เรื่อง อนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพิธีการศุลกากรที่เรียบง่ายและสอดคล้องกันหรืออนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข)
ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ....
และร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. ....
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบและอนุมัติหลักการตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ดังนี้
1. เห็นชอบให้ส่งอนุสัญญาระหว่างประเทศว่าด้วยพิธีการศุลกากรที่เรียบง่ายและสอดคล้องกันหรืออนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข) โดยให้คณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา แล้วเสนอรัฐสภาพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป
2. อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... (ว่าด้วยการอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาเกียวโต) (ฉบับแก้ไข) ฯลฯ) และร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... (ว่าด้วยการอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาเกียวโต) (ฉบับแก้ไข) และว่าด้วยการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการศุลกากร) รวม 2 ฉบับ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วเสนอคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบอนุสัญญาตามข้อ 1 แล้ว
ข้อเท็จจริง
กระทรวงการคลังเสนอว่า
1. การเข้าเป็นภาคีอนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข) ตามมติคณะรัฐมนตรี (8 พฤศจิกายน 2548) จะต้องได้รับความเห็นชอบของรัฐสภาตามมาตรา 190 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เนื่องจากเป็นหนังสือสัญญาที่จะต้องมีการออกพระราชบัญญัติเพื่อให้เป็นไปตามหนังสือสัญญา
2. ในการอนุวัติการตามอนุสัญญาดังกล่าวจะต้องดำเนินการแก้ไขกฎหมายว่าด้วยพิกัดอัตราศุลกากรและ กฎหมายว่าด้วยศุลกากร เพื่อให้สอดคล้องกับอนุสัญญาเกียวโต (ฉบับแก้ไข) โดยประกอบด้วยเรื่อง
2.1 การออกคำวินิจฉัยพิกัดอัตราศุลกากรล่วงหน้าโดยมีผลผูกพันทางกฎหมาย
2.2 การออกคำวินิจฉัยกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดของสินค้าล่วงหน้าโดยมีผลผูกพันทางกฎหมาย
2.3 การเก็บค่าธรรมเนียมในการออกคำวินิจฉัย
2.4 การนำของออกไปผ่านกรรมวิธีผลิตนอกราชอาณาจักร (Outward Processing)
2.5 การกำหนดมูลค่าขั้นต่ำของของที่จะไม่ต้องเสียภาษี (De minimis)
2.6 การกำหนดคำนิยาม “อธิบดี” ให้สอดคล้องกับกฎหมายศุลกากร
2.7 การแก้ไขภาค 4 ประเภท 10 ให้ครอบคลุมถึงสัญญากับองค์การระหว่างประเทศด้วย
2.8 การเพิ่มเติม ภาค 4 เพื่อยกเว้นอากรให้แก่ภาชนะบรรจุหรืออุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องชนิดที่ใช้หมุนเวียนได้ เป็นของได้รับยกเว้นอากร
3. การแก้ไขกฎหมายดังกล่าวจะทำให้การบริการศุลกากรเป็นไปตามมาตรฐานสากล ซึ่งประชาชนจะได้รับความสะดวกมากขึ้น ทั้งนี้ ร่างกฎหมายดังกล่าวได้ผ่านการรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน (Public Hearing) มาแล้ว
สาระสำคัญของอนุสัญญาและร่างพระราชบัญญัติ
1. อนุสัญญา
1.1 กำหนดความมุ่งประสงค์ของอนุสัญญา บทนิยามขอบเขตและโครงสร้างของอนุสัญญา (มาตรา 1 — 5)
1.2 กำหนดแนวทางการบริหารอนุสัญญา โดยการจัดตั้งคณะกรรมการบริหารจัดการ อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการฯ และการจัดการประชุม (มาตรา 6 -7)
1.3 กำหนดแนวปฏิบัติของภาคีคู่สัญญาในการให้สัตยาบันต่ออนุสัญญาและการใช้อนุสัญญา (มาตรา 8 -11)
1.4 กำหนดให้ภาคผนวกอนุสัญญาผูกพันภาคีคู่สัญญา (มาตรา 12)
1.5 กำหนดภาคีคู่สัญญาต้องนำมาตรฐานในภาคผนวกทั่วไปและในภาคผนวกเฉพาะที่ภาคีคู่สัญญายอมรับและนำไปปฏิบัติ (มาตรา 13)
1.6 กำหนดแนวทางการระงับข้อพิพาทและการแก้ไขอนุสัญญา (มาตรา 14 -15)
1.7 กำหนดระยะเวลาในการภาคยานุวัติ และผลบังคับใช้ของอนุสัญญา (มาตรา 17 -18)
1.8 กำหนดแนวทางปฏิบัติการเก็บรักษาเอกสารของอนุสัญญา การลงทะเบียนและต้นฉบับจริง (มาตรา 19 -20)
2. ร่างพระราชบัญญัติแก้ไขเพิ่มเติมพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ. 2530 (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... (ว่าด้วยการอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาเกียวโต) (ฉบับแก้ไข) ฯลฯ)
2.1 กำหนดนิยามคำว่า “อธิบดีกรมศุลกากร” หรือ “อธิบดี” หมายความว่า อธิบดีกรมศุลกากรหรือผู้ซึ่งอธิบดีกรมศุลกากรมอบหมาย (ร่างมาตรา 3 เพิ่มเติมมาตรา 3/1)
2.2 กำหนดให้คำวินิจฉัยเกี่ยวกับถิ่นกำเนิด หรือกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดของสินค้า และการออกคำวินิจฉัยพิกัดศุลกากร มีผลผูกพันตามระยะเวลาที่กำหนด เว้นแต่ข้อเท็จจริงหรือข้อกฎหมายได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว (ร่างมาตรา 4 เพิ่มเติมมาตรา 14/1 ร่างมาตรา 5 เพิ่มมาตรา 15/1 และร่างมาตรา 6 เพิ่มเติมมาตรา 15/2)
2.3 แก้ไขช่องรายการประเภท 2 ประเภท 10 ประเภท 12 และเพิ่มช่องรายการประเภท 19 ในภาค 4 ของที่ได้รับยกเว้นอากร (ร่างมาตรา 7 -10)
3. ร่างพระราชบัญญัติศุลกากร (ฉบับที่ .. ) พ.ศ. .... (ว่าด้วยการอนุวัติการให้เป็นไปตามอนุสัญญาเกียวโต) (ฉบับแก้ไข) และว่าด้วยการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการศุลกากร)
3.1 เพิ่มเติมบทนิยาม “อิเล็กทรอนิกส์” และคำอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในกระบวนการศุลกากร (ร่างมาตรา 2)
3.2 กำหนดให้พนักงานศุลกากรเป็นผู้ทำการชั่ง การสอบ การตีราคา ฯลฯ เพื่อประเมินค่าภาษี หรือเพื่อประโยชน์อย่างอื่นทางราชการ และให้อำนาจอธิบดีในการวินิจฉัยราคาของผู้นำเข้า เพื่อความมุ่งหมาย ในการจัดเก็บอากร และกำหนดให้กรมศุลกากรสามารถเรียกค่าธรรมเนียมในการวินิจฉัยได้ (ร่างมาตรา 3 แก้ไขมาตรา 13)
3.3 กำหนดให้นำหลักบริหารจัดการความเสี่ยงมาใช้ในการควบคุมในการศุลกากร (ร่างมาตรา 4 เพิ่มเติมมาตรา 14)
3.4 กำหนดให้นำวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์มาใช้ในการศุลกากร (เพิ่มเติมหมวด 14 ทวิ ร่างมาตรา 109/1 — 109/12)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--