ร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. ....

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2010 13:43 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนากระบวนการยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. .... ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาเสร็จแล้ว ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ และให้ส่งคณะกรรมการประสานงานด้านนิติบัญญัติพิจารณา แล้วเสนอสภาผู้แทนราษฎรพิจารณาต่อไป

ข้อเท็จจริง

สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา โดยคณะกรรมการกฤษฎีกาคณะที่ 1 ได้พิจารณาแล้ว เห็นควรให้รวมพระราชบัญญัติพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2549 และร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม พ.ศ. .... เป็นฉบับเดียวกัน โดยได้ยกร่างพระราชบัญญัติคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนากระบวน การยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. .... ซึ่งกำหนดให้ยกเลิกพระราชบัญญัติพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติ พ.ศ. 2549 เพื่อไม่ให้กฎหมายทั้งสองฉบับมีความซ้ำซ้อนกัน

สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ

1. ให้มีคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนากระบวนการยุติธรรมแห่งชาติคณะหนึ่ง ประกอบด้วยประธานกรรมการคนหนึ่ง รองประธานกรรมการคนหนึ่ง และกรรมการอื่นอีกสิบสองคน ซึ่งทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งขึ้นตามคำกราบบังคมทูลของคณะรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของรัฐสภา มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละสี่ปีนับแต่วันที่ได้รับแต่งตั้งและอาจได้รับแต่งตั้งใหม่อีกก็ได้ (ร่างมาตรา 6 และร่างมาตรา 10)

2. กำหนดให้คณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งคณะกรรมการเฉพาะเรื่อง หรือคณะอนุกรรมการเพื่อศึกษาเรื่องหนึ่งเรื่องใดเป็นการเฉพาะก่อนที่จะเสนอผลการพิจารณาต่อคณะกรรมการเพื่อพิจารณาต่อไป (ร่างมาตรา 14)

3. คณะกรรมการดังกล่าวมีหน้าที่หลักในเชิงนโยบายที่จะปฏิรูปและพัฒนากระบวนการยุติธรรมในภาพรวมโดยการเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีหรือองค์กรที่เกี่ยวข้องกับกระบวนการยุติธรรมในการกำหนดนโยบาย กลยุทธ์ และแนวทางเกี่ยวกับการปฏิรูปและพัฒนากระบวนการยุติธรรมให้มีประสิทธิภาพและสัมฤทธิ์ผล จัดทำแผนแม่บทการปฏิรูปและพัฒนากระบวนการยุติธรรมแห่งชาติและแผนแม่บทเทคโนโลยีสารสนเทศกระบวนการยุติธรรมแห่งชาติและเสนอแนะต่อคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดมาตรการแก้ไขข้อขัดข้อง ตลอดจนส่งเสริมความร่วมมือในกรณีที่เกิดปัญหาในทางปฏิบัติหรือเกิดข้อขัดข้องที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปและพัฒนากระบวนการยุติธรรม (ร่างมาตรา 16)

4. ให้มีสำนักงานคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนากระบวนการยุติธรรมแห่งชาติเป็นหน่วยงานของรัฐที่มิใช่ส่วนราชการ ตามกฎหมายว่าด้วยระเบียบบริหารราชการแผ่นดิน และไม่เป็นรัฐวิสาหกิจตามกฎหมายว่าด้วยวิธีการ งบประมาณหรือกฎหมายอื่น มีฐานะเป็นนิติบุคคลและอยู่ภายใต้กำกับของประธานกรรมการ รับผิดชอบเกี่ยวกับ งานธุรการและกิจการทั่วไปของคณะกรรมการ รวมทั้งเผยแพร่ข้อมูลข่าวสารเกี่ยวกับความรู้และวิชาการ และผลงานวิจัยด้านการปฏิรูปและการพัฒนากระบวนการยุติธรรมแห่งชาติ มีเลขาธิการคณะกรรมการปฏิรูปและพัฒนากระบวนการยุติธรรมแห่งชาติรับผิดชอบการปฏิบัติหน้าที่ของสำนักงานขึ้นตรงต่อประธานกรรมการ และเป็นผู้บังคับบัญชาพนักงานและลูกจ้างของสำนักงาน รวมทั้งเป็นผู้แทนสำนักงานในกิจการเกี่ยวกับบุคคลภายนอก ให้เลขาธิการฯ มีวาระการดำรงตำแหน่งคราวละ 4 ปี (ร่างมาตรา 21-25)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ