ขออนุมัติดำเนินงานตามโครงการพัฒนาตลาดและแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าตามนโยบายของรัฐบาล

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2010 14:27 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้องค์การสวนยาง (อสย.) ดำเนินโครงการพัฒนาตลาดและแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าตามนโยบายของรัฐบาล โดยการก่อสร้างโรงงานยางแท่ง STR 20 พร้อมติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ขนาดกำลังผลิต 20,000 ตัน/ปี รวมทั้งสำนักงาน บ้านพัก โรงผสมปุ๋ย บ่อเก็บน้ำ บ่อบำบัดน้ำเสีย พร้อมครุภัณฑ์จำเป็น 3 แห่ง และสร้างศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราและจำหน่ายปัจจัยการผลิตพร้อมอุปกรณ์จำเป็น จำนวน 6 ศูนย์ วงเงินรวมทั้งสิ้น 475.8 ล้านบาท โดยใช้เงินเหลือจ่ายของโครงการแทรกแซงตลาดยางพาราปีงบประมาณ 2551 จำนวน 475.845 ล้านบาท ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงเกษตรและสหกรณ์รายงานว่า

1. อสย.ได้ดำเนินงานตามความเห็นของกระทรวงและส่วนราชการต่าง ๆ ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติแล้ว สรุปได้ดังนี้

1.1 การขออนุญาตใช้ที่ดินสาธารณะเพื่อก่อสร้างโรงงานยางแท่ง STR 20 ทั้ง 3 แห่ง ได้ดำเนินการจัดทำประชาพิจารณ์จากประชาชนในพื้นที่ขอความเห็นชอบในการใช้ที่ดินก่อสร้างโรงงานทั้ง 3 แห่ง เรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างการดำเนินการขออนุญาตใช้ที่ดินตามมาตรา 9 การถอนสภาพตามมาตรา 8 วรรคสอง (1) ตามประมวลกฎหมายที่ดินตามระเบียบกระทรวงมหาดไทยว่าด้วยวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับการถอนสภาพการจัดขึ้นทะเบียนและการจัดหาผลประโยชน์ที่ดินของรัฐตามประมวลกฎหมายที่ดิน พ.ศ. 2550

1.2 การใช้ที่ดินเพื่อก่อสร้างศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราและจำหน่ายปัจจัยการผลิตได้รับบริจาคจากเกษตรกรชาวสวนยาง จำนวน 5 แห่ง ในเขตจังหวัดพะเยา พิษณุโลก ชัยภูมิ เลย นครพนม และอีก 1 แห่ง ได้ขออนุญาตใช้ที่ดินจากสำนักงานปฏิรูปที่ดินจังหวัดกำแพงเพชร

1.3 โรงงานยางแท่ง STR 20 ไม่มีชื่อในบัญชีแนบท้ายประกาศที่จะต้องดำเนินการจัดทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามประกาศกระทรวงวิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม ส่วนการจัดการมลพิษทางน้ำทางอากาศและสิ่งปฏิกูลหรือวัสดุเหลือใช้ อสย. เตรียมการดำเนินการให้เป็นไปตามมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม โดยการจัดทำระบบบำบัดน้ำเสีย 6 บ่อ การใช้ระบบดูดกลิ่นในกระบวนการให้ความร้อน เป็นต้น ส่วนการเลือกสถานที่จัดตั้งโครงการได้เป็นไปตามข้อกำหนดผังเมืองรวมของจังหวัดศรีสะเกษ อุดรธานี และนครพนมแล้ว

2. สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้นำโครงการพัฒนาตลาดและแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าตามนโยบายของรัฐบาลเสนอคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติพิจารณา เมื่อวันที่ 18 ธันวาคม 2552 คณะกรรมการฯ ได้มีมติดังนี้

2.1 เนื่องจาก อสย. มีผลประกอบการดีอย่างต่อเนื่องในช่วงระยะเวลาที่ผ่านมา และ อสย.พิจารณาแล้วเห็นว่า การดำเนินโครงการพัฒนาตลาดและแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือจะให้ผลตอบแทนสูงคุ้มค่าต่อการลงทุน โดย อสย. สามารถดำเนินการอย่างอิสระและไม่ต้องรับภาระความเสี่ยงในการดำเนินการตามนโยบายในการแทรกแซงและรับซื้อยางตามนโยบายก็เห็นควรให้ อสย.ลงทุนโดยใช้เงินลงทุนของ อสย.เอง

2.2 อย่างไรก็ดี หาก อสย.พิจารณาแล้วเห็นว่าการดำเนินโครงการฯ ดังกล่าวมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการรักษาเสถียรภาพราคายางพาราและจะมีส่วนช่วยทำหน้าที่เป็นกลไกชี้นำและพัฒนาตลาดยางพาราในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือตามนโยบายของรัฐบาล ซึ่งอาจจะมีความเสี่ยงก่อให้เกิดผลการขาดทุนของการประกอบการได้แล้ว ก็เห็นสมควรให้ อสย. ยืนยันนโยบายการดำเนินโครงการที่จะต้องรับความเสี่ยงในการแทรกแซงและขอรับการสนับสนุนในเชิงนโยบายและการลงทุนจากคณะรัฐมนตรีต่อไป

3. โครงการพัฒนาตลาดและแปรรูปยางเพื่อเพิ่มมูลค่าตามนโยบายของรัฐบาลมีวัตถุประสงค์เพื่อเป็นเครื่องมือของรัฐในการรักษาเสถียรภาพราคายางและจะมีส่วนช่วยทำหน้าที่เป็นกลไกชี้นำและพัฒนาตลาดยางพาราเพื่อรองรับผลผลิตจากเกษตรกรและสถาบันเกษตรกรในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคเหนือ ซึ่งในปัจจุบันมีพื้นที่สวนยาง 2.8 ล้านไร่ และ 0.6 ล้านไร่ เปิดกรีดแล้ว 0.715 ล้านไร่ และ 0.027 ล้านไร่ ให้ผลผลิตปัจจุบัน 197,000 ตัน และ 7,200 ตัน ตามลำดับ ทั้งนี้ เมื่อสวนยางกรีดยางได้ทั้งหมดจะมีผลผลิตมากกว่า 900,000 ตัน การมีโรงงานภาครัฐและศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราในพื้นที่จะช่วยให้เกษตรกรชาวสวนยางสามารถขายผลผลิตได้ในราคาที่เป็นธรรม มีโอกาสทางการตลาดเพิ่มขึ้นไม่ถูกกดราคาทำให้สามารถยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรชาวสวนยางได้อย่างยั่งยืน ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจของรัฐบาลในการดำเนินมาตรการรักษาเสถียรภาพราคาสินค้าเกษตรผ่านกลไกและเครื่องมือของรัฐให้มีประสิทธิภาพ

4. การรับซื้อหรือแทรกแซงราคายางตามนโยบายรัฐบาลมิได้มุ่งเน้นผลกำไร มีความเสี่ยงก่อให้เกิดผลการขาดทุนจากการประกอบการได้จึงจำเป็นต้องขอใช้เงินของโครงการแทรกแซงตลาดยางพาราปีงบประมาณ 2551 จำนวน 475.845 ล้านบาท เพื่อใช้ในการก่อสร้างโรงงานยางแท่ง STR 20 พร้อมติดตั้งเครื่องจักรอุปกรณ์ ขนาดกำลังผลิต 20,000 ตัน/ปี รวมทั้งสำนักงาน บ้านพัก โรงผสมปุ๋ย บ่อเก็บน้ำ บ่อบำบัดน้ำเสียพร้อมครุภัณฑ์จำเป็น จำนวน 3 แห่ง ในจังหวัดศรีสะเกษ อุดรธานี นครพนม และศูนย์รับซื้อผลผลิตยางพาราและจำหน่ายปัจจัยการผลิต จำนวน 6 ศูนย์ ในจังหวัดพะเยา พิษณุโลก กำแพงเพชร ชัยภูมิ เลย หรือหนองคาย และนครพนม โดยใช้วงเงินรวมทั้งสิ้น 475.8 ล้านบาท โดยที่กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณมีความเห็นให้ใช้เงินงบประมาณเหลือจ่ายของโครงการแทรกแซงตลาดยางพาราจำนวน 475.845 ล้านบาท ได้ โดยให้ อสย. ขอทำความตกลงกับกรมบัญชีกลางเพื่อขยายเวลาการเบิกจ่ายเงินงบประมาณผ่านระบบ GFMIS ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ