ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 3, 2010 09:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา แล้วเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย พ.ศ. .... มีสาระสำคัญโดยบัญญัติเกี่ยวกับหลักเกณฑ์ วิธีการและขั้นตอนการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติ แล้วให้นำไปใช้กับการเข้าชื่อเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยอนุโลม ดังนี้

1. วิธีการเข้าชื่อ

1.1 กำหนดให้ผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งอยู่ในวันที่ยื่นคำร้องขอต่อประธานรัฐสภา กรณีการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อรวมกันไม่น้อยกว่า 10,000 คน และกรณีการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมีผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อรวมกันไม่น้อยกว่า 50,000 คน (ร่างมาตรา 5)

1.2 การเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต่อประธานรัฐสภา ต้องมีผู้ริเริ่มซึ่งเป็นผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่น้อยกว่า 20 คน โดยแจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบเป็นหนังสือพร้อมด้วยร่างพระราชบัญญัติและบันทึกประกอบร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมและบันทึกประกอบร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม และรายชื่อของผู้ริเริ่มพร้อมด้วยสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้ และมีหมายเลขประจำตัวประชาชนของผู้นั้น เมื่อได้แจ้งให้ประธานรัฐสภาทราบเกี่ยวกับการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญแล้ว หากผู้ริเริ่มประสงค์ที่จะแก้ไขร่างพระราชบัญญัติหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวก็สามารถกระทำได้จนกระทั่งก่อนที่ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงลายมือชื่อเข้าร่วมเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขเพิ่มเติม ทั้งนี้ ผู้ริเริ่มต้องจัดส่งร่างพระราชบัญญัติหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมและบันทึกประกอบที่แก้ไขใหม่นั้นแก่ประธานรัฐสภาพร้อมหนังสือแจ้งด้วย อนึ่ง ในกรณีที่ผู้ริเริ่มประสงค์จะเสนอร่างพระราชบัญญัติในเรื่องใดหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม แต่ยังไม่อาจจัดทำร่างหรือเห็นว่าร่างที่จะเสนอนั้นยังไม่เป็นไปตามหลักการ หรือสาระสำคัญที่ต้องการเสนอ ผู้ริเริ่มนั้นจะให้สำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรในฐานะหน่วยงานที่ดูแลเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติต่าง ๆ ที่ต้องนำเสนอต่อสภาผู้แทนราษฎร ช่วยเหลือในการยกร่างหรือปรับปรุงร่างพระราชบัญญัติ หรือร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมให้ก่อนที่จะแจ้งประธานรัฐสภาก็ได้ (ร่างมาตรา 6 และร่างมาตรา12)

2. การรวบรวมรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง

2.1 ผู้ริเริ่มสามารถดำเนินการชักชวนผู้มีสิทธิเลือกตั้งเพื่อเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวได้ และเอกสารการลงลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งทุกแผ่นต้องปรากฏข้อความให้ผู้ลงลายมือชื่อได้ทราบว่าเป็นการลงลายมือชื่อเพื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติใดหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญในเรื่องใด สถานที่ในการตรวจสอบร่างพระราชบัญญัติหรือร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติม พร้อมทั้งรายละเอียดเกี่ยวกับผู้ลงลายมือชื่อ ได้แก่ ชื่อตัวและชื่อสกุล และหมายเลขประจำตัวประชาชน รวมทั้งต้องแนบสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน บัตรประจำตัวประชาชนที่หมดอายุ หรือบัตรหรือหลักฐานอื่นใดของทางราชการหรือหน่วยงานของรัฐที่มีรูปถ่ายสามารถแสดงตนได้ และมีหมายเลขประจำตัวประชาชนของผู้นั้น (ร่างมาตรา 7)

2.2 ในกรณีที่มีผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมกันเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติได้จำนวนไม่น้อยกว่าหนึ่งหมื่นคนหรือกรณีการเสนอญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญจำนวนไม่น้อยกว่าห้าหมื่นคน ให้ผู้ริเริ่มยื่นคำร้องขอต่อประธานรัฐสภา พร้อมทั้งเอกสารหลักฐานตามที่กำหนด (ร่างมาตรา 9)

3. การตรวจสอบรายชื่อของผู้มีสิทธิเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ

3.1 เมื่อประธานรัฐสภาตรวจสอบเอกสารแล้วปรากฏว่ามีลายมือชื่อของผู้มีสิทธิเลือกตั้งไม่ถึงหนึ่งหมื่นคน หรือไม่ถึงห้าหมื่นคน แล้วแต่กรณีหรือมีเอกสารไม่ถูกต้อง ให้ประธานรัฐสภามีอำนาจแจ้งเป็นหนังสือเพื่อคืนเรื่องไปยังผู้ริเริ่มเพื่อดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วน หากประธานรัฐสภาเห็นว่าถูกต้องครบถ้วนแล้วต้องจัดให้มีการประกาศรายชื่อ ผู้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญทางสื่อเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานเลขาธิการสภาผู้แทนราษฎร (เว็บไซต์) และจัดเอกสารไว้ให้ประชาชนตรวจสอบด้วย (ร่างมาตรา 10 วรรคหนึ่ง)

3.2 ให้กรณีผู้มีชื่อเป็นผู้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ เห็นว่าตนมิได้เข้าร่วมลงชื่อด้วย ให้มีสิทธิยื่นคำร้องคัดค้านเพื่อให้ขีดฆ่าชื่อของตนออกต่อประธานรัฐสภาหรือผู้ที่ประธานรัฐสภาแต่งตั้งภายในสามสิบวันนับแต่วันประกาศรายชื่อดังกล่าว (ร่างมาตรา 10 วรรคสอง) แต่หากพ้นระยะเวลาคัดค้านแล้วให้ถือว่ารายชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญเป็นรายชื่อที่ถูกต้อง และหากปรากฏว่ามีลายมือชื่อไม่ถึงหนึ่งหมื่นคนหรือไม่ถึงห้าหมื่นคน แล้วแต่กรณี ให้ประธานรัฐสภาแจ้งเป็นหนังสือให้ผู้ริเริ่มทราบเพื่อจัดให้มีการเข้าชื่อเพิ่มเติมภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้ง และหากผู้ริเริ่มไม่ดำเนินการหรือไม่อาจจัดให้มีการเข้าชื่อเพิ่มเติมจนครบจำนวนภายในระยะเวลาดังกล่าวได้ ให้ประธานรัฐสภาแจ้งเป็นหนังสือ เพื่อจำหน่ายเรื่องต่อไป (ร่างมาตรา 11 วรรคหนึ่ง และวรรคสอง)

4. การตรวจสอบหลักการและเนื้อหาของร่างพระราชบัญญัติที่จะเสนอให้รัฐสภาพิจารณาได้ ต้องเป็นร่างพระราชบัญญัติที่มีหลักการเกี่ยวกับสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยหรือแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ร่างมาตรา 8 วรรคหนึ่ง) สำหรับญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญต้องมิใช่กรณีที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ (ร่างมาตรา 12 วรรคหนึ่ง)

5. บทกำหนดโทษ กำหนดความผิดและอัตราโทษสำหรับความผิดฐานให้ ขอให้ หรือรับว่าจะให้ทรัพย์สินหรือประโยชน์อื่นใดแก่ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง เพื่อจูงใจให้บุคคลดังกล่าวริเริ่มเข้าชื่อหรือร่วมลงชื่อเสนอกฎหมาย และความผิดฐานหลอกลวง บังคับ ขู่เข็ญ หรือใช้อิทธิพลคุกคามเพื่อให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งร่วมลงชื่อในการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย เพื่อเป็นบทลงโทษกรณีที่มีการกระทำในลักษณะที่ทำให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยมิได้เป็นไปโดยความสมัครใจ นอกจากนั้น ยังกำหนดความผิดฐานปลอมลายมือชื่อ ใช้ หรืออ้างลายมือชื่อปลอมนั้น เพื่อให้ผู้อื่นหลงเชื่อว่าเป็นลายมือชื่อของผู้เข้าชื่อเสนอกฎหมายที่แท้จริง (ร่างมาตรา 13 และร่างมาตรา 14)

6. ผู้รักษาการตามพระราชบัญญัติ กำหนดให้ประธานรัฐสภารักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ เนื่องจากการเข้าชื่อเสนอร่างพระราชบัญญัติหรือญัตติขอแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญของผู้มีสิทธิเลือกตั้ง การตรวจสอบการเข้าชื่อเสนอกฎหมายเป็นกระบวนการทางนิติบัญญัติ (ร่างมาตรา 15)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ