิทยาศาสตร์เอเปค จำนวน 100 คน

2.3 วัตถุประสงค์ :

1) เพื่อให้เยาวชนมีเวทีประชุมหารือเพื่อจัดทำกลยุทธ์การพัฒนาขีดความสามารถ (capacity building) ที่คำนึงถึงการแก้ไขปัญหาวิกฤตโลกและนำไปกำหนดนโยบายคณะทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่ออุตสาหกรรมเอเปค และส่งผลต่อนโยบายด้านเศรษฐกิจและวิชาการเอเปค (ECOTECH) ที่มุ่งเน้นเป้าหมายและวิธีดำเนินการระยะยาว

2) เพื่อสร้างภาพลักษณ์ประเทศไทยที่มีโครงสร้างพื้นฐานส่งเสริมงานวิจัยครบวงจร โดยเห็นความสำคัญของการสร้างเยาวชนวิทยาศาสตร์ที่จะได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์และการทำงานข้ามวัฒนธรรรม

3) เพื่อดำเนินงานบูรณาการใหม่ด้านเยาวชนระหว่างกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงการต่างประเทศ ซึ่งสร้างเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้ ค้นคว้า ประดิษฐ์คิดค้น และสร้างงานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทั้งระดับชาติและระดับภูมิภาค

4) เพื่อประเทศไทยและเขตเศรษฐกิจเอเปคได้พัฒนาแนวคิดสร้างสรรค์ในการจัดกิจกรรมวิทยาศาสตร์ เพื่อให้เยาวชนได้ทำงานตามศักยภาพสูงสุดของตน

5) เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจให้เยาวชนเอเปคมีความตระหนักและเห็นความสำคัญของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีและผลกระทบที่ช่วยแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

2.4 ระยะเวลาดำเนินงาน : ในช่วงเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2554 (ระยะเวลา 7 วัน)

2.5 สถานที่ดำเนินงาน :

1) บ้านวิทยาศาสตร์สิรินธร สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี จังหวัดปทุมธานี

2) พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติวิทยา องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ จังหวัดปทุมธานี

3) การศึกษาดูงานที่สถานีวิจัยสิ่งแวดล้อมสะแกราช สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย จังหวัดนครราชสีมา

2.6 กลุ่มเป้าหมายผู้ได้รับผลประโยชน์ : ผู้เข้าร่วมงาน จำนวน 1,000 คน ได้แก่ ครู นักเรียน นักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ผู้ประสานงาน คณะทำงานฯ ของประเทศไทยและจาก 20 เขตเศรษฐกิจ

2.7 วิธีการคัดเลือกเยาวชน : หน่วยงานรับผิดชอบในเขตเศรษฐกิจจะทำการคัดเลือกนักเรียนภายในประเทศ โดยมีหลักเกณฑ์ ดังนี้

1) นักเรียนที่สนใจและมีความคิดสร้างสรรค์ทางวิทยาศาสตร์ อายุ 15 — 18 ปี

2) มีประสบการณ์การทดลอง การประดิษฐ์ทางวิทยาศาสตร์

3) สามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารได้ดี

2.8 งบประมาณ :

งบประมาณรัฐบาลไทย จำนวน 15,000,000 บาท งบประมาณสมทบกองทุนเอเปค จำนวน 3,400,000 บาท

ทั้งนี้ งบประมาณที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจะเสนอขอรับจัดสรรจากกองทุนกลางเอเปค เป็นค่าใช้จ่ายเกี่ยวกับการเดินทาง ค่าตอบแทน ค่าที่พักสำหรับวิทยากรรับเชิญที่มีชื่อเสียงระดับโลก ค่าตอบแทนที่ปรึกษาโครงการ นักวิจัย (ยกเว้นเจ้าหน้าที่รัฐบาลไทย)

ต่อมากระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีได้แจ้งผลการพิจารณาของกระทรวงศึกษาธิการ (สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ) และกระทรวงการต่างประเทศ (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) โดยสรุปดังนี้

(1) กระทรวงศึกษาธิการ (สำนักความสัมพันธ์ต่างประเทศ) เห็นว่า การดำเนินโครงการดังกล่าวเป็นการริเริ่มที่สำคัญของประเทศไทยในการพัฒนาศักยภาพและความสามารถของเยาวชนไทยในด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีให้สามารถก้าวสู่เวทีโลก จึงมีความยินดีให้การสนับสนุนการเข้าร่วมดำเนินโครงการดังกล่าว ทั้งนี้ ขอให้มีการประสานงานหารือในรายละเอียดร่วมกันต่อไป

                 (2) กระทรวงการต่างประเทศ (กรมเศรษฐกิจระหว่างประเทศ) เห็นว่า การจัดงานเทศกาลวิทยาศาสตร์ฯ น่าจะเป็นประโยชน์ต่อการส่งเสริมความร่วมมือด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีในกรอบเอเปคและยินดีให้การสนับสนุนการจัดงานดังกล่าว อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเอเปคประสบปัญหาเงินทุนมีจำนวนจำกัด ดังนั้น โครงการเฉพาะกิจที่ขอเงินสนับสนุนมากกว่า 100,000 ดอลลาร์สหรัฐ จะได้รับการอนุมัติต่อเมื่อได้รับการจัดอันดับในลำดับต้นจากคณะทำงานที่เกี่ยวข้องเท่านั้น กระทรวงการต่างประเทศจึงขอให้กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีดำเนินการโน้มน้าวเขตเศรษฐกิจสมาชิกเอเปคอื่น ๆ เพื่อให้การสนับสนุนโครงการดังกล่าวก่อนเสนอร่างโครงการเข้ารับการพิจารณาอย่างเป็น         ทางการต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ