ผลการประชุมคณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) ครั้งที่ 1/2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2010 14:36 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบ ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ ดังนี้

1. รับทราบผลการประชุมคณะกรรมการ กรอ. ครั้งที่ 1/2553

2. เห็นชอบมติคณะกรรมการ กรอ. และมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรับความเห็นของคณะกรรมการ กรอ. ไปประกอบการพิจารณาดำเนินการ แล้วรายงานให้คณะกรรมการ กรอ. และคณะรัฐมนตรีทราบต่อไป

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในฐานะฝ่ายเลขานุการ สรุปผลการประชุมและมติคณะกรรมการ กรอ. ดังนี้

1. แนวทางการขับเคลื่อน กรอ. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด

1.1 สาระสำคัญ เมื่อวันที่ 11 มกราคม 2553 กระทรวงมหาดไทยได้จัดประชุมหารือร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน เพื่อร่วมกันกำหนดแนวทางการขับเคลื่อน กรอ. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด สรุปได้ดังนี้

1.1.1 คณะกรรมการ กรอ. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด ควรมีการจัดประชุมคณะกรรมการ กรอ. จังหวัด อย่างน้อย 2 เดือน/ครั้ง ส่วนคณะกรรมการ กรอ.กลุ่มจังหวัด 3 เดือน/ครั้ง

1.1.2 สำนักงานจังหวัด/สำนักงานพาณิชย์จังหวัด ในฐานะฝ่ายเลขานุการรับประเด็นข้อเสนอจากภาคเอกชนเป็นหลัก พร้อมทั้งแนวทางการแก้ไขปัญหาและพัฒนาเศรษฐกิจของจังหวัด/กลุ่มจังหวัดในระดับพื้นที่

1.1.3 วาระการประชุมคณะกรรมการ กรอ. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด ควรประกอบด้วยการ ติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจในระดับพื้นที่ การพิจารณาประเด็นข้อเสนอของภาคเอกชน เช่น ข้อเสนอการแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชนด้านการค้า การลงทุน ทั้งระยะสั้นและระยะยาว การรายงานความก้าวหน้าของการดำเนินการตามข้อเสนอของภาคเอกชนทั้งที่เป็นมาตรการ แผนงาน และโครงการ และวาระการประชุมควรครอบคลุมความเป็นมา ปัญหาอุปสรรค กฎระเบียบที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนแนวทางการแก้ไขปัญหาและยุทธศาสตร์การพัฒนาต่างๆ

1.1.4 ขออนุมัติวาระและการประชุมจากผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานกรรมการ กรอ. จังหวัด/กลุ่มจังหวัด

1.1.5 ช่องทางการเสนอเรื่องที่ผ่านการพิจารณาของคณะกรรมการ กรอ. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด มายังส่วนกลาง แยกเป็น

1) การเสนอเรื่องไปที่ส่วนราชการ เป็นเรื่องที่สามารถดำเนินการได้โดยส่วนราชการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง กระทรวงมหาดไทยจะแจ้งหน่วยงานที่ดูแลรับผิดชอบโดยตรง หรือคณะกรรมการนโยบายระดับต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้การสนับสนุน

2) การเสนอเรื่องไปที่ กรอ. ส่วนกลาง ให้กระทรวงมหาดไทยจัดตั้งคณะทำงานร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนเพื่อพิจารณากลั่นกรองประเด็นจาก กรอ. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด ก่อนนำเสนอคณะกรรมการ กรอ. ส่วนกลาง ทั้งนี้ จะต้องเป็นประเด็นข้อเสนอแนะด้านการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจส่วนรวมหรือรายสาขาธุรกิจระดับประเทศที่สำคัญ มีผลกระทบในวงกว้าง และไม่สามารถแก้ไขได้ในระดับจังหวัดและกลุ่มจังหวัด

3) การเสนอเรื่องไปที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) หรือสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) ซึ่งภาคเอกชนในจังหวัดและกลุ่มจังหวัดอาจเสนอไปยัง กกร. หรือ สทท. เพื่อให้มีการพิจารณากลั่นกรองประเด็นปัญหาก่อน และให้ กกร. หรือ สทท. เป็นผู้เสนอประเด็นปัญหาต่อคณะกรรมการ กรอ. ส่วนกลาง พิจารณาดำเนินการต่อไป

1.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

รับทราบแนวทางการขับเคลื่อน กรอ. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด โดยมอบหมายให้รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายวีระชัย วีระเมธีกุล) ประสานกับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ เพื่อให้คณะกรรมการ กรอ. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด มีส่วนร่วมในกระบวนการเสนอกรอบงบประมาณของคณะกรรมการนโยบายการบริหารงานจังหวัดและกลุ่มจังหวัดแบบบูรณาการ (ก.น.จ.) ในปีงบประมาณ พ.ศ. 2554 และให้ใช้ถือปฏิบัติต่อไป

2. ข้อเสนอของ กรอ. จังหวัด เรื่อง การสนับสนุนการเปิดเส้นทางบิน สุวรรณภูมิ-ลำปาง-สุวรรณภูมิ และการขยายทางวิ่งท่าอากาศยานตรัง

2.1 สาระสำคัญ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ (กรอ.) จังหวัด เสนอให้คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจส่วนกลาง พิจารณาให้การสนับสนุนการขนส่งทางอากาศ ดังนี้

2.1.1 กรอ. จังหวัดลำปาง ขอให้พิจารณาสนับสนุนให้มีการเปิดเส้นทางบินประจำสุวรรณภูมิ-ลำปาง-สุวรรณภูมิ เนื่องจากสายการบินพีบีแอร์ ซึ่งทำการบินประจำในเส้นทางสุวรรณภูมิ-ลำปาง ได้หยุดกิจการ

2.1.2 กรอ. จังหวัดตรัง ขอให้พิจารณาการสนับสนุนการขยายรันเวย์ หรือทางวิ่งให้มีทางยาวและพื้นที่มากขึ้น เพื่อรองรับการเพิ่มตัวของนักท่องเที่ยว และรองรับการค้า การลงทุน รวมทั้งผู้เดินทางมาจังหวัดซึ่งเพิ่มจำนวนขึ้นทุกปี

2.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

2.2.1 รับทราบการสนับสนุนการเปิดเส้นทางบินแบบประจำ ณ ท่าอากาศยานลำปาง โดยบริษัทการบินกรุงเทพ จำกัด จะเริ่มให้บริการเส้นทางบิน กรุงเทพ (สุวรรณภูมิ) — สุโขทัย — ลำปาง ในวันที่ 1 กุมภาพันธ์ 2553 ซึ่งกรมการบินพลเรือนรายงานว่าจะอนุมัติการออกใบอนุญาตเส้นทางบินให้กับบริษัทฯ ได้ทันตามกำหนดการเปิดให้บริการ

2.2.2 รับทราบผลการพิจารณาการขยายทางวิ่งท่าอากาศยานตรังของกรมการบินพลเรือน ที่มีความเห็นว่า ปัจจุบันท่าอากาศยานตรังยังสามารถรองรับผู้โดยสารและจำนวนเที่ยวบินได้อีกจำนวนมาก การขยายทางวิ่งจึงยังไม่จำเป็นต้องดำเนินการในอนาคตอันใกล้ และหากความต้องการขนส่งทางอากาศเพื่อรองรับจำนวนนักท่องเที่ยว การค้า การลงทุนเพิ่มขึ้นทำให้ต้องเพิ่มการให้บริการเที่ยวบินในอนาคตอันใกล้ ท่าอากาศยานตรัง โดยกรมการบินพลเรือน ก็ยังสามารถบริหารจัดการ โดยการจัดตารางการบินให้เหมาะสม เพื่อให้สามารถเพิ่มความถี่ของจำนวนเที่ยวบิน และไม่ส่งผลกระทบต่อการจราจรทางอากาศ

2.2.3 มอบหมายให้กระทรวงคมนาคมเป็นหน่วยงานหลัก ร่วมกับ กรอ. จังหวัดและกลุ่มจังหวัด รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการดังนี้

1) ศึกษาสภาพปัญหาและแนวทางการแก้ไขปัญหาการยกเลิกเที่ยวบินประจำของสายการบินที่ได้รับอนุญาต รวมทั้งกำหนดมาตรการสนับสนุนและส่งเสริม เพื่อกระตุ้นให้เกิดการเดินทางทางอากาศภายในประเทศมากขึ้น และมาตรการจูงใจให้ผู้ประกอบการสายการบิน เข้ามาให้บริการในเส้นทางบินภายในประเทศที่มีปัญหาการยกเลิกหรือที่ยังไม่มีสายการบินให้บริการเที่ยวบินประจำ

2) ศึกษาแนวทางพัฒนาและใช้ประโยชน์ท่าอากาศยานภูมิภาค เพื่อให้เกิดการกระจายรายได้และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจไปยังต่างจังหวัด รวมทั้งใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ให้คุ้มค่าและเกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศ

3. ความคืบหน้าการขอปรับลดค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล

3.1 สาระสำคัญ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (โดยกรมทรัพยากรน้ำบาดาล) รายงานความคืบหน้าการขอปรับลดค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ดังนี้

3.1.1 ความเป็นไปได้ในการปรับปรุงอัตราค่าอนุรักษ์น้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการจัดตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการใช้น้ำภาคอุตสาหกรรมเพื่อพิจารณาทบทวนและปรับปรุงค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลแล้ว โดยในเบื้องต้นกรมทรัพยากรน้ำบาดาลพิจารณาเห็นว่า ปัญหาการทรุดตัวของแผ่นดินอันเนื่องมาจากการสูบน้ำบาดาลใช้มากเกินปริมาณที่ยอมรับให้สูบใช้ได้อย่างปลอดภัย (Safe Yield) จะเกิดในบริเวณที่มีโรงงานอุตสาหกรรมหนาแน่น จึงจำเป็นต้องทบทวนค่า Safe Yield ใหม่เป็นรายอำเภอหรือรายเขต ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการศึกษาผลกระทบจากการสูบน้ำบาดาล โดยเมื่อได้ข้อมูลทั้งหมดแล้วจะนำมาพิจารณาหาอัตราค่าอนุรักษ์น้ำบาดาลที่เหมาะสมและนำเสนอรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาออกเป็นกฎกระทรวงต่อไป

3.1.2 แนวทางการใช้ประโยชน์จากเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลเพื่อช่วยเหลือและพัฒนาขีดความสามารถของภาคอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้ดำเนินการหารือคณะกรรมการกฤษฎีกาเกี่ยวกับการช่วยเหลือและอุดหนุนกิจกรรมใด ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับการทดแทนและอนุรักษ์น้ำบาดาล ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกามีข้อสรุปว่า คณะกรรมการบริหารกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลสามารถกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการใช้จ่ายเงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลได้ โดยเสนอต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากร ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเพื่อประกาศเป็นกฎกระทรวง

3.1.3 ปัจจุบันกรมทรัพยากรน้ำบาดาลอยู่ระหว่างจัดทำร่างหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการพิจารณาดำเนินการเกี่ยวกับเรื่องการจ่ายเงินของกองทุนฯ เพื่อเสนอกระทรวงการคลังให้ความเห็นชอบก่อนออกประกาศกระทรวงต่อไป นอกจากนี้ ได้ร่วมกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เสนอโครงการการใช้น้ำบาดาลอย่างมีประสิทธิภาพในอุตสาหกรรมนำร่อง 4 อุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมฟอกย้อม อาหารเครื่องดื่ม โลหะ และเคมี ซึ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้เงินกองทุนพัฒนาน้ำบาดาลแล้วในวงเงิน 17.37 ล้านบาท ขณะนี้อยู่ระหว่างการจัดทำรายละเอียดเพื่อว่าจ้างบริษัทที่ปรึกษา

3.1.4 สำหรับประเด็นน้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรมนั้น กรมทรัพยากรน้ำบาดาลและกรมทรัพยากรน้ำอยู่ระหว่างจัดทำแผนบูรณาการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำของประเทศ โดยการมีส่วนร่วมจากประชาชนทุกภาคส่วน ซึ่งในแผนดังกล่าวจะครอบคลุมถึงแผนพัฒนาน้ำเพื่อภาคอุตสาหกรรมด้วย

3.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

รับทราบ และมอบหมายให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมดำเนินการตามความเห็นที่ประชุม และรายงานความก้าวหน้าให้คณะกรรมการ กรอ. ทราบเป็นระยะอย่างต่อเนื่อง

4. แนวทางแก้ไขปัญหาที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนากองเรือพาณิชย์ไทย

4.1 สาระสำคัญ คณะกรรมการ กกร. เสนอที่ประชุมพิจารณา ดังนี้

4.1.1 ด้านภาษี

1) กิจการขนส่งทางทะเลระหว่างประเทศ ประกอบด้วย (1) ภาษีมูลค่าเพิ่มในการซื้อเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ ออกพระราช กฤษฎีกาหรือกฎกระทรวงกำหนดอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภาษีซื้อ) เท่ากับร้อยละ 0 (2) ภาษีเงินได้ของบริษัทต่างประเทศที่ให้บริการเรือไทยในต่างประเทศ ออกพระราชกฤษฎีกายกเว้นภาษีเงินได้ตามมาตรา 70 ในส่วนเงินได้ตามมาตรา 40(2) และ (5) ของประมวลรัษฎากร (3) การยกเว้นภาษีเงินได้จากการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศประเภท Door to Door ในช่วงที่ไม่มีเรือไทย แก้ไขประกาศอธิบดีกรมสรรพากรเกี่ยวกับภาษีเงินได้ (ฉบับที่ 72) ข้อ 2(2) (ข) เป็นดังนี้ รายได้จากการขนส่งสินค้าทางทะเลระหว่างประเทศประเภท Door to Door หรือประเภทขนส่งสินค้าทางทะเลจากท่าเรือต้นทางถึงท่าเรือปลายทาง จะต้องใช้เรือที่จดทะเบียนเป็นเรือไทยตามกฎหมายว่าด้วยเรือไทย ในช่วงใดช่วงหนึ่งเป็นอย่างน้อย (4) ภาษีเงินได้จากการขายเรือ ออกพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยการลดอัตราและยกเว้นรัษฎากรฉบับใหม่ ขยายเวลาซื้อเรือลำใหม่เป็นภายใน 2 ปี หรือต่อเรือลำใหม่ในระยะเวลาตามสัญญาต่อเรือ ในกรณีขายเรือลำเก่าก่อนและในกรณีซื้อเรือลำใหม่ก่อน ต้องขายเรือลำเก่าภายในเวลา 1 ปี และ (5) เรือไทยที่ให้บริการขนส่งสินค้าในต่างประเทศโดยไม่เข้าประเทศไทย (Cross Trade) แก้ไขประมวลรัษฎากรมาตรา 77/2 ให้ระบบภาษีมูลค่าเพิ่ม ครอบคลุมการประกอบการขนส่งสินค้าทางทะเลแบบ Cross Trade

2) กิจการขนส่งทางทะเลภายในประเทศ ประกอบด้วย (1) ภาษีนำเข้าเรือสินค้าทั่วไป ลดอัตราภาษีนำเข้าของเรือสินค้าทั่วไปขนาด 1,000 ตันกรอสส์ หรือต่ำกว่า จากอัตราร้อยละ 10 ลงเหลือร้อยละ 1 เช่นเดียวกับอัตราภาษีนำเข้าเรือบรรทุกน้ำมัน (Tanker) ที่มีขนาดเดียวกัน และ (2) การให้การขนส่งทางทะเลภายในประเทศมีสิทธิเสียภาษีมูลค่าเพิ่ม ออกพระราชกฤษฎีกาให้เจ้าของเรือไทยที่ให้บริการขนส่งทางทะเลภายในประเทศ มีสิทธิเลือกขอจดทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่มและเสียภาษีมูลค่าเพิ่มได้

4.1.2 ด้านกฎหมาย (1) เรือต่างชาติไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติเรือไทย ให้มีการบังคับใช้กฎหมายโดยเคร่งครัดและมีการออกระเบียบที่ชัดเจน ให้การอนุญาตสิ้นสุดเมื่อเรือต่างชาติออกนอกราชอาณาจักรไทย (2) การไม่ปฏิบัติตามกฎกระทรวงที่กำหนดให้สินค้าของรัฐต้องบรรทุกโดยเรือไทย ให้กรมการขนส่งทางน้ำและ พาณิชยนาวี เตือนหน่วยงานของรัฐให้ปฏิบัติตามกฎหมาย (3) ใบอนุญาตใช้เรือ แก้ไขพระราชบัญญัติการเดินเรือในน่านน้ำไทย ยกเลิกใบอนุญาตใช้เรือสำหรับเรือเดินทะเลระหว่างประเทศ และ (4) เรือไทยที่ให้บริการขนส่งน้ำมันจากฐานขุดเจาะน้ำมันในอ่าวไทย ให้มีการเชื่อมข้อมูลระหว่างกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี กรมสรรพากร และกรมศุลกากร เพื่อสนับสนุนการทำงานและตรวจสอบการจัดเก็บภาษีจากเรือต่างชาติของกรมสรรพากร และให้เร่งรัดกรมการขนส่งทางน้ำและพาณิชยนาวี จัดทำกฎหมายใหม่หรือแก้ไขพระราชบัญญัติเรือไทย ให้การค้าในน่านน้ำไทย ครอบคลุมถึงการขนส่งจากฐานบนฝั่งไปยังเขตเศรษฐกิจจำเพาะ ในทำนองเดียวกับกฎหมายของประเทศเพื่อนบ้าน

4.1.3 ด้านเงินทุน จัดตั้งกองทุนพาณิชยนาวี ในลักษณะกองทุนหมุนเวียนที่มีดอกเบี้ยต่ำและมีกฎเกณฑ์ในการกู้และชำระคืนที่ผ่อนปรน

4.1.4 ด้านบุคลากร (1) ควบคุมคุณภาพการผลิต โดยแยกสถาบันผลิตคนประจำเรือและสถาบันกำกับดูแลมาตรฐานการสอนออกจากกัน และขอความช่วยเหลือจากรัฐบาลต่างประเทศหรือองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อสนับสนุนทรัพยากรและเงินทุนสถาบันในการผลิตคนประจำเรือ และ (2) วางแผนพัฒนาการผลิตคนประจำเรือ โดยส่งเสริมความร่วมมือระหว่างสถาบันการศึกษาของรัฐ ในการผลิตคนประจำเรือและภาคเอกชนที่เกี่ยวข้อง ในการประมวลรวบรวมข้อมูลเพื่อนำไปใช้ในการวางแผนพัฒนาคนประจำเรือ และจัดหางาน แก้ไขกฎระเบียบของทางราชการให้เอื้ออำนวยต่อการประกอบวิชาชีพ และสอดคล้องกับระบบการทำงานของกิจการจัดหาคนประจำเรือ

4.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

4.2.1 มอบหมายให้กระทรวงการคลัง โดยกรมสรรพากรเร่งดำเนินการพิจารณามาตรการด้านภาษี ตามที่คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เสนอ ให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน และรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กรอ. ทราบ

4.2.2 มอบหมายให้คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) โดยสมาคมเจ้าของเรือไทย รับไปดำเนินการประเมินผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจที่ประเทศจะได้รับจากการที่ภาครัฐให้การสนับสนุนด้านภาษี ดังกล่าว และรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กรอ. ทราบ

4.2.3 มอบหมายให้กระทรวงคมนาคม โดยกรมเจ้าท่าในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการส่งเสริมการพาณิชยนาวี นำข้อสังเกตและข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ กรอ. ไปประกอบการพิจารณาการขับเคลื่อนยุทธศาสตร์การพัฒนาพาณิชยนาวีของประเทศต่อไป

4.2.4 มอบหมายให้กระทรวงการคลัง เป็นเจ้าภาพในการหารือร่วมกับธนาคารแห่งประเทศไทย สมาคมธนาคารไทย และสมาคมเจ้าของเรือไทย เพื่อพิจารณาแนวทางที่เหมาะสมในการสนับสนุนมาตรการด้านการเงินแก่ผู้ประกอบการพาณิชยนาวี และรายงานให้ที่ประชุมคณะกรรมการ กรอ. พิจารณาต่อไป

5. การลดหย่อนภาษีเงินได้ให้แก่ผู้บริจาคเงินให้กับสถาบันการศึกษาเอกชน

5.1 สาระสำคัญ คณะกรรมการ กกร. ขอให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาให้ความเห็นชอบและระบุชื่อมหาวิทยาลัยหอการค้าไทยและสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ในประกาศกระทรวงศึกษาธิการ และให้รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังกำหนดให้มหาวิทยาลัยหอการค้าไทยรวมถึงสถาบันอุดมศึกษาเอกชน ได้รับสิทธิตามพระราชกฤษฎีกา ออกตามความในประมวลรัษฎากรว่าด้วยการยกเว้นรัษฎากร (ฉบับที่ 420) พ.ศ. 2547

5.2 มติคณะกรรมการ กรอ.

นายกรัฐมนตรีรับไปหารือกับรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการในประเด็นนโยบายการออกประกาศกระทรวงศึกษาธิการเกี่ยวกับรายชื่อสถานศึกษาเอกชน โดยเฉพาะสถาบันการศึกษาที่มีสถานะเป็นนิติบุคคลแล้ว เพื่อการยกเว้นภาษีเงินได้ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีธุรกิจเฉพาะ และอากรแสตมป์ สำหรับเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าใช้จ่ายเพื่อสนับสนุนการศึกษา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ