ร่างพระราชบัญญัติขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 3, 2010 09:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติขั้นตอนและวิธีการจัดทำหนังสือสัญญา พ.ศ. .... ซึ่งได้แก้ไขตามมติคณะรัฐมนตรีแล้ว ตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา แล้วนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดนิยามคำว่า “หนังสือสัญญา” หมายความว่า ความตกลงเป็นหนังสือระหว่างรัฐบาลไทยหรือ ราชอาณาจักรไทย กับรัฐบาลต่างประเทศ รัฐต่างประเทศหรือองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งก่อให้เกิดพันธกรณีภายใต้บังคับกฎหมายระหว่างประเทศไม่ว่าจะมีชื่อเรียกว่าอย่างไร (ร่างมาตรา 3)

2. กำหนดให้การจัดทำหนังสือสัญญาตามมาตรา 190 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย อันได้แก่หนังสือสัญญาดังต่อไปนี้ ต้องดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้

2.1 หนังสือสัญญาที่มีบทเปลี่ยนแปลงอาณาเขตไทย หรือเขตพื้นที่นอกอาณาเขตซึ่งประเทศไทย มีสิทธิอธิปไตยหรือมีเขตอำนาจตามหนังสือสัญญาหรือตามกฎหมายระหว่างประเทศ

2.2 หนังสือสัญญาที่จะต้องออกพระราชบัญญัติเพื่อให้การเป็นไปตามหนังสือสัญญา

2.3 หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันงบประมาณของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ

2.4 หนังสือสัญญาที่มีผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจหรือสังคมของประเทศอย่างกว้างขวาง

2.5 หนังสือสัญญาที่มีผลผูกพันด้านการค้าหรือการลงทุนของประเทศอย่างมีนัยสำคัญ (ร่างมาตรา 4)

3. กำหนดขั้นตอน วิธีการ และหลักการเกณฑ์ในการจัดทำหนังสือสัญญาอื่นที่มิใช่หนังสือสัญญาตามมาตรา 4 ให้เป็นไปตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา (ร่างมาตรา 5)

4. ห้ามมิให้หน่วยงานของรัฐที่มิได้รับมอบอำนาจจากคณะรัฐมนตรีทำความตกลงกับรัฐบาลต่างประเทศ รัฐต่างประเทศ องค์การระหว่างประเทศ หรือหน่วยงานของรัฐต่างประเทศ ให้มีผลเช่นเดียวกับหนังสือสัญญาตามมาตรา 4 (ร่างมาตรา 6)

5. กำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการการจัดทำกรอบการเจรจาเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อนำเสนอรัฐสภาให้ความเห็นชอบก่อนดำเนินการเจรจา การเผยแพร่กรอบเจรจาให้ประชาชนทราบโดยทั่วไปและรับฟังความคิดเห็นของประชาชน การจัดให้มีการศึกษาวิจัย ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นและแนวทางป้องกันแก้ไขดังกล่าว ตลอดจนการเจรจาเพื่อจัดทำหนังสือสัญญา (ร่างมาตรา 7 ถึงร่างมาตรา 14)

6. กำหนดให้คณะรัฐมนตรีต้องเสนอหนังสือสัญญาต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบก่อนการลงนามในกรณีที่หนังสือสัญญามีผลใช้บังคับเมื่อมีการลงนามโดยไม่ต้องแสดงเจตนาให้มีผลผูกพันในภายหลัง และในกรณีมีหนังสือสัญญาที่มีผลใช้บังคับเมื่อมีการแสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน ก่อนแสดงเจตนาให้มีผลดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีเสนอหนังสือสัญญานั้นต่อรัฐสภาเพื่อให้ความเห็นชอบ โดยการเสนอหนังสือสัญญาต่อรัฐสภานี้ให้คณะรัฐมนตรีเผยแพร่ รายละเอียดของหนังสือสัญญาให้ประชาชนทราบตามวิธีการที่กำหนด (ร่างมาตรา 15)

7. กำหนดหลักเกณฑ์การเผยแพร่หนังสือที่มีผลใช้บังคับ การจัดให้มีการศึกษาผลกระทบจากการปฏิบัติตามหนังสือสัญญา รวมทั้งมาตรการแก้ไขหรือการเยียวยาผลกระทบดังกล่าว ตลอดจนการจัดให้มีฐานข้อมูลหนังสือสัญญาเพื่อรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลเกี่ยวกับหนังสือสัญญาฯ (ร่างมาตรา 16 ถึงร่างมาตรา 18)

8. กำหนดบทเฉพาะกาลให้การดำเนินการเพื่อจัดทำหนังสือสัญญาใดที่รัฐบาลไทยหรือราชอาณาจักรไทยยังมิได้แสดงเจตนาให้มีผลผูกพัน ให้ดำเนินการต่อไปตามพระราชบัญญัตินี้ และให้ถือว่าการดำเนินการที่ได้ทำไปแล้วเป็นการดำเนินการตามพระราชบัญญัตินี้แล้ว (ร่างมาตรา 19)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ