ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 2/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 3, 2010 11:29 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ (รศก.)ครั้งที่ 2/2553 ตามที่เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ กรรมการและเลขานุการ คณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ เสนอ ทั้ง 4 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการ รศก. ครั้งที่ 2/2553

2. เห็นควรกำหนดเป็นหลักการสำหรับการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมของรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้าและกลุ่มสื่อสารในระยะต่อไป ให้คำนึงถึงความเป็นไปได้ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว เพื่อลดภาระการลงทุนและความซ้ำซ้อนของระบบ หากพื้นที่ใดสามารถใช้โครงข่ายร่วมกันได้ ควรพิจารณาการเช่าใช้โครงข่ายดังกล่าวเป็นลำดับแรก รวมทั้งคำนึงถึงความสามารถในการลงทุนและความต้องการตามกลไกตลาดด้วย

3. มอบหมายกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พิจารณาข้อเท็จจริง และสภาพปัญหาที่ทำให้อัตราการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) ของประชาชนในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ และแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง

4. มอบหมายกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เร่งพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม

สาระสำคัญของผลการประชุมคณะกรรมการ รศก. ดังนี้

1. การแก้ไขมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 17/2552 เรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระหว่างภาคเอกชน กับบมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท. โทรคมนาคม

1.1 สาระสำคัญ

1.1.1 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 รับทราบและเห็นชอบมติการประชุมคณะกรรมการ รศก. ครั้งที่ 17/2552 ตามที่ฝ่ายเลขานุการเสนอ และต่อมาปลัดกระทรวงการคลังได้ขอแก้ไขมติดังกล่าวในเรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระหว่างภาคเอกชน กับ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท. โทรคมนาคม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2552 รับทราบการแก้ไขมติดังกล่าวตามความเห็นของปลัดกระทรวงการคลัง

1.1.2 เมื่อวันที่ 18 มกราคม 2553 กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ขอยืนยันมติที่ประชุมคณะกรรมการ รศก. ครั้งที่ 17/2552 เรื่องแนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระหว่างภาคเอกชน กับ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท. โทรคมนาคม ซึ่งคณะรัฐมนตรีได้เห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 เนื่องจากขั้นตอนปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 มีความแตกต่างกันกับแนวทางปฏิบัติที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยขอให้ใช้ข้อความตามมติเดิม ดังนี้ “มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทาน ของ บมจ. ทีโอที และ บมจ. กสท ตามแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ที่คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยไว้แล้วอย่างเคร่งครัด โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอผลการดำเนินงานดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 90 วัน ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาดำเนินงานตามความเหมาะสมต่อไป”

1.2 มติที่ประชุม

เห็นชอบการปรับแก้มติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 17/2552 วันที่ 2 ธันวาคม 2552 เรื่อง แนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานระหว่างภาคเอกชน กับบมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท. โทรคมนาคม ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ โดยให้ใช้ข้อความตามมติเดิมที่คณะรัฐมนตรีเห็นชอบเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 ดังนี้ “มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร กำกับการดำเนินการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทาน ของ บมจ.ทีโอที และ บมจ. กสท ตามแนวทางปฏิบัติตามพระราชบัญญัติว่าด้วยการให้เอกชนเข้าร่วมงานฯ พ.ศ. 2535 ที่ คณะกรรมการกฤษฎีกาวินิจฉัยไว้แล้วอย่างเคร่งครัด โดยให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอผลการดำเนินงานดังกล่าวให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาภายใน 90 วัน ทั้งนี้ หากไม่สามารถดำเนินการได้ทันให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารรายงานคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาขยายระยะเวลาดำเนินงานตามความเหมาะสมต่อไป”

2. แนวทางการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้าและกลุ่มสื่อสาร

สืบเนื่องจากคณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 รับทราบและเห็นชอบผลการประชุมคณะกรรมการกำกับนโยบายด้านรัฐวิสาหกิจ (กนร.) ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 27 เมษายน 2552 ที่มอบหมายให้กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พิจารณาวางกรอบการลงทุนในอนาคตของ บมจ.ทีโอที จำกัด มหาชน (บมจ.ทีโอที) และ บมจ.กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) (บมจ กสท) ให้ชัดเจนและไม่ดำเนินการที่ซ้ำซ้อนกัน โดยร่วมกันจัดทำแผนธุรกิจในลักษณะพันธมิตรภายใต้กฎระเบียบ การแข่งขันที่เป็นธรรมตามที่คณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) กำหนด นั้น กระทรวงการคลังจึงได้เสนอเรื่องดังกล่าวให้คณะกรรมการ รศก. พิจารณา โดยสรุปได้ดังนี้

2.1 สาระสำคัญ

2.1.1 สถานะปัจจุบัน

1) การขยายบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูงของประเทศไทยยังต่ำเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาค ทั้งนี้ ผลการวิจัยของธนาคารโลกบ่งชี้ว่า การขยายตัวของจำนวนผู้ใช้ Broadband Internet ในอัตราร้อยละ 10 จะส่งผลให้การเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศเพิ่มขึ้นร้อยละ 1.38 ซึ่งรัฐบาลในหลายประเทศทั่วโลกให้ความสำคัญอย่างสูงในการขยายบริการ Broadband Internet เพื่อให้เกิดประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมของประเทศ ขณะที่ประเทศไทย ยังให้บริการ Internet ไม่ทั่วถึง เกิดช่องว่างการเข้าถึงสารสนเทศของประชาชน ประกอบกับการลงทุนโครงข่ายใช้เงินจำนวนมาก ซึ่งเอกชนจะลงทุนเฉพาะพื้นที่ที่มีกำไรหากปล่อยให้เอกชนดำเนินการฝ่ายเดียวจะทำให้บริการไม่ครอบคลุมทั่วถึง

2) ปัจจุบัน บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท เป็นหน่วยงานหลักของภาครัฐที่ให้บริการ Broadband Internet ให้ทั่วถึงตามนโยบายรัฐบาล โดยมีการลงทุนอย่างต่อเนื่อง ในขณะที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) มีโครงข่ายเคเบิลใยแก้วนำแสง (Fiber Optic) เหลือจากการใช้งานด้านระบบควบคุมในกิจการไฟฟ้าเป็นจำนวนมาก และสามารถใช้ประโยชน์ในการให้บริการโทรคมนาคมได้ โดยมีรายละเอียด ดังนี้

  • แผนการลงทุนเพื่อขยาย Broadband Internet ของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท มีดังนี้ (1) ปี 2552 - 2555 บมจ. ทีโอที จะมีแผนการติดตั้ง Broadband Internet เพิ่มขึ้นจำนวน 2.75 ล้านพอร์ต (2) ปี 2553 - 2555 บมจ. ทีโอที มีโครงการขยายโครงข่าย Broadband IP และโครงการ Next Generation Network (NGN) วงเงินรวม 16,584 ล้านบาท และ (3) ปี 2553 - 2555 บมจ.กสท มีโครงการปรับปรุงประสิทธิภาพโครงข่าย Internet Protocal (IP) เพื่อรองรับการให้บริการ Broadband และ โครงการลงทุน Fiber to the x วงเงินรวม 6,900 ล้านบาท
  • การนำโครงข่าย Fiber Optic ของกิจการไฟฟ้าไปใช้ประโยชน์ในการให้บริการโทรคมนาคม (1) คณะกรรมการกฤษฎีกาได้วินิจฉัยเรื่องเสร็จที่ 340/2549 กรณีที่ กฟผ. ประสงค์จะนำเส้นใยแก้วนำแสงที่เหลือจากการใช้สำหรับระบบการสื่อสารของ กฟผ. ไปหาประโยชน์ว่าสามารถกระทำได้ อย่างไรก็ตาม กฟผ. ไม่สามารถจัดตั้งบริษัท กฟผ. โทรคมนาคม จำกัด เพื่อประกอบกิจการโทรคมนาคมซึ่งเป็นการให้บริการเกี่ยวกับการสื่อสาร โดยไม่เกี่ยวข้องกับการประกอบกิจการไฟฟ้าตามวัตถุประสงค์ของมาตรา 6 แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 ได้ และ (2) ขณะนี้ กฟน. กฟภ. และ กฟผ. ได้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมประเภทที่ 3 จาก กทช. แล้ว และเปิดให้เช่าใช้โครงข่ายและเสาไฟฟ้าบางส่วนแล้ว
  • อย่างไรก็ตาม รัฐวิสาหกิจกลุ่มสื่อสารและกลุ่มไฟฟ้ายังขาดความร่วมมือในการดำเนินการหรือการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อภาครัฐ (Synergy) ดังนั้น หากรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 กลุ่มร่วมมือกันในการใช้โครงข่าย Fiber Optic ที่มีอยู่ให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ก็จะเป็นการประหยัดการลงทุนของภาครัฐได้มาก

2.1.2 ประกาศคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ กทช. ได้ออกประกาศที่เกี่ยวข้องกับเรื่องดังกล่าวจำนวน 3 เรื่อง ได้แก่

1) เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2549 ข้อ 9 ซึ่งมีสาระสำคัญกำหนดว่า การกระทำของผู้รับใบอนุญาตที่มีส่วนแบ่งการตลาดเกินกว่าร้อยละยี่สิบห้าของแต่ละประเภทการบริการ หรือการกระทำอื่นใดของผู้รับใบอนุญาตที่คณะกรรมการประกาศกำหนดให้เป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด ให้ถือว่าเป็นการใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรมอันมีลักษณะเป็นการผูกขาด หรือลด หรือจำกัดการแข่งขันในการให้บริการโทรคมนาคม

2) เรื่อง นิยามของตลาด และขอบเขตตลาดโทรคมนาคม ที่เกี่ยวข้อง พ.ศ. 2551 ข้อ 3 กำหนดให้คณะกรรมการประกาศกำหนดนิยามของตลาดและขอบเขตตลาดที่เกี่ยวข้องตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามประกาศนี้ เพื่อใช้ประกอบในการกำหนดผู้รับใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญและกำหนดมาตรการกำกับดูแลล่วงหน้าในตลาดที่เกี่ยวข้องที่มีการกระทำผูกขาดการแข่งขันหรือใช้อำนาจทางการตลาดที่ไม่เป็นธรรม

3) เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการพิจารณากำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2552 ข้อ 4 กำหนดให้คณะกรรมการ มีอำนาจประกาศกำหนดผู้มีอำนาจเหนือตลาดอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละตลาดที่เกี่ยวข้อง เพื่อกำหนดมาตรการกำกับดูแลล่วงหน้าตามประกาศนี้ หรือเพื่อให้เป็นไปตามประกาศ กทช. เรื่อง มาตรการเพื่อป้องกันมิให้มีการกระทำอันเป็นการผูกขาดหรือก่อให้เกิดความไม่เป็นธรรมในการแข่งขันในกิจการโทรคมนาคม พ.ศ.2549

2.1.3 การดำเนินการของกระทรวงการคลัง สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ได้จัดประชุมเรื่องแนวทางการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้าและกลุ่มสื่อสาร โดยเชิญผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สศช. กทช. กฟผ. กฟน. กฟภ. บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท โดยสรุปความเห็นจากการประชุมได้ ดังนี้

1) หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมดมีความเห็นสอดคล้องกันว่าควรมีความร่วมมือกันระหว่างรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้าและกลุ่มสื่อสาร

2) บมจ.ทีโอที บมจ.กสท กฟผ. กฟน. และ กฟภ. ยินดีให้ความร่วมมือในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน โดยแยกเป็นระดับ Backbone และระดับ Last mile ซึ่งปัจจุบันมีการเช่าใช้โครงข่ายและขอพาดสายอยู่เช่นกัน ทั้งนี้ อัตราค่าเช่าใช้โครงข่ายของการไฟฟ้าต้องมีการพิจารณาให้เหมาะสม

3) กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการพิจารณากรอบการลงทุนในภาพรวมของ บมจ.ทีโอที และ บมจ.กสท เพื่อลดความซ้ำซ้อนของการลงทุนตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 3 มิถุนายน 2552 ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาด้านเทคนิคเพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการใช้ทรัพยากรร่วมกัน

4) ปัจจุบันมีปัญหาการพาดสายบนเสาไฟฟ้าโดยไม่ได้รับอนุญาต และมีสายที่ไม่ได้ใช้งานพาดอยู่จำนวนมากทำให้ไม่เป็นระเบียบ รวมทั้งเสาไฟฟ้ารับน้ำหนักมากเกินและก่อให้เกิดอันตราย จึงควรร่วมมือกันแก้ไขปัญหาให้เกิดความเรียบร้อยและปลอดภัย

5) หากการใช้โครงข่ายร่วมกันของรัฐวิสาหกิจทั้ง 5 แห่งเพื่อเป็น Transport Network โดยไม่กีดกันเอกชนรายใดรายหนึ่งเข้าร่วม ก็จะไม่ขัดต่อประกาศ กทช. อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณารูปแบบความร่วมมือโดยมีความชัดเจนแล้ว และมีความจำเป็นต้องขอยกเว้นกฎเกณฑ์ของ กทช. ก็สามารถเสนอ กทช. พิจารณาได้

2.1.4 ผลกระทบ การใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจทั้ง 2 กลุ่ม จะส่งผลประโยชน์ที่สำคัญ ได้แก่ ลดความซ้ำซ้อนการลงทุนของภาครัฐ และลดช่องว่างการเข้าถึงสารสนเทศของประชาชน (Digital Divide) รวมทั้งหากไม่จำกัดโอกาสของเอกชนในการเช่าใช้โครงข่ายของภาครัฐ ก็จะไม่เป็นการจำกัดการแข่งขันที่จะทำให้ มีผลกระทบต่อการประกอบกิจการโทรคมนาคมของเอกชน

2.2 มติคณะกรรมการ รศก.

2.2.1 รับทราบรายงานแนวทางการใช้ทรัพยากรร่วมกันระหว่างรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้าและกลุ่มสื่อสาร ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ

2.2.2 เห็นควรกำหนดเป็นหลักการสำหรับการพัฒนาโครงข่ายโทรคมนาคมของรัฐวิสาหกิจกลุ่มไฟฟ้าและกลุ่มสื่อสารในระยะต่อไป ให้คำนึงถึงความเป็นไปได้ในการใช้ทรัพยากรที่มีอยู่แล้ว เพื่อลดภาระการลงทุนและความซ้ำซ้อนของระบบ หากพื้นที่ใดสามารถใช้โครงข่ายร่วมกันได้ ควรพิจารณาการเช่าใช้โครงข่ายดังกล่าวเป็นลำดับแรก รวมทั้งคำนึงถึงความสามารถในการลงทุนและความต้องการตามกลไกตลาดด้วย

2.2.3 มอบหมายกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร พิจารณาข้อเท็จจริง และสภาพปัญหาที่ทำให้อัตราการเข้าถึงระบบอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) ของประชาชนในปัจจุบันอยู่ในระดับต่ำ และแนวทางการแก้ไขปัญหาเพื่อให้ประชาชนทั่วไปสามารถเข้าถึงบริการอินเทอร์เน็ตความเร็วสูง (Broadband Internet) ได้อย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง

2.2.4 มอบหมายกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เร่งพิจารณาแนวทางการแก้ไขปัญหาสัญญาสัมปทานในธุรกิจสื่อสารโทรคมนาคม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถแข่งขันได้อย่างเสรีและเป็นธรรม

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ