คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการนโยบายบริการโลหิตแห่งชาติ พ.ศ. 2553 ของสภากาชาดไทย และให้สภากาชาดไทยรับความเห็นของสำนักงบประมาณและสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไปพิจารณาดำเนินการต่อไป
สาระสำคัญของเรื่อง
สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี (สลน.) ได้ส่งเรื่องของสภากาชาดไทยเกี่ยวกับนโยบายบริการโลหิตแห่งชาติ พ.ศ.2553 มาเพื่อสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีดำเนินการ ซึ่งเรื่องดังกล่าวเลขาธิการสภากาชาดไทย (นายแผน วรรณเมธี) ประธานกรรมการปรับปรุงนโยบายงานบริการโลหิตและแนวทางการตรวจคัดกรองโลหิตบริจาคระดับชาติรายงานว่า
1. ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติได้รับมอบงานบริการโลหิตของประเทศไทยจากรัฐบาล ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2508 ให้มีหน้าที่ในการจัดหาโลหิตจากผู้บริจาคที่ไม่หวังสิ่งตอบแทนเพื่อให้มีปริมาณเพียงพอ มีความปลอดภัย และมีคุณภาพสูงสุดเพื่อนำไปใช้รักษาผู้ป่วยทั่วประเทศ และโดยที่ปัจจุบันเทคโนโลยีและนวัตกรรมการตรวจคัดกรองการติดเชื้อในโลหิตได้มีการพัฒนาไปอย่างมาก รวมทั้งความต้องการโลหิตที่เพิ่มขึ้น สภากาชาดไทยและกระทรวงสาธารณสุขจึงแต่งตั้งคณะกรรมการปรับปรุงนโยบายงานบริการโลหิตและแนวทางการตรวจคัดกรองโลหิตบริจาคระดับชาติ ประกอบด้วยเลขาธิการสภากาชาดไทย เป็นประธานกรรมการ รองผู้อำนวยการศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เป็นกรรมการและ เลขานุการ และกรรมการอื่นอีก 33 คน เพื่อดำเนินการปรับปรุงนโยบายด้านงานบริการโลหิตของประเทศไทยให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการงานบริการโลหิตและลดความเสี่ยงต่อการรับโลหิตของผู้ป่วย
2. คณะกรรมการปรับปรุงนโยบายงานบริหารโลหิตฯ ได้มีการประชุม ครั้งที่ 3/2552 เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 เห็นชอบ “นโยบายบริการโลหิตแห่งชาติ พ.ศ. 2553” ทั้งนี้ นโยบายดังกล่าวมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้
2.1 วิสัยทัศน์ งานบริการโลหิตของประเทศได้มาตรฐานสากลและทันสมัย ประชาชนได้รับโลหิต ส่วนประกอบโลหิต และผลิตภัณฑ์โลหิตที่ปลอดภัย มีคุณภาพ และเพียงพอเพื่อการรักษา โดยใช้ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศบริหารจัดการฐานข้อมูล
2.2 พันธกิจ รัฐบาลให้การสนับสนุนงานบริการโลหิตแห่งชาติ ให้ดำเนินการได้อย่างมีมาตรฐานและมีประสิทธิภาพโดยไม่แสวงหาผลประโยชน์และให้ศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เป็นองค์กรหลักในการดำเนินงานบริการโลหิต รวมทั้งการกำหนดมาตรฐาน การติดตามด้านคุณภาพ และการประเมินการให้บริการโลหิตของประเทศไทย โดยรัฐบาลให้ความสนับสนุนด้านนโยบาย งบประมาณ และอัตรากำลังอย่างเพียงพอ มีกระทรวงสาธารณสุข กระทรวงมหาดไทย กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงกลาโหม รวมทั้งส่วนราชการอื่น ๆ และองค์กรที่เกี่ยวข้องให้ความร่วมมือสนับสนุน
2.3 เป้าประสงค์นโยบาย ได้แก่
2.3.1 เป้าประสงค์นโยบายที่ 1 การบริหารจัดการงานบริการโลหิตของประเทศมีประสิทธิภาพและมีการประสานงานอย่างเป็นเอกภาพ โดยศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เป็นองค์กรหลัก
2.3.2 เป้าประสงค์นโยบายที่ 2 มีโลหิตในปริมาณเพียงพอต่อความต้องการของประเทศ
2.3.3 เป้าประสงค์นโยบายที่ 3 ผู้ป่วยได้รับโลหิตที่ปลอดภัยตามหลักการขององค์การอนามัยโลก โดยเริ่มจากการจัดหาโลหิตในประชากรที่มีความเสี่ยงต่ำ การคัดกรองผู้บริจาคโลหิต และโลหิตทุกยูนิตต้องผ่านการตรวจคัดกรองการติดเชื้อตามมาตรฐานและตรวจความเข้ากันได้ของโลหิตบริจาคกับผู้ป่วย
2.3.4 เป้าประสงค์นโยบายที่ 4 งานบริการโลหิตมีคุณภาพในทุกกระบวนการและทุกระดับ
2.3.5 เป้าประสงค์นโยบายที่ 5 มีการใช้โลหิตอย่างเหมาะสม มีเกณฑ์และแนวปฏิบัติไปในทางเดียวกัน
2.3.6 เป้าประสงค์นโยบายที่ 6 มีกฎ ระเบียบ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับงานบริการโลหิตตามความเหมาะสมและจำเป็น รวมทั้งการบังคับใช้ติดตาม แก้ไข ปรับปรุง ทบทวน กฎระเบียบและกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องเป็นระยะๆ
2.3.7 เป้าประสงค์นโยบายที่ 7 การวิจัยและพัฒนางานบริการโลหิตได้รับการส่งเสริมสนับสนุนอย่างต่อเนื่อง
2.3.8 เป้าประสงค์นโยบายที่ 8 การผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสมาเพื่อใช้รักษาผู้ป่วยได้รับการส่งเสริมและพัฒนาเพื่อลดการนำเข้าจากต่างประเทศ โดยมีศูนย์บริการโลหิตแห่งชาติ สภากาชาดไทย เป็นองค์กรหลัก
2.3.9 เป้าประสงค์นโยบายที่ 9 บริการเซลล์ต้นกำเนิด เม็ดโลหิตจากอาสาสมัครผู้บริจาคเซลล์ต้นกำเนิดให้แก่ผู้ป่วยได้รับการพัฒนาเพื่อมุ่งสู่คุณภาพตามมาตรฐานสากล
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--