ร่างความตกลงมาตรการริเริ่มเชียงใหม่ไปสู่การเป็นพหุพาคี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday January 27, 2010 17:20 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอทั้ง 3 ข้อ ดังนี้

1. เห็นชอบความตกลง CMIM และอนุมัติการลงนามในความตกลง CMIM และนำเสนอความตกลงดังกล่าวเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบเพื่อให้ความตกลงดังกล่าวมีผลใช้บังคับต่อไป

2. มอบหมายให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน เป็นผู้ลงนามในความตกลงฯ และหนังสือแนบท้ายความตกลงฯ และมอบหมายให้เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาลงนามในหนังสือให้ความเห็นทางกฎหมาย (Legal Opinion) เมื่อขอรับความช่วยเหลือ ทั้งนี้ หากมีความจำเป็นต้องปรับปรุงแก้ไขถ้อยคำที่มิใช่สาระสำคัญในความตกลงดังกล่าว ให้ผู้ลงนามสามารถใช้ดุลยพินิจในเรื่องนั้นๆ ได้ โดยไม่ต้องนำเสนอคณะรัฐมนตรีและรัฐสภาเพื่อพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

3. มอบหมายให้กระทรวงการต่างประเทศจัดทำหนังสือมอบอำนาจเต็ม (Full Powers) ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังหรือผู้แทน และผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทยหรือผู้แทน เป็นผู้ลงนามในความตกลงฯ ดังกล่าว

ข้อเท็จจริง

1. ในการประชุม AFMM+3 เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2552 ณ เกาะบาหลี ประเทศอินโดนีเซีย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ได้มีมติเห็นชอบองค์ประกอบหลักของการจัดตั้ง CMIM โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกสำคัญของภูมิภาคในการรองรับความผันผวนทางการเงินของกลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น ซึ่งถือเป็นส่วนที่เข้ามาเสริมความช่วยเหลือทางด้านการเงินที่ได้รับจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ โดยประเทศสมาชิกที่ร่วมจัดตั้งมีสิทธิเบิกถอนความช่วยเหลือจาก CMIM เพื่อสร้างฐานะทุนสำรองระหว่างประเทศของตนได้ในยามฉุกเฉิน

2. ประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ได้ร่วมกันจัดทำร่างความตกลง CMIM เสร็จสมบูรณ์แล้ว ซึ่งร่างความตกลงฯ มีสาระสำคัญตามหลักการสำคัญที่ที่ประชุม AFMM+3 และรัฐสภาของไทยให้ความเห็นชอบ โดยมีบทบัญญัติสอดคล้องกับกฎหมายภายในประเทศของประเทศสมาชิกอาเซียน+3 ทั้งนี้ ในส่วนของประเทศไทย เนื่องจากความตกลงดังกล่าวเป็นสัญญาระหว่างประเทศที่ผูกพันรัฐ และประเทศไทยจะต้องผูกพันการลงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศใน CMIM จำนวน 4.77 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ดังนั้น การลงนามในความตกลงดังกล่าวจึงจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและจากรัฐสภา ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 หมวด 9 มาตรา 190

สาระสำคัญของร่างความตกลงฯ CMIM

1. ความตกลง CMIM เป็นสัญญาความตกลงพหุภาคีในการแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศสมาชิกอาเซียน+3 (รวมฮ่องกง) โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นกลไกความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาค (Regional Financing Arrangement) ในการเสริมสภาพคล่องระหว่างกันในกรณีที่ประสบปัญหาดุลการชำระเงินหรือขาดสภาพคล่องในระยะสั้น และเป็นส่วนเสริมความช่วยเหลือด้านการเงินที่ได้รับจากองค์กรการเงินระหว่างประเทศ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังอาเซียน+3 ของสมาชิก 13 ประเทศ และผู้ว่าการธนาคารกลาง 14 แห่ง (รวมฮ่องกง) จะร่วมลงนามในความตกลงดังกล่าว โดยความตกลงฯ จะมีผลบังคับใช้ภายใน 90 วันหลังจากที่กลุ่มประเทศ+3 ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ และประเทศสมาชิกอาเซียนอย่างน้อย 5 ประเทศได้ลงนามในความตกลงฯ แล้ว

2. องค์ประกอบสำคัญของความตกลง CMIM มีดังนี้

(1) ขนาดและสัดส่วนของ CMIM

ประเทศสมาชิกได้กำหนดวงเงินไว้ที่ 120 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยมีสัดส่วนวงเงินสมทบของประเทศสมาชิกอาเซียนในสัดส่วนร้อยละ 20 หรือเท่ากับ 24 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ในขณะที่กลุ่มประเทศ +3 (รวมฮ่องกง) มีวงเงินสมทบในสัดส่วนร้อยละ 80 ของ CMIM หรือเท่ากับ 96 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ทั้งนี้ ประเทศไทยมีวงเงินสมทบใน CMIM เท่ากับ 4.77 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ

(2) รูปแบบการสมทบเงินใน CMIM

ผู้ว่าการธนาคารกลางจะลงนามในหนังสือยืนยันการสมทบเงิน (Commitment Letter) เพื่อยืนยันการสมทบเงินตามวงเงินที่ผูกพันของแต่ละประเทศ โดยจะมีผลเป็นเพียงภาระผูกพันเนื่องจากยังไม่มีการโอนกรรมสิทธิ์ในเงินสำรองระหว่างประเทศ ทั้งนี้ เมื่อมีการอนุมัติการเบิกถอนวงเงินความช่วยเหลือ จึงจะเกิดธุรกรรมแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ (Currency Swap) ระหว่างประเทศที่ขอรับความช่วยเหลือ (Requesting Country) และประเทศที่ให้ความช่วยเหลือ (Providing Countries)

(3) วงเงินเบิกถอนความช่วยเหลือ

  • กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนใหญ่ 5 ประเทศ (อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ และไทย) และฮ่องกงสามารถเบิกถอนวงเงินความช่วยเหลือได้ 2.5 เท่าของวงเงินสมทบ
  • กลุ่มประเทศสมาชิกอาเซียนเล็ก 5 ประเทศ (บรูไน กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม) สามารถเบิกถอนวงเงินความช่วยเหลือได้ 5 เท่าของวงเงินสมทบ
  • ประเทศเกาหลีใต้ สามารถเบิกถอนวงเงินความช่วยเหลือได้ 1 เท่า ของวงเงินสมทบ
  • จีนและญี่ปุ่น สามารถเบิกถอนวงเงินความช่วยเหลือได้ 0.5 เท่าของวงเงินสมทบ

ทั้งนี้ ในกรณีที่สมาชิกไม่ได้เข้าร่วมในโครงการขอรับความช่วยเหลือทางการเงินของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF Programme) จะสามารถเบิกถอนได้ไม่เกิน ร้อยละ 20 ของวงเงินความช่วยเหลือ

(4) รูปแบบและระยะเวลาการเบิกถอนวงเงินความช่วยเหลือ (Maturity)

การขอรับความช่วยเหลือจาก CMIM จะต้องได้รับอนุมัติโดยคะแนนเสียงส่วนใหญ่ 2 ใน 3 จากที่ประชุมเจ้าหน้าที่อาวุโสกระทรวงการคลังและธนาคารกลาง และเบิกถอนในรูปธุรกรรมการแลกเปลี่ยนเงินเหรียญ สหรัฐฯ และเงินสกุลท้องถิ่นของประเทศสมาชิก (Swap) อายุ 90 วัน ทั้งนี้ ในกรณีที่ผู้ขอรับความช่วยเหลือเข้าโครงการเงินกู้ของกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) จะสามารถต่ออายุธุรกรรม swap ได้ 7 ครั้ง (รวม 2 ปี) แต่กรณีที่ไม่ได้เข้าโครงการเงินกู้ของ IMF จะขอความช่วยเหลือได้ร้อยละ 20 ของสิทธิเบิกถอนและต่ออายุได้ 3 ครั้ง (รวมเวลา 1 ปี)

(5) ขั้นตอนการเบิกถอนวงเงินความช่วยเหลือ

ประเทศผู้ขอรับความช่วยเหลือจะต้องแจ้งให้ประเทศผู้ประสานงาน (Coordinating Countries) ทราบความจำนงในการขอรับความช่วยเหลือ โดยประเทศผู้ประสานงานจะต้องประสานเรื่องมายังประเทศสมาชิก โดยประเทศผู้ขอความช่วยเหลือจะต้องจัดเตรียมเอกสาร และดำเนินการตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยจะต้องผ่านการพิจารณาให้ความเห็นชอบจากประเทศสมาชิก ทั้งนี้ ประเทศสมาชิกที่มีแนวโน้มประสบปัญหาสภาพคล่องหรือฐานะดุลการชำระเงินหรือมีเหตุผลความจำเป็นอื่น สามารถขอถอนตัวเพื่อไม่ร่วมให้เงินช่วยเหลือได้ ตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนที่กำหนดไว้ ทั้งนี้ ขั้นตอนการดำเนินการทั้งสิ้นจะใช้เวลาไม่เกิน 2 สัปดาห์

3. หนังสือแนบท้ายความตกลงฯ ที่ต้องมีการลงนามเพิ่มเติม ประกอบด้วย

(1) หนังสือยืนยันการสมทบเงิน (Commitment Letter) เพื่อยืนยันการสมทบเงินใน CMIM ตามวงเงินที่ผูกพันของแต่ละประเทศ ลงนามโดยผู้ว่าการธนาคารกลางในวันที่มีผลบังคับใช้ (Effective Date) ของ CMIM

(2) หนังสือรับทราบการขอรับความช่วยเหลือ (Letter of Acknowledgement)และหนังสือยืนยันการปฏิบัติตามเงื่อนไขของความตกลงฯ (Letter of Undertaking) ลงนามโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง และหนังสือให้ความเห็นทางกฎหมาย (Legal Opinion) ลงนามโดยเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาเมื่อขอรับความช่วยเหลือ

ความเห็นกระทรวงการคลัง

กระทรวงการคลังขอเรียนว่า ในการลงนามในความตกลง CMIM ของประเทศไทยจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและจากรัฐสภา ตามมาตรา 190 หมวด 9 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ. 2550 เนื่องจากความตกลงดังกล่าว เป็นสัญญาระหว่างประเทศที่ผูกพันรัฐ และประเทศไทยจะต้องผูกพันการลงเงินทุนสำรองระหว่างประเทศใน CMIM จำนวน 4.77 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ซึ่งการผูกพันวงเงินดังกล่าวจำเป็นต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีและจากรัฐสภาตามที่กำหนดในรัฐธรรมนูญฯ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 26 มกราคม 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ