รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2010 14:24 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (ทสภ.) และอนุมัติในหลักการให้จัดตั้งสถานีตำรวจท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (Suvarnabhumi Airport Police) อยู่ในสังกัดกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว เรียกว่า กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว เพื่อรับผิดชอบเฉพาะพื้นที่ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติ รับไปดำเนินการในรายละเอียดตามบทบัญญัติของกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องโดยเร็วต่อไป ตามที่คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิเสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิได้ประชุมมาแล้ว รวม 5 ครั้ง เพื่อกำหนดแนวทางและมาตรการการป้องกันและแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นเกี่ยวกับการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิในภาพรวมทั้งระบบ เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปปฏิบัติต่อไป โดยมีเป้าหมายให้ ทสภ.เป็นท่าอากาศยานที่ให้บริการที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งของโลก ทั้งนี้ ได้มีการรับฟังความคิดเห็นจากหน่วยงานต่างๆ ภาครัฐ ผู้ประกอบการใน ทสภ. เช่น คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบิน กรุงเทพฯ สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย สมาคมโรงแรม สมาคมรถเช่าและผู้ใช้บริการ ทสภ. ประกอบการพิจารณาด้วย จึงเสนอคณะรัฐมนตรี ดังนี้

1. รายงานความก้าวหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

1.1 ปัญหารถยนต์รับจ้างและมัคคุเทศก์ผิดกฎหมาย

1.1.1 ทอท. ได้ปฏิบัติตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามกลุ่มแท็กซี่ป้ายดำและมัคคุเทศก์เถื่อนที่มาให้บริการโดยผิดกฎหมายที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยได้จับกุมความผิดเกี่ยวกับรถแท็กซี่ป้ายดำและได้ขยายแผนปฏิบัติการออกไปอีก 1 ปี เริ่มตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552 โดยมาตรการขั้นต่อไปจะเป็นการดำเนินการสถานหนัก ได้แก่ การประกาศห้ามผู้กระทำผิดเข้าพื้นที่ของ ทอท. การดำเนินคดีผู้กระทำผิดฐานบุกรุก การฟ้องร้องเรียกค่าเสียหายทางแพ่งแก่กลุ่มผู้กระทำความผิดที่ประกอบกิจการโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก ทอท. รวมถึงการร้องขอต่อศาลเพื่อมีคำสั่งห้ามผู้กระทำความผิดเข้าพื้นที่ เป็นต้น ซึ่งในปัจจุบันมาตรการทางกฎหมายในเรื่องนี้มีผลในเชิงป้องกันและปราบปรามได้ดีในระดับหนึ่ง แต่เนื่องจากอัตราโทษต่ำเพียงแค่ปรับ จึงทำให้ยังมีแท็กซี่และมัคคุเทศก์ผิดกฎหมายลักลอบกระทำความผิดอยู่ ดังนั้น เมื่อวันที่ 24 พฤศจิกายน 2552 คณะทำงานด้านกฎหมายของคณะอนุกรรมการกำกับดูแลระบบการขนส่งสาธารณะและการให้บริการผู้โดยสาร ณ ทสภ.ได้เสนอแนะให้ ทอท. ออกคำสั่งห้ามบุคคลและยานพาหนะของกลุ่มแท็กซี่และมัคคุเทศก์ผิดกฎหมายเข้าภายในพื้นที่ที่กำหนด ซึ่ง ทอท. ได้ยกร่างประกาศ ทอท. ในการห้ามบุคคลและยานพาหนะที่กระทำความผิดบางประเภทเข้าพื้นที่ที่กำหนด ขณะนี้อยู่ระหว่างการตรวจถ้อยคำของฝ่ายกฎหมาย ทอท. และเมื่อประกาศนี้มีผลใช้บังคับ ทอท. จะได้ประเมินผลการดำเนินการเพื่อปรับปรุงวิธีการในการปราบปรามให้ทันต่อเหตุการณ์ตลอดเวลาต่อไป

1.1.2 การย้ายจุดให้บริการรถแท็กซี่จากชั้น 2 ลงมาชั้น 1

ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2552 ทอท. ได้ย้ายจุดให้บริการรถแท็กซี่ป้ายเหลืองจากชั้น 2 ลงมาชั้น 1 ส่วนรถลีมูซีน ยังอยู่ชั้น 2 เหมือนเดิม เพื่อให้มีพื้นที่ให้ผู้โดยสารเข้าคิวมากขึ้นและเป็นระเบียบเรียบร้อยมากขึ้น สามารถระบายผู้โดยสารออกจาก ทสภ.ได้เร็วกว่าเดิม 6 เท่า เนื่องจากมีการเพิ่มเคาน์เตอร์ให้บริการจากเดิมประตูละ 1 เคาน์เตอร์เป็นประตูละ 6 เคาน์เตอร์ ทำให้ผู้โดยสารใช้เวลารอคิวน้อยลง ทั้งนี้ ทอท. ได้จัดทำป้ายบอกเส้นทางขึ้นรถแท็กซี่ตั้งแต่ที่สายพานรับกระเป๋าและป้ายแนะนำอื่น ๆ ตลอดเส้นทาง รวมถึงจัดทีม Airport Help ให้คำแนะนำบริเวณประตูทางออกของผู้โดยสารหลังผ่านศุลกากรแล้วด้วย ทั้งนี้ ทอท. ได้สำรวจความพึงพอใจของผู้ใช้บริการทั้งเชิงคุณภาพและเชิงปริมาณเพื่อทราบความเห็นของผู้โดยสารต่อการย้ายจุดให้บริการรถแท็กซี่จากชั้น 2 ลงมาชั้น 1 (เมื่อวันที่ 5-11 พฤศจิกายน 2552) ผลสำรวจผู้โดยสารส่วนใหญ่ที่เคยมาใช้บริการรถแท็กซี่ ณ จุดเดิม ชั้น 2 เห็นว่าการให้บริการรถแท็กซี่ ที่ชั้น 1 มีความสะดวกกว่าร้อยละ 67.8 ส่วนผู้โดยสารที่เห็นว่าไม่สะดวกมีร้อยละ 32.2 ทั้งนี้ ผู้โดยสารได้ให้ข้อเสนอแนะเพื่อให้มีความพึงพอใจเพิ่มขึ้นเกี่ยวกับควรมีป้ายประชาสัมพันธ์จุดให้บริการแท็กซี่มากกว่านี้ และควรให้มีรถแท็กซี่ให้บริการมากกว่านี้ ซึ่ง ทอท. ได้เร่งแก้ไขโดยจัดทำป้ายประชาสัมพันธ์เพิ่มเติม และปรับปรุงระบบคิวแท็กซี่ให้รวดเร็วยิ่งขึ้น

1.1.3 ทอท. รายงานผลการจับกุมรถยนต์รับจ้างและมัคคุเทศก์ผิดกฎหมายตามแผนปฏิบัติการป้องกันและปราบปรามกลุ่มแท็กซี่ป้ายดำในข้อหาใช้งานผิดประเภทและมัคคุเทศก์ในข้อหาก่อความเดือดร้อนรำคาญที่มาให้บริการโดยผิดกฎหมาย ณ ทสภ. ถึงปัจจุบัน (31 มกราคม 2553 )

1.2 ปัญหาการลักทรัพย์สินในกระเป๋า/สัมภาระของผู้โดยสารในพื้นที่คัดแยกสัมภาระ

1.2.1 คณะกรรมการอำนวยการฯ มีนโยบายมอบหมายให้ ทอท. กำกับดูแลในเรื่องการจ่ายค่าตอบแทนพนักงานจัดจ้างให้เหมาะสม มาตรการทางสัญญาจ้างบริษัทที่เข้ามารับดำเนินการ (Outsource) โดยการตรวจสอบสัญญาของบริษัทผู้ประกอบการในพื้นที่คัดแยกสัมภาระ (Sorting Area) และภารกิจอื่น ๆ ว่าครอบคลุมการรักษาความปลอดภัยที่กำหนดไว้ให้มีการตรวจสอบประวัติพนักงานของบริษัทที่เข้ามารับดำเนินการ (Outsource) การวางมาตรการเกี่ยวกับการปฏิบัติงานและการแต่งกายของพนักงานเพื่อหลีกเลี่ยงปัญหาการลักขโมยทรัพย์สินของผู้เดินทางและผู้โดยสาร และติดตั้ง CCTV เพิ่มเติมในพื้นที่ล่อแหลม 327 ตัว ซึ่ง ทอท. ได้ดำเนินการตามมาตรการดังกล่าวแล้ว นอกจากนี้ได้จัดทำศูนย์ข้อมูลบุคคลกลางของพนักงานที่ปฏิบัติงานที่ ทสภ. พร้อมทั้งสนับสนุนข้อมูลให้ทางตำรวจเพื่อประโยชน์ในการสอบสวนหาผู้กระทำความผิดต่อไป ทั้งนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติได้ติดตามและประเมินผลการแก้ไขปัญหาการลักทรัพย์สินในสัมภาระของผู้โดยสารด้วย

1.2.2 คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้แต่งตั้งคณะอนุกรรมการกำกับดูแล การแก้ไขปัญหาลักทรัพย์ในกระเป๋าและสัมภาระของผู้โดยสารในพื้นที่คัดแยกสัมภาระ ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ โดยมีผู้อำนวยการท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นประธานอนุกรรมการเพื่อให้การกำกับดูแลการแก้ไขปัญหาการลักทรัพย์สินในกระเป๋าและสัมภาระของผู้โดยสาร ในพื้นที่คัดแยกสัมภาระ (Sorting Area) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นไปด้วยความรวดเร็วและ มีประสิทธิภาพ ตลอดจนพัฒนารูปแบบการบริหารและจัดการระบบรักษาความปลอดภัยกระเป๋าและสัมภาระของผู้โดยสารให้เหมาะสมยิ่งขึ้น

1.2.3 ในปี พ.ศ. 2552 มีรายงานสถิติการลักทรัพย์ในสายพาน ตั้งแต่ 1 มกราคม 2552 — 31 ธันวาคม 2552 ของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งสิ้น 29 คดี

1.3 การลักทรัพย์หรือสินค้าในร้านค้าปลอดภาษีของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (King Power) ร้านค้าของบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด (King Power) ตั้งกระจายอยู่ทั่วไปตามทางเดินผู้โดยสารอาจทำให้ผู้โดยสารต่างชาติบางส่วนคิดว่าสามารถเดินเลือกซื้อสินค้าทุกเคาน์เตอร์หรือชั้นวางสินค้า แล้วรวมชำระ ณ จุดสุดท้ายก่อนขึ้นเครื่อง และเจ้าหน้าที่ควบคุมกล้องวงจรปิดเข้าใจว่าผู้โดยสารมีเจตนาลักทรัพย์ แล้วแจ้งให้เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยเข้าติดตามตรวจค้นจับกุม คณะกรรมการอำนวยการฯ จึงได้เสนอแนวทางแก้ไข โดยให้จัดทำป้ายและตีเส้นแสดงขอบเขตพื้นที่ของร้านค้าปลอดภาษีให้ชัดเจนและจัดทำป้ายแนะนำให้ชำระค่าสินค้าก่อนออกนอกพื้นที่ของร้านค้านั้นๆ จัดเจ้าหน้าที่คอยดูแลลูกค้าบริเวณทางเดินเข้าร้านค้า และติดตั้งเครื่องชำระเงินค่าสินค้าบริเวณทางเข้า-ออกร้านค้าด้วย

1.4 การนำสุราและบุหรี่เข้ามาในประเทศของผู้เดินทางและนักท่องเที่ยว ได้จัดทำป้ายเตือนทั้งภาษาไทยและภาษาต่างประเทศเพิ่มเติมมากขึ้น และเพิ่มช่องตรวจศุลกากร (ช่องไม่มีสิ่งของต้องสำแดง) การดำเนินการแก้ไขปัญหาเกี่ยวกับเรื่องการจับสุราและบุหรี่ และการร้องเรียนของนักท่องเที่ยว เรื่องการตรวจซ้ำ (ของเจ้าหน้าที่ศุลกากรและสรรพสามิต) เมื่อกระทรวงการคลังได้ปรับปรุงการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่ โดยให้มีการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง (กค.) กรมศุลกากรและกรมสรรพสามิตเพื่อพิจารณาผ่อนปรนกรณีมีการจับกุมนักท่องเที่ยวที่นำบุหรี่หรือสุราเข้ามาเกินจำนวนที่กำหนด (บุหรี่ 200 มวน / สุรา 1 ลิตร) ซึ่งจะพิจารณาผ่อนปรนการจับกุม โดยให้เจ้าหน้าที่ตักเตือนก่อน และหากต้องมีการจับกุมจะทำงานร่วมกัน เพื่อหลีกเลี่ยงการตรวจซ้ำ ซึ่งเจ้าหน้าที่ดังกล่าวสามารถทำงานร่วมกันได้ดีไม่มีปัญหาในการปฏิบัติ ทั้งนี้ หากผู้โดยสารนำสุราและบุหรี่เข้ามาเกินกว่าที่กฎหมายกำหนดและเกินกว่าทางกรมศุลกากรจะผ่อนปรนได้และผู้เดินทางหรือนักท่องเที่ยวประสงค์จะนำเข้ามาในประเทศให้ดำเนินการเสียภาษีอากรตามกฎหมายต่อไป นอกจากนั้น ได้กำชับเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานด้านความสุภาพ ซื่อสัตย์ สุจริต โปร่งใส และมีจิตสำนึกในการให้บริการแก่ผู้เดินทางและนักท่องเที่ยว โดยการให้คำแนะนำแก่ผู้เดินทางและนักท่องเที่ยวให้ปฏิบัติได้ถูกต้อง ส่วนการพิจารณาทบทวนกฎหมาย ระเบียบ และกฎเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงแก้ไขให้สามารถผ่อนปรนในเรื่องดังกล่าวได้นั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างการพิจารณาของกระทรวงการคลัง

1.5 การดำเนินงานคืนภาษีมูลค่าเพิ่มให้นักท่องเที่ยว สิ่งที่พบส่วนใหญ่จะเป็นประเด็นที่นักท่องเที่ยวไม่ได้นำสินค้าให้เจ้าหน้าที่ศุลกากรตรวจเพื่อประทับตราในเอกสารขอคืนภาษี ซึ่งหลังจากที่จุดตรวจศุลกากรท่าอากาศยานสุวรรณภูมิย้ายไปอยู่ติดกับประตูทางเข้าอาคารผู้โดยสาร ชั้น 4 บริเวณประตู 4-5 ส่วนบริการผู้โดยสารขาออกที่เห็นเด่นชัดกว่าเดิม ตั้งแต่ตุลาคม 2552 จึงช่วยบรรเทาปัญหาดังกล่าวได้มากขึ้น

1.6 การปรับปรุงจุดตรวจค้นแบบรวมศูนย์ (Centralize Screening) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) (ทอท.) ได้ปรับปรุงระบบการตรวจค้นสัมภาระของผู้โดยสารที่นำติดตัวขึ้นเครื่องบินไปด้วย เพื่ออำนวยความสะดวกและเพิ่มบริการให้แก่ผู้โดยสารที่จะนำสิ่งของขึ้นเครื่องบินติดตัวไป ซึ่งการตรวจค้นแบบเดิมจะทำการตรวจหนังสือเดินทาง (passport) ก่อน แล้วถึงจะตรวจค้นสัมภาระของผู้โดยสารที่จะนำขึ้นเครื่องบินโดยเปลี่ยนเป็นจะตรวจค้นสัมภาระของผู้โดยสารที่จะนำขึ้นเครื่องบินก่อน หากมีสิ่งของต้องห้ามนำขึ้นเครื่องบินติดตัวมา ทางเจ้าหน้าที่จะให้ผู้โดยสารทิ้งสิ่งของเสียก่อน และเมื่อผ่านการตรวจค้นแล้วก็สามารถซื้อของและขึ้นเครื่องบินต่อไปได้

1.7 การจัดตั้งศูนย์ Suvarnabhumi Airport One Stop Service ทอท. ได้จัดตั้งศูนย์บริการแบบเบ็ดเสร็จครบวงจร (Suvarnabhumi Airport One Stop Service หรือเรียกว่า S.O.S) เปิดบริการตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อให้บริการข้อมูลข่าวสาร รับแจ้งเหตุ และแก้ไขข้อขัดข้องต่าง ๆ ได้อย่างรวดเร็ว เป็นการเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการให้ดียิ่งขึ้นโดยให้บริการแก่สายการบิน ผู้โดยสาร นักท่องเที่ยว รวมทั้งผู้ประกอบการ ในการแจ้งข้อมูลหรือปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เช่น น้ำไม่ไหล ไฟดับ ถูกลักทรัพย์ ฯลฯ ซึ่งเมื่อได้รับแจ้งแล้ว ทาง S.O.S จะดำเนินการแก้ไขปัญหาให้เสร็จสิ้นในทันที แล้วแจ้งให้ผู้ที่ได้รับความเดือดร้อนทราบ

1.8 การแก้ไขปัญหาระบบสาธารณูปโภคภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ได้มอบหมายให้ ทอท. เร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาห้องสุขาไม่เพียงพอและการดูแลรักษาความสะอาดของห้องสุขา ปัญหาฝนสาดจากอาคารผู้โดยสารบริเวณทางเชื่อมอาคารผู้โดยสารกับอาคารจอดรถและกรณีมีน้ำฝนไหลจากชั้น 6 อาคารจอดรถมาชั้นอื่น ทำให้ถนนลื่น ซึ่ง ทอท. ได้แก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีโครงการจัดทำผนังกั้นทางเชื่อมเพื่อติดตั้งป้ายโฆษณาในพื้นที่บริเวณทางเชื่อมระหว่างอาคารผู้โดยสารกับอาคารจอดรถ และมีโครงการจะปรับปรุงพื้นที่ชั้น 6 อาคารจอดรถ และจัดทำหลังคาเพื่อกันฝนซึ่งจะทำให้ปัญหาน้ำฝนไหลจากชั้น 6 อาคารจอดรถลงมาชั้นอื่นหมดไป

1.9 มาตรการป้องกันและแก้ไขปัญหาการปิดสนามบินเพื่อเรียกความเชื่อมั่นของนักลงทุนและนักท่องเที่ยวต่างชาติ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนได้เสนอให้มีการจัดทำแผนรองรับการดำเนินธุรกิจอย่างต่อเนื่อง (Business Continuity Plan : BCP) โดยคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนพิจารณาเห็นว่า คณะรัฐมนตรีได้มีมติ (10 มีนาคม 2552) เห็นชอบตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีเศรษฐกิจ ครั้งที่ 6/2552 เมื่อวันที่ 4 มีนาคม 2552 ซึ่งมอบหมายให้สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พิจารณาความเหมาะสมของหน่วยงานรับผิดชอบหลักสำหรับมาตรการจัดทำระบบป้องกันกรณีเกิดปัญหาและเยียวยา และควบคุมความเสียหายจากวิกฤตให้อยู่ในวงจำกัด โดยร่วมกับภาคเอกชนจัดทำ Business Continuity Plan : BCP เพื่อให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องในกรณีเกิดวิกฤต ซึ่งต่อมาคณะรัฐมนตรีได้มีมติรับทราบและเห็นชอบ (29 กันยายน 2552) ตามที่ สศช. เสนอ เรื่องโครงการศึกษาแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่อง (Business Continuity Plan : BCP) เกี่ยวกับแนวทางจัดทำแผนดำเนินธุรกิจต่อเนื่องของประเทศ โดย สศช. กำลังทำการศึกษาเพื่อจัดทำข้อเสนอแนะแนวทางการจัดทำแผน BCP ในระดับองค์กรธุรกิจเอกชนที่เป็นมาตรฐานสากลที่เชื่อมโยงกับแผนการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติฯ ซึ่งครอบคลุมประเภทของภัยพิบัติ กลไกการกำกับดูแลและการปรับปรุงหรือพัฒนากฎหมาย ระเบียบ ข้อบังคับที่เกี่ยวข้องเพื่อให้การดำเนินการของภาคเอกชนในภาวะเหตุฉุกเฉินและภัยพิบัติเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ และกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ ของภาคเอกชนมีความต่อเนื่องในกรณีที่เกิดวิกฤต ทั้งนี้ กรณีการป้องกันและแก้ไขปัญหาการปิดสนามบินคณะกรรมการอำนวยการฯ ได้มอบหมายให้ ทอท. รับไปพิจารณาและหารือกับ สศช. เพื่อจัดทำแผนรองรับในเรื่องนี้โดยเร็วไว้ด้วย

1.10 เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาได้ตรงจุดและให้มีการแก้ไขปัญหาโดยผู้รับบริการมีส่วนร่วม คณะกรรมการอำนวยการแก้ไขปัญหาและพัฒนาประสิทธิภาพการให้บริการของสนามบินสุวรรณภูมิได้ขอรับฟังข้อเสนอแนะจากหน่วยงานและองค์กรต่าง ๆ ที่เป็นผู้รับบริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เช่น สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (โดยการสำรวจผลความคิดเห็นจากนักธุรกิจระดับผู้จัดการและผู้บริหารชาวต่างชาติ) สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย สมาคมรถเช่าไทย สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว สมาคมโรงแรมไทย สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย คณะกรรมการดำเนินงานธุรกิจการบินกรุงเทพฯ โดยได้รับฟังปัญหาและข้อเสนอแนะในการแก้ไขปัญหาการให้บริการของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เมื่อได้รับทราบปัญหากรรมการอำนวยการฯ ได้มีมติ (13 มกราคม 2553) มอบหมายให้ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิรับไปพิจารณาดำเนินการและรายงานผลให้คณะกรรมการทราบภายใน 30 วัน

2. การจัดตั้งสถานีตำรวจท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

คณะกรรมการอำนวยการฯ พิจารณาเห็นว่า เพื่อให้มีหน่วยงานรับผิดชอบด้านการรักษาความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของผู้เดินทางเฉลี่ยวันละ 135,000 คน การอำนวยความยุติธรรม การปราบปรามอาชญากรรมทุกรูปแบบ และการให้บริการทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติโดยบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถตามลักษณะงานและความรู้ด้านภาษาต่างประเทศที่มีประสิทธิภาพสูง อันจะส่งผลให้แก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลตามนโยบายรัฐบาล โดยเห็นควรให้ ทอท.และการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยให้การสนับสนุนงบประมาณ จึงมีมติในการประชุม ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 13 มกราคม 2553 ให้เสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อขออนุมัติในหลักการให้จัดตั้งสถานีตำรวจท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ดังนี้

2.1 จัดตั้งสถานีตำรวจท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ อยู่ในสังกัดกองบังคับการตำรวจท่องเที่ยวเรียกว่า กองกำกับการ 6 กองบังคับการตำรวจท่องเที่ยว (สถานีตำรวจท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ) มีกรอบอัตรากำลัง 291 นาย (การวิเคราะห์กำหนดตำแหน่งเป็นอำนาจ ก.ตร.) สถานีตำรวจแห่งใหม่นี้แยกจากสถานีตำรวจภูธรราชาเทวะ จัดตั้งขึ้นเพื่อรับผิดชอบดูแลรักษาความปลอดภัยเฉพาะพื้นที่ภายในท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ พื้นที่กว่า 20,000 ไร่ เนื่องจากสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการส่งเสริมการท่องเที่ยว และเป็นการแก้ไขปัญหาการให้บริการและมาตรการรักษาความปลอดภัยของ ทสภ. สำหรับพื้นที่นอกเขตท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะอยู่ในความรับผิดชอบของสถานีตำรวจภูธรราชาเทวะ มีงานรับผิดชอบ 7 ด้าน คือ การถวายความปลอดภัยและรักษาความปลอดภัยบุคคลสำคัญ การรักษาความปลอดภัยสถานที่ การสืบสวน การสอบสวน การจัดการและควบคุมการจราจร การตรวจค้นและเก็บกู้วัตถุระเบิด และความมั่นคง ทั้งนี้ ทอท. รับผิดชอบพื้นที่เขตการบินและเขตพื้นที่หวงห้ามของ ทสภ.

2.2 สถานีและงบประมาณดำเนินการ สถานีตำรวจท่าอากาศยานสุวรรณภูมิใช้อาคารที่ทำการของสถานีตำรวจภูธรราชาเทวะและสถานีส่วนแยกใช้พื้นที่ชั้น 2 ภายในอาคารผู้โดยสารของตำรวจท่องเที่ยว รวมทั้งพื้นที่ศูนย์อำนวยการร่วมรักษาความปลอดภัยบริเวณชั้นล่างอาคารผู้โดยสาร งบประมาณแยกเป็นงบบุคลากร 7,450,890 บาท/เดือน งบดำเนินงาน 1,696,825 บาท/เดือน งบลงทุน 40,620,730 บาท ใช้ครั้งเดียวสำหรับจัดหาวัสดุครุภัณฑ์ประจำกายและประจำหน่วย (งบประมาณของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยและท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ)

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ