ร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 3, 2010 09:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนนำเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ข้อเท็จจริง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาแจ้งว่า

1. ได้ตรวจพิจารณาร่างพระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามมติคณะรัฐมนตรี (18 สิงหาคม 2552) เสร็จแล้ว ซึ่งสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (สำนักงาน ป.ป.ช.) เห็นชอบด้วยแล้ว และกระทรวงยุติธรรมเห็นด้วย แต่มีข้อสังเกตในร่างมาตรา 3 ว่า การแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติดังกล่าวตามร่างมาตรา 3 จะมีผลให้คณะกรรมการป้องกันและ ปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (คณะกรรมการ ป.ป.ท.) ไม่อาจรับเรื่องกล่าวหาที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วเกิน 10 ปี ไว้ไต่สวนข้อเท็จจริงและชี้มูลได้แม้ว่าจะมีพยานหลักฐานเพียงพอและเมื่อไม่อยู่ในอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการ ป.ป.ท. พระราชบัญญัติมาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ. 2551 มาตรา 30 และมาตรา 31 ได้กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. ส่งเรื่องกลับไปยังพนักงานสอบสวนเพื่อดำเนินการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญาต่อไป ในขณะที่หลักการของการสอบสวนคดีอาญานั้น พนักงานสอบสวนสามารถ ดำเนินการสอบสวนคดีอาญาได้ภายใต้อายุความตามประมวลกฎหมายอาญา จึงเห็นว่า โดยหลักการแล้วคณะกรรมการ ป.ป.ท. ควรจะมีอำนาจไต่สวนข้อเท็จจริงคดีของเจ้าหน้าที่ของรัฐทุจริตได้ภายใต้อายุความตามประมวลกฎหมายอาญา เช่นเดียวกับการสอบสวนของพนักงานสอบสวน

2. สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาเห็นว่า การกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. กล่าวหาเจ้าหน้าที่ได้ โดยไม่จำกัดระยะเวลาย่อมก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมกับเจ้าหน้าที่ของรัฐทุกฝ่าย จึงให้คงบทบัญญัติในมาตรา 26 (4) ไว้ แต่ได้แก้ไขเพิ่มเติมถ้อยคำในอนุมาตรานี้ โดยกำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอำนาจดำเนินการกับเรื่องที่มีผู้กล่าวหาในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วไม่เกินห้าปีได้ เว้นแต่กรณีที่คณะกรรมการ ป.ป.ท.จะเห็นว่ามีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงต่อไป ก็ให้เริ่มดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงภายในสิบปีนับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐ ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับการแก้ไขเพิ่มเติมในร่างมาตรา 75 และร่างมาตรา 84 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ดังนั้น จึงมิได้มีการแก้ไขร่างมาตรา 3 ตามข้อสังเกตของกระทรวงยุติธรรม

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอำนาจรับหรือพิจารณาเรื่องที่มีผู้กล่าวหาในขณะที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้วไม่เกิน 5 ปี เว้นแต่มีพยานหลักฐานเพียงพอที่จะดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงได้แต่ต้องเริ่มดำเนินการภายใน 10 ปี นับแต่วันที่ผู้ถูกกล่าวหาพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐได้ (ร่างมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 26 (4))

2. กำหนดระยะเวลาในการดำเนินการไต่สวนข้อเท็จจริงและการมีมติของคณะกรรมการ ป.ป.ท. ต้องกระทำให้แล้วเสร็จภายในระยะเวลาตามระเบียบที่คณะกรรมการ ป.ป.ท. กำหนด (ร่างมาตรา 4 เพิ่มเติมมาตรา 40/1)

3. กำหนดให้คณะกรรมการ ป.ป.ท. มีอำนาจดำเนินการต่อไปได้ แม้ภายหลังเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้ถูกกล่าวหาจะพ้นจากการเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐไปแล้ว (ร่างมาตรา 5 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 50 วรรคหนึ่ง)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ