แต่งตั้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 3, 2010 14:39 —มติคณะรัฐมนตรี

1. แต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักร

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการคลังเสนอแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการพิจารณาชดเชยค่าภาษีอากรสินค้าส่งออกที่ผลิตในราชอาณาจักรชุดเดิมซึ่งได้ดำรงตำแหน่งมาครบวาระแล้ว ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต่ออีกวาระหนึ่ง จำนวน 5 คน ดังนี้ 1. นายชาญชัย มุสิกนิศากร 2. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ 3. นางหิรัญญา สุจินัย 4. นายไพโรจน์ เกษแม่นกิจ 5. นายสถาพร โคธีรานุรักษ์ ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไป

2. การจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเคนยา

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการต่างประเทศเสนอทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. อนุมัติในหลักการเกี่ยวกับองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายไทยว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเคนยา โดยให้กระทรวงการต่างประเทศสามารถปรับเปลี่ยนองค์ประกอบได้ตามที่เกี่ยวข้องกับสารัตถะของการประชุม

2. อนุมัติให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นหัวหน้าคณะผู้แทนไทยเข้าร่วมการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมว่าด้วยความร่วมมือทวิภาคีระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐเคนยา ครั้งที่ 1 ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการต่างประเทศรายงานว่า

1. รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศได้ลงนามความตกลงฯ เมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน 2548 และ เคนยาได้เสนอเป็นเจ้าภาพจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 1 แต่ในช่วงที่ผ่านมาเคนยายังไม่พร้อมจัดการประชุม เนื่องจากต้องเตรียมจัดการเลือกตั้งทั่วไปและเกิดสถานการณ์ความไม่สงบในเคนยาในช่วงปลายปี 2550 ถึงกลาง ปี 2551 ต่อมาเคนยาได้เสนอจัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ในช่วงระหว่างวันที่ 7 — 18 กันยายน 2552 ซึ่งในชั้นแรกฝ่ายไทยตอบรับข้อเสนอช่วงวันดังกล่าว แต่ท้ายที่สุดฝ่ายไทยเห็นควรขอเลื่อนการประชุมออกไปเนื่องจากสถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงไนโรบีติดภารกิจสำคัญเกี่ยวกับการเตรียมการสำหรับการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการป้องกันอาชญากรรมและความยุติธรรมทางอาญา สมัยที่ 12 ในภูมิภาคแอฟริกา ระหว่างวันที่ 8 — 12 กันยายน 2552

2. ฝ่ายเคนยาได้เสนอให้จัดการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 1 ระหว่างวันที่ 9 — 11 มีนาคม 2553 ณ กรุงไนโรบี สาธารณรัฐเคนยา และโดยที่การประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ เป็นกลไกการดำเนินนโยบายและส่งเสริมความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างประเทศทั้งสองในทุกสาขา ดังนั้น เพื่อให้การเตรียมการจัดประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ ครั้งที่ 1 สามารถดำเนินการได้สำเร็จตามเจตนารมณ์ของคณะกรรมาธิการร่วมฯ กระทรวงการต่างประเทศจึงขออนุมัติหลักการเกี่ยวกับองค์ประกอบคณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายไทยฯ ซึ่งประกอบด้วย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศเป็นประธานกรรมาธิการ หัวหน้าส่วนราชการ ร่วมเป็นกรรมาธิการอีก 24 คน ผู้อำนวยการกองแอฟริกาเป็นกรรมาธิการและเลขานุการ หัวหน้าสำนักงานผู้แทนทางการค้าไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเป็นที่ปรึกษา รวมองค์ประกอบคณะกรรมาธิการ 31 คน มีอำนาจหน้าที่กำหนดท่าทีและเป้าหมายของฝ่ายไทยในการประชุมคณะกรรมาธิการร่วมฯ และมีอำนาจหน้าที่อื่นอีก 4 ประการ

3. ต่อมา กระทรวงการต่างประเทศได้ขอปรับแก้องค์ประกอบคณะกรรมาธิการร่วมฝ่ายไทยฯ เพื่อให้ สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย โดยเฉพาะมาตรา 265 และ 267 โดยปรับแก้องค์ประกอบจาก “หัวหน้าสำนักงานผู้แทนทางการค้าไทย ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ประธานสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย และกรรมการผู้จัดการธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเป็นที่ปรึกษา” เป็น “ผู้แทนสำนักงานผู้แทนทางการค้าไทย ผู้แทนสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ผู้แทนสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย ผู้แทนสมาคมธนาคารแห่งประเทศไทย และผู้แทนธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทยเป็นที่ปรึกษา” ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบแล้ว กระทรวงการต่างประเทศจะแจ้งให้หน่วยงานดังกล่าวแต่งตั้งผู้แทนหน่วยงานโดยตรวจสอบให้มีความสอดคล้องกับรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยและกฎหมายที่เกี่ยวข้องต่อไป

3. ขอปรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายและการแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือแรงงานหญิงและเด็กส่วนกลาง และระดับจังหวัด

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงแรงงานเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. ปรับอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้ายใหม่ให้สอดคล้องกับนโยบายและแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย โดยให้คณะกรรมการระดับชาติ มีอำนาจหน้าที่ดังนี้

(1) กำกับดูแลการดำเนินงานให้เป็นไปตามนโยบายและแผนปฎิบัติการตามแผนระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย รวมทั้งติดตามงานและประเมินผล

(2) พิจารณาปรับปรุงนโยบาย แผน และยุทธศาสตร์ให้ทันสถานการณ์

(3) ให้ความเห็นและคำแนะนำต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(4) ประสานความร่วมมือกับหน่วยงานภายในประเทศ และหน่วยงานต่างประเทศ

(5) พิจารณาแนวทางการชี้แจงเกี่ยวกับการปฏิบัติตามอนุสัญญาขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ ฉบับที่ 182 ว่าด้วยการห้ามและการดำเนินการโดยทันทีเพื่อขจัดรูปแบบที่เลวร้ายที่สุดของการใช้แรงงานเด็ก

(6) นำเสนอสถานการณ์และข้อเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีทุก 2 ปี

(7) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการหรือคณะทำงานตามที่เห็นสมควร

(8) ปฏิบัติหน้าที่อื่นตามที่ประธานกรรมการมอบหมาย

2. ให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือแรงงานหญิงและ เด็กส่วนกลาง และให้ผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัดแต่งตั้งคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือแรงงานหญิงและ เด็กจังหวัด โดยองค์ประกอบคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการฯ ส่วนกลางมีจำนวน 29 คน มีอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานเป็นประธาน รองอธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานที่กำกับดูแลสำนักคุ้มครองแรงงานเป็นรองประธาน ผู้อำนวยการกลุ่มงานส่งเสริมและพัฒนาเครือข่ายการคุ้มครองแรงงาน สำนักคุ้มครองแรงงานเป็นกรรมการและเลขานุการ และองค์ประกอบคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการฯ จังหวัด มีจำนวน 20 คน มีผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นประธาน รองผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นรองประธานสวัสดิการและคุ้มครองแรงงานจังหวัดเป็นกรรมการและเลขานุการ ทั้งนี้ องค์ประกอบคณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือแรงงานหญิงและเด็กส่วนกลางและระดับจังหวัด นอกจากที่ระบุไว้แล้วจะต้องประกอบด้วยผู้แทนจากภาคีที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรพัฒนาเอกชน นักวิชาการ ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น และให้คณะกรรมการศูนย์ปฏิบัติการฯ ส่วนกลางและจังหวัดมีอำนาจหน้าที่ ดังนี้

(1) ป้องกันแก้ไขและคุ้มครองช่วยเหลือเด็กที่ทำงานในรูปแบบที่เลวร้าย ในส่วนของจังหวัดให้ประสานงานกับศูนย์ปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์จังหวัด (ศปคม.จังหวัด) ประสานงานและดำเนินการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

(2) อำนวยการ สั่งการ และประสานงาน รวมทั้งกำกับดูแลติดตามการดำเนินงานของศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือแรงงานหญิงและเด็กจังหวัดในส่วนของจังหวัดให้เก็บรวบรวมข้อมูล เผยแพร่ วิเคราะห์สรุปสถานการณ์ในพื้นที่รับผิดชอบจัดทำแผนปฏิบัติงานระดับจังหวัดตามนโยบายและแผนระดับชาติฯ

(3) รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการระดับชาติเพื่อขจัดการใช้แรงงานเด็กในรูปแบบที่เลวร้าย และเสนอความเห็น

(4) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการและคณะทำงานศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือแรงงานหญิงและเด็กส่วนกลางและจังหวัด

ทั้งนี้ ให้กระทรวงแรงงานรับความเห็นของกระทรวงการต่างประเทศ ไปประกอบการพิจารณาด้วย

4. คำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 30/2553 เรื่อง ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค

คณะรัฐมนตรีรับทราบคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 30/2553 เรื่อง ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายให้รองนายก-รัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอ ดังนี้

ตามที่ได้มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 12/2552 ลงวันที่ 9 มกราคม 2552 เรื่อง มอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค และคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 26/2553 ลงวันที่ 25 มกราคม 2553 เรื่อง ปรับปรุงคำสั่งมอบหมายให้รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรีกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค ไปแล้วนั้น อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 10 มาตรา 11 และมาตรา 38 แห่งพระราช บัญญัติระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน พ.ศ. 2534 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) พ.ศ. 2545 และ (ฉบับที่ 7) พ.ศ. 2550 และข้อ 13 ของระเบียบสำนักนายก-รัฐมนตรีว่าด้วยการกำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในภูมิภาค พ.ศ. 2547 และที่แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2548 นายกรัฐมนตรี จึงมีคำสั่งยกเลิกความในข้อ 1.5 ของคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 12/2552 ลงวันที่ 9 มกราคม 2552 และ ยกเลิกคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 26/2553 ลงวันที่ 25 มกราคม 2553 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน “1.2 รองนายกรัฐมนตรี (นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี) กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่ ดังนี้

เขตตรวจราชการที่ 15 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน

เขตตรวจราชการที่ 16 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ จังหวัด น่าน พะเยา เชียงราย แพร่

เขตตรวจราชการที่ 17 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ จังหวัด ตาก พิษณุโลก สุโขทัย เพชรบูรณ์ อุตรดิตถ์

1.5 รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) กำกับและติดตามการปฏิบัติราชการในพื้นที่ ดังนี้

เขตตรวจราชการที่ 11 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ จังหวัดนครพนม มุกดาหาร สกลนคร

เขตตรวจราชการที่ 12 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ จังหวัดร้อยเอ็ด ขอนแก่น มหาสารคาม กาฬสินธุ์

เขตตรวจราชการที่ 13 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ จังหวัดอำนาจเจริญ ศรีสะเกษ ยโสธร อุบลราชธานี

เขตตรวจราชการที่ 14 ของสำนักนายกรัฐมนตรี ได้แก่ จังหวัดสุรินทร์ นครราชสีมา บุรีรัมย์ ชัยภูมิ”

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 27 มกราคม เป็นต้นไป

5. การแต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงมหาดไทย)

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ แต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 2 ราย ดังนี้

1. นายศุภรักษ์ ควรหา ดำรงตำแหน่ง เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย

2. นางคมคาย อุดรพิมพ์ ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย

(ประจำรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย นายบุญจง วงศ์ไตรรัตน์)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไป

6. แต่งตั้งกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ แต่งตั้งพลตำรวจตรี คำรณวิทย์ ธูปกระจ่าง เป็นกรรมการอื่นในคณะกรรมการองค์การตลาดเพื่อเกษตรกร แทน นายไกร บุญบันดาล กรรมการอื่นซึ่งลาออกจากตำแหน่ง ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไป

7. ให้โอนข้าราชการ (กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา)

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาเสนอ ให้รับโอน นางธนิฏฐา เศวตศิลา มณีโชติ ที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีฝ่ายข้าราชการประจำ (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักนายกรัฐมนตรี ไปแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่ง รองปลัดกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (นักบริหาร ระดับสูง) กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

8. แต่งตั้งกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่งตั้ง นายวุฒิกร อินทรภูวศักดิ์ เป็นกรรมการผู้ช่วยรัฐมนตรี โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่นายกรัฐมนตรีลงนามในประกาศแต่งตั้งและมอบหมายให้เป็นผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงใดกระทรวงหนึ่งเป็นต้นไป เพื่อให้ผู้ได้รับแต่งตั้งลาออกจากตำแหน่งอื่น ๆ ที่เป็นลักษณะต้องห้ามได้ ดำเนินการให้เรียบร้อย

9. แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี)

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรีเสนอ แต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 3 ราย ดังนี้

1. นายปรีชา วัชราภัย ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (รองนายกรัฐมนตรี นายสุเทพ เทือกสุบรรณ)

2. นายธราดล เปี่ยมพงศ์สานต์ ดำรงตำแหน่งรองเลขาธิการนายกรัฐมนตรีฝ่ายการเมือง (รองนายกรัฐมนตรี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี)

3. นายสุธรรม ลิ้มสุวรรณเกษม ดำรงตำแหน่งที่ปรึกษารองนายกรัฐมนตรี (รองนายกรัฐมนตรี นายไตรรงค์ สุวรรณคีรี)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไป

10. แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนสามัญให้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหาร ระดับสูง (กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร)

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ แต่งตั้ง พันตำรวจเอกสุชาติ วงศ์อนันต์ชัย รองอธิบดี (นักบริหาร ระดับต้น) กรมสอบสวนคดีพิเศษ กระทรวงยุติธรรม ให้ดำรงตำแหน่งผู้ตรวจราชการกระทรวง (นักบริหาร ระดับสูง) สำนักงานปลัดกระทรวง กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นต้นไป

11. แต่งตั้งข้าราชการการเมือง (กระทรวงศึกษาธิการ)

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่กระทรวงศึกษาธิการเสนอ แต่งตั้งข้าราชการการเมือง จำนวน 3 ราย ดังนี้

1. นายมัธยม นิภาเกษม เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์)

2. นายสรจักร เกษมสุวรรณ เป็นที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นางสาวนริศรา ชวาลตันพิพัทธ์)

3. นายศุรพงศ์ พงศ์เดชขจร เป็นผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงศึกษาธิการ นายชัยวุฒิ บรรณวัฒน์)

ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553 เป็นต้นไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 2 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ