สรุปสถานการณ์ภัยหนาว

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 3, 2010 13:44 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง สรุปสถานการณ์ภัยหนาว การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งและมาตรการป้องกันอุบัติภัย ในช่วงเทศกาลตรุษจีน 2553

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์ ภัยหนาวที่เกิดขึ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553) รวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน และเนื่องจากในเดือนมีนาคมจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้อากาศร้อนอบอ้าว มีปริมาณฝนตกน้อย ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทย ต้องประสบกับความแห้งแล้ง และขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตร กระทรวงมหาดไทย จึงได้เตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ประกอบกับในระหว่างวันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดมาตรการป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลดังกล่าว ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์ภัยหนาวและการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553)

1.1 พื้นที่ประสบภัยหนาวที่มีอุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์อากาศหนาว (8.0-15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (ต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) และได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว จำนวน 35 จังหวัด สรุปได้ดังนี้

          ที่   ภาค       พื้นที่ประกาศภัยพิบัติ                                         รวม
          1   เหนือ      เชียงราย น่าน พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน       13 จังหวัด

ลำปาง ตาก กำแพงเพชร เชียงใหม่ อุตรดิตถ์ สุโขทัย

          2   ตะวันออก   นครพนม บุรีรัมย์ มหาสารคาม ยโสธร สกลนคร สุรินทร์         19 จังหวัด

เฉียงเหนือ อุดรธานี ขอนแก่น ศรีสะเกษ หนองคาย เลย หนองบัวลำภู

กาฬสินธุ์ ชัยภูมิ ร้อยเอ็ด อำนาจเจริญ นครราชสีมา

อุบลราชธานี มุกดาหาร

          3   กลาง      ลพบุรี   สุพรรณบุรี                                     2 จังหวัด
          4   ตะวันออก   จันทบุรี                                              1 จังหวัด
                        รวม                                               35 จังหวัด

1.2 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออก ได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ปี 2552 - 2553 ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และมี 35 จังหวัด รายงานว่า ได้มอบเครื่องกันหนาวให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนใน 477 อำเภอ 3,095 ตำบล 41,691 หมู่บ้าน โดยกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภากาชาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สมาคม มูลนิธิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว โดยแจกจ่ายเครื่องกันหนาวไปแล้ว รวม 685,935 ชิ้น แยกเป็น ผ้าห่มนวม 562,181 ผืน เสื้อกันหนาว 85,683 ตัว หมวกไหมพรม 18,901 ใบ และอื่นๆ 19,170 ชิ้น

ตารางจังหวัดที่ประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินและได้แจกจ่ายเครื่องกันหนาวช่วยเหลือผู้ประสบภัย

          ที่   ภาค       จังหวัดที่แจกจ่ายเครื่องกันหนาว           จำนวนราษฎรเดือดร้อนจากภัยหนาว    จำนวนเครื่องกันหนาว
                                                                คน         ครัวเรือน       ที่แจกจ่ายแล้ว (ชิ้น)
          1   เหนือ      กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่          995,346         274,209           409,255

เพชรบูรณ์ แพร่ ลำปาง ลำพูน ตาก

น่าน แม่ฮ่องสอน อุตรดิตถ์ พะเยา

สุโขทัย

          2   ตะวันออก   กาฬสินธุ์  ชัยภูมิ  บุรีรัมย์  ร้อยเอ็ด      2,019,415         454,647           268,830

เฉียงเหนือ ศรีสะเกษ สกลนคร สุรินทร์

เลยหนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี

นครราชสีมา มุกดาหาร นครพนม

มหาสารคาม ยโสธร หนองคาย ขอนแก่น

อำนาจเจริญ

          3   กลาง      ลพบุรี   สุพรรณบุรี                     120,554          19,955             2,850
          4   ตะวันออก   จันทบุรี                               25,462           6,050             5,000
              รวม       35 จังหวัด 477 อำเภอ 3,095 ตำบล    3,160,777         754,861           685,935

41,691 หมู่บ้าน

2. การให้ความช่วยเหลือ

2.1 สิ่งของพระราชทาน

1) มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบสิ่งของพระราชทาน ผ้าห่มกันหนาวและอุปกรณ์กีฬา แก่นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และมอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทานแก่ราษฎรผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดหนองคาย อุดรธานี เลย พิษณุโลก แพร่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลพบุรี ตาก ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ ยโสธร อุบลราชธานี ศรีสะเกษ และจังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2552 — 28 มกราคม 2553 รวมทั้งสิ้น 23,683 ชุด

2) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย และคณะนำเครื่องกันหนาว ยาสามัญประจำบ้าน เครื่องอุปโภคบริโภค มอบให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เชียงใหม่ และจังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 14 - 28 ธันวาคม 2552 รวม 3,829 ชุด เสื้อกันหนาวเด็กนักเรียนพร้อมอุปกรณ์การเรียน จำนวน 667 ชุด

3) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ผู้แทนพระองค์ นำถุงยังชีพและสิ่งของพระราชทาน ไปมอบที่จังหวัดเลย ตาก สกลนคร แม่ฮ่องสอน เชียงราย อำนาจเจริญ และจังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2552 — 15 มกราคม 2553 รวมทั้งสิ้น 10,500 ชุด

4) สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ และเหล่ากาชาดจังหวัดมอบสิ่งของให้แก่ ผู้ประสบภัยหนาวที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครพนม และจังหวัดพะเยาระหว่างวันที่ 7-26 มกราคม 2553 รวมผ้าห่มกันหนาว 2,065 ผืน เสื้อกันหนาวผู้ใหญ่และเด็กรวม 1,438 ตัว และยาสามัญประจำบ้าน 1,500 ชุด

2.2 การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1) มูลนิธิร่วมกตัญญู มอบผ้าห่มกันหนาวพร้อมถุงยังชีพในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 2,500 ชุด พร้อมกันนี้ได้นำอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา และทุนการศึกษาไปมอบให้กับโรงเรียนในพื้นที่ จำนวน 82 โรงเรียน

2) หอการค้าไทย-จีน และสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ได้มอบผ้าห่มช่วยเหลือภัยหนาว จำนวน 8,000 ผืน ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้นำไปมอบให้แก่ประชาชนใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย อุตรดิตถ์ แพร่ พะเยา และจังหวัดเชียงราย

3) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 200,000 ผืน มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท แจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ 15 จังหวัด

3. การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2553

กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายลักษณะอากาศในเดือนมีนาคม 2553 ว่าจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ส่งผลทำให้มีอากาศร้อนอบอ้าวและร้อนจัดในบางพื้นที่ ประกอบกับมีปริมาณฝนตกน้อย สาเหตุจากผลกระทบปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยต้องประสบกับความแห้งแล้งขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน ซึ่งกระทรวงมหาดไทยได้แจ้งสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งแจ้งนโยบาย มาตรการส่งเสริมการเพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ปี 2553 ของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ให้ทุกจังหวัดทราบและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องแล้ว ส่วนการเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2553 ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ จะได้ดำเนินการโดยด่วนต่อไป

4. มาตรการป้องกันอุบัติภัยในช่วงเทศกาลตรุษจีน

ในช่วงตั้งแต่วันที่ 12-14 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นช่วงเทศกาลตรุษจีน ประชาชนชาวไทยเชื้อสายจีน จะมีการสักการะบูชาสิ่งศักดิ์สิทธิ์และบรรพบุรุษ โดยการจุดธูปเทียนบูชา เซ่นไหว้ เผากระดาษเงิน กระดาษทอง จุดประทัด ฯลฯ ตามศาลเจ้า อาคารย่านธุรกิจ และบ้านเรือนที่อยู่อาศัย ซึ่งอาจเป็นเหตุให้เกิดอัคคีภัยได้ง่าย โดยเฉพาะในชุมชนเมืองที่มีลักษณะเป็นอาคารไม้เก่าและมีสภาพความเป็นอยู่ที่แออัด นอกจากนั้นเทศกาลตรุษจีนยังเป็นช่วงวันหยุด โดยจะมีการท่องเที่ยวเพื่อพักผ่อน ที่ผ่านมามักเกิดอุบัติเหตุจราจรเป็นประจำ กระทรวงมหาดไทยจึงได้สั่งการให้ทุกจังหวัด เตรียมการป้องกันและเฝ้าระวังการเกิดอัคคีภัย และการเกิดอุบัติเหตุจากการจราจร ที่อาจเกิดขึ้นในช่วงเทศกาลตรุษจีน โดยให้ดำเนินการ ดังนี้

4.1 ประสานองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในเขตพื้นที่ทุกแห่ง สำรวจ ตรวจสอบและจัดทำแผนเผชิญเหตุด้านการป้องกันและระงับอัคคีภัย ในสถานประกอบการ สถานบริการ พื้นที่ในชุมชน ที่มีความเสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย

4.2 กำชับเจ้าหน้าที่ หน่วยงานภาครัฐ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และเอกชนเพิ่มมาตรการในการป้องกันและระงับอัคคีภัยในช่วงเทศกาล

4.3 ให้ผู้อำนวยการในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ เฝ้าระวัง ตรวจตราสถานประกอบการ และสถานบริการ รวมตลอดถึงการป้องกันและเตรียมความพร้อมในกรณีที่เกิดเหตุอัคคีภัยขึ้น โดยให้ประสานงานกับเจ้าพนักงานผู้กำกับดูแลตามพระราชบัญญัติควบคุมอาคาร พ.ศ. 2522 และพระราชบัญญัติอาวุธปืน เครื่องกระสุนปืน วัตถุระเบิด ดอกไม้เพลิง และสิ่งเทียมอาวุธปืน พ.ศ. 2490 โดยเคร่งครัด

4.4 กำชับให้ผู้อำนวยการหรือเจ้าพนักงานตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยตรวจตรา เฝ้าระวัง อาคารบ้านเรือน พื้นที่ชุมชน สถานประกอบการ และสถานบริการ ที่มีสภาพที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัยได้โดยง่าย

4.5 ให้ผู้อำนวยการท้องถิ่นตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในเขตพื้นที่ที่รับผิดชอบ เตรียมความพร้อมด้านบุคลากร อุปกรณ์ เครื่องมือเครื่องใช้ในการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รวมทั้งจัดเจ้าหน้าที่และวางระบบสื่อสารเตรียมความพร้อมตลอด 24 ชั่วโมง

4.6 กำชับเจ้าหน้าที่ให้ดำเนินการตามมาตรการความปลอดภัยทางถนน และเข้มงวดกวดขันให้ถือปฏิบัติตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการป้องกันอุบัติเหตุจราจรอย่างเคร่งครัด

4.7 จัดชุดเจ้าหน้าที่และสั่งใช้สมาชิกอาสาสมัครป้องกันภัยฝ่ายพลเรือน (อปพร.) พร้อมทั้งขอความร่วมมือเจ้าหน้าที่ตำรวจเพื่อดำเนินการ ดังนี้

1) เฝ้าระวังสถานที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอัคคีภัย และอุบัติภัยอื่นๆ

2) จัดหน่วยเคลื่อนที่เร็วพร้อมอุปกรณ์ดับเพลิงและกู้ภัย เตรียมความพร้อมในพื้นที่ หรือชุมชนแออัดที่มีความเสี่ยงภัย พร้อมปฏิบัติงานได้ในทันทีที่เกิดภัย

3) จัดระเบียบการจราจรและอำนวยความสะดวกด้านการจราจร พร้อมทั้งรักษาความสงบเรียบร้อย และเฝ้าระวังความปลอดภัยบริเวณที่มีประชาชนหนาแน่น โดยเฉพาะพื้นที่ที่มีการจัดงานเฉลิมฉลองเทศกาลตรุษจีน

4.8 ในกรณีที่เกิดอัคคีภัยหรืออุบัติภัยที่ทำให้ประชาชนได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก ให้ดำเนินการตามแผนเผชิญเหตุที่กำหนด ตามแนวทางพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 และรายงานให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยทราบทันที ทางโทรศัพท์/โทรสาร หมายเลข 0-2241-7450-5 หรือโทรศัพท์สายด่วนนิรภัย 1784 เพื่อดำเนินการช่วยเหลือ ในลำดับถัดไป

5. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 1-6 กุมภาพันธ์ 2553

5.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงนี้ ลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากอ่าวไทยเข้ามาปกคลุมภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก รวมทั้งกรุงเทพมหานคร ทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองเกิดขึ้นได้ ส่วนภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือยังคงมีอากาศเย็นกับมีหมอกในตอนเช้า ขอให้ประชาชนระวังอันตรายในการสัญจรผ่านบริเวณที่มีหมอกไว้ด้วย

5.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ