การนำเสนอวาระเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน ปี 2553 ต่อคณะรัฐมนตรี

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 3, 2010 13:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบวาระเพื่อการพัฒนาเด็กและเยาวชน ประจำปี 2553 เพื่อขับเคลื่อนประเด็นจังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชนและกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน ตามที่กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์เสนอ ดังนี้

1. รัฐบาลโดยกระทรวงมหาดไทยจะเร่งรัดการดำเนินงานตามแผนยุทธศาสตร์จังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชนให้เกิดผลอย่างทั่วถึงและเป็นรูปธรรม โดยมีตัวชี้วัดการดำเนินงานที่ชัดเจนทั้ง 7 ด้าน ได้แก่ ด้านความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ด้านสุขภาพอนามัย ด้านครอบครัวอบอุ่น ด้านการเรียนรู้ตลอดชีวิต ด้านการมีส่วนร่วม ด้านการคุ้มครองสิทธิเด็ก และด้านความปลอดภัยจากปัจจัยเสี่ยง

2. การจัดให้มีสภาพแวดล้อมที่ดีต่อเด็กและเยาวชน ตามตัวชี้วัดจังหวัดน่าอยู่และกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน โดยให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) พิจารณาบรรจุเรื่องนี้ไว้ในแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในระดับท้องถิ่น รวมทั้งจัดสรรงบประมาณดำเนินการและรายงานผลความก้าวหน้าเป็นระยะทุกปี

3. รัฐบาลโดยกระทรวงด้านสังคม ได้แก่ กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กระทรวงยุติธรรม กระทรวงแรงงาน กระทรวงวัฒนธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องจะบูรณาการการจัดกิจกรรมและดำเนินการในประเด็นจังหวัดน่าอยู่และกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่อง โดยขอความร่วมมือภาคีเครือข่ายให้การสนับสนุนข้อมูลข่าวสารองค์ความรู้ คำปรึกษาแนะนำในเชิงสร้างสรรค์ ทรัพยากร รวมทั้งพื้นที่และให้สอดคล้องกับความต้องการ รวมทั้งเกิดจากการมีส่วนร่วมของเด็กและเยาวชนทั้งนี้ ให้กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รับความเห็นของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงวัฒนธรรม ไปพิจารณาดำเนินการต่อไปด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์รายงานว่า

1. ตามพระราชบัญญัติส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ พ.ศ. 2550 มาตรา 11 (4) บัญญัติให้คณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติมีหน้าที่ส่งเสริมสนับสนุนให้มีการจัดงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติอย่างน้อยปีละครั้งเพื่อวิเคราะห์สถานการณ์ด้านเด็กและเยาวชน ทบทวนกลไกและกระบวนการทำงาน และพัฒนาองค์ความรู้ ทักษะ และทัศนคติในการพัฒนาเด็กและเยาวชนของประเทศ และมาตรา 19 (10) บัญญัติให้สำนักงานส่งเสริมสวัสดิภาพและพิทักษ์เด็ก เยาวชน ผู้ด้อยโอกาส และผู้สูงอายุ (สท.) ดำเนินงานด้านการพัฒนาเด็กและเยาวชน รวมทั้งดำเนินการจัดงานสมัชชาเด็กและเยาวชนแห่งชาติร่วมกับสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย เพื่อเป็นเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้สำหรับเด็กและเยาวชนในด้านต่างๆ อย่างน้อยปีละครั้ง และคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ในคราวประชุมครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 13 สิงหาคม 2552 ซึ่งมีนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) เป็นประธาน ได้มีมติเห็นชอบให้จัดสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ โดยให้จัดในระดับจังหวัดก่อน และกำหนดหัวข้อหลักในการระดมความคิดเห็นในงานสมัชชาฯ ใน 2 ประเด็นคือ “จังหวัดน่าอยู่สำหรับเด็กและเยาวชน” และ “กิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชน”

2. กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติผู้รับผิดชอบภารกิจในการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กและเยาวชน จึงได้ดำเนินการจัดสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนระดับภาค 4 ภาค และสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติ ในเดือนพฤศจิกายน — ธันวาคม 2552 รวม 5 ครั้ง โดยเปิดเวทีให้เด็กและเยาวชน รวมทั้งภาคีเครือข่ายการพัฒนาเด็กและเยาวชนได้แสดงความคิดเห็น แลกเปลี่ยนเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์

3. ในการจัดสมัชชา ฯ ระดับชาติ ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย นำโดยนายรัชฏะ ศรีบุญรัตน์ ในฐานะตัวแทนของเด็กและเยาวชนและภาคีเครือข่ายที่เข้าร่วมงานสมัชชาฯ ได้ยื่นข้อเสนอและแนวทางในการพัฒนาเด็กและเยาวชนต่อนายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) โดยแสดงถึงความต้องการในเรื่องต่าง ๆ ดังนี้

3.1 ความปลอดภัยและมีความสุขโดยได้รับการเอาใจใส่ดูแลจากภาครัฐในพื้นที่เป็นหลัก นอกเหนือจากครอบครัวซึ่งจะทำให้เกิดความสมานฉันท์ตามมา

3.2 ความเสมอภาคในการเข้าถึงและเข้ารับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร

3.3 การจัดกิจกรรมสำหรับครอบครัวเพื่อให้เกิดการปฏิสัมพันธ์และพูดจาสื่อภาษาที่ดีต่อกันภายในครอบครัว

3.4 การบริการทางการศึกษาที่มีคุณภาพอย่างเท่าเทียมกัน

3.5 การมีศูนย์การเรียนรู้อย่างต่อเนื่องและมั่นคงตลอดชีวิต สนับสนุนให้มีการเรียนรู้จากปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้งค้นหาและขยายโอกาสทางการศึกษาแก่เด็กด้อยโอกาส

3.6 ผู้ทำงานกับเด็กและเยาวชนต้องเป็นผู้เข้าใจเด็กและเยาวชน

3.7 การเปิดโอกาสให้เด็กและเยาวชนเข้ามามีส่วนร่วมในทุกกระบวนการในการจัดกิจกรรมสำหรับเด็กและเยาวชน

3.8 การให้ อปท. ทุกแห่งกำหนดเรื่องการพัฒนาเด็กและเยาวชนไว้ในแผนพัฒนาของ อปท. พร้อมสนับสนุนงบประมาณ อุปกรณ์ สถานที่และอื่นๆ ในการจัดสภาพแวดล้อมที่เป็นมิตรต่อเด็กและเยาวชน และการจัดกิจกรรมที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนอย่างต่อเนื่องและมีคุณภาพ

3.9 การให้สื่อมวลชนนำเสนอการทำกิจกรรมที่สร้างสรรค์ของเด็กและเยาวชนให้สังคมได้รับรู้มากขึ้น เพื่อให้เป็นภาพลักษณ์และต้นแบบที่งดงามสำหรับเด็ก เยาวชน และผู้ใหญ่

4. นายกรัฐมนตรี (นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ) ได้มีถ้อยแถลงต่อข้อเสนอของเด็กและเยาวชนในงานสมัชชาการพัฒนาเด็กและเยาวชนแห่งชาติว่า ประเด็นจังหวัดน่าอยู่และกิจกรรมสร้างสรรค์สำหรับเด็กและเยาวชนเป็นเรื่องที่ได้จัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ระดับจังหวัดแล้ว ทั้งพื้นที่ทางกายภาพและพื้นที่เสมือน แต่ยังมิได้นำไปสู่การปฏิบัติอย่างทั่วถึง และจะนำเสนอประเด็นดังกล่าวสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ