คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการลงคะแนนเสียงเพื่อถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา ก่อนเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1.ปรับปรุงรายละเอียดเกี่ยวกับกระบวนการเข้าชื่อและกำหนดโทษสำหรับผู้กระทำความผิดในระหว่างระยะเวลาดังกล่าว (แก้ไขเพิ่มเติมบทนิยามคำว่า “ผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” ในมาตรา 3 แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 6 และมาตรา 7 เพิ่มบทนิยามคำว่า “ผู้มีสิทธิเข้าชื่อ” “ผู้มีสิทธิลงคะแนนเสียง” “ผู้บริหารท้องถิ่น” และ “คณะกรรมการการเลือกตั้ง” ในมาตรา 3 และเพิ่มมาตรา 7/1 มาตรา 25/1 และมาตรา 25/2)
2. ปรับปรุงสัดส่วนจำนวนผู้มีสิทธิเข้าชื่อเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือ ผู้บริหารท้องถิ่น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 5)
3. แก้ไขเพิ่มเติมให้ผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นเป็นผู้รับคำร้องและดำเนินกระบวนการเพื่อให้มีการลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่น หรือผู้บริหารท้องถิ่นแทนผู้ว่าราชการจังหวัด (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 7 เพิ่มบทนิยามคำว่า “ผู้กำกับดูแลองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” ในมาตรา 3 และยกเลิกมาตรา 4)
4. กำหนดให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรับผิดชอบค่าใช้จ่ายในการดำเนินการเกี่ยวกับการถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (เพิ่มมาตรา 7/2)
5. ปรับปรุงกระบวนการในการประกาศกำหนดวันลงคะแนนเสียง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 8 และยกเลิกบทนิยามคำว่า “ศาลากลางจังหวัด” “ที่ว่าการอำเภอ” และ “สำนักงานเทศบาล” ในมาตรา 3)
6. แก้ไขช่องในบัตรลงคะแนนเสียงจากคำว่า “เห็นด้วย” และ “ไม่เห็นด้วย” เป็น “ถอดถอน” และ “ไม่ถอดถอน” และแก้ไขจำนวนผู้มาใช้สิทธิลงคะแนนเสียงถอดถอนสมาชิกสภาท้องถิ่นหรือผู้บริหารท้องถิ่น (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 13 วรรคสอง และมาตรา 23 วรรคสอง)
7. กำหนดให้ประธานกรรมการการเลือกตั้งเป็นผู้รักษาการร่วมกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยและ มีอำนาจวางระเบียบกำหนดวิธีปฏิบัติที่เกี่ยวข้อง (แก้ไขเพิ่มเติมมาตรา 29 และเพิ่มมาตรา 28/1)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--