ผลการติดตามสถานการณ์น้ำ และการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว รอบที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2010 14:45 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีอนุมัติตามที่ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ประธานกรรมการประสานการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว รอบที่ 2 ในการช่วยเหลือเกษตรกรที่เพาะปลูกข้าว ให้สามารถประกอบอาชีพต่อไปได้อย่างพอเพียง โดยเน้นกลุ่มเกษตรกรรายย่อยบนพื้นฐานที่จะต้องเป็นเกษตรกรที่ทำการเกษตรจริง มีพื้นที่ทำกินที่ตรวจสอบได้และเพื่อมิให้เกิดผลกระทบต่อเกษตรกรจากสถานการณ์ภัยแล้ง พื้นที่การเพาะปลูก ข้าวนาปรังจะต้องมีความสอดคล้องกับแผนการจัดสรรน้ำชลประทาน ดังนี้

1. มอบหมายให้กรมชลประทานประสานกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์ และชี้แจงกลุ่มผู้ใช้น้ำ เกษตรกรให้เข้าใจถึงสถานการณ์น้ำในแหล่งกักเก็บ และตรวจสอบพื้นที่การทำนาปรังเพื่อจัดทำกรอบเป้าหมายในการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว รอบที่ 2

2. ให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งรัดการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รอบที่ 2 และเข้มงวดในกระบวนการทำประชาคม เพื่อตรวจสอบพื้นที่เพาะปลูกนาปรัง

3. ให้กรมส่งเสริมการเกษตรและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์รายงานผลการดำเนินงานต่อคณะกรรมการประสานการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เป็นประจำทุกสัปดาห์

สาระสำคัญ

1.สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 12 แห่ง มีปริมาณน้ำกักเก็บรวมทั้งสิ้น 4,583 ล้านลบ.ม.หรือร้อยละ 59 ของความสามารถในการกักเก็บ โดยมีปริมาณน้ำที่สามารถใช้ประโยชน์ได้ 2,939 ล้านลบ.ม.หรือร้อยละ 38 ซึ่งมีปริมาณน้อยกว่าเมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปี 2552 ซึ่งมีถึง 5,396 ล้านลบ.ม.หรือ ร้อยละ 70 ของปริมาณกักเก็บ โดยเฉพาะเขื่อนอุบลรัตน์ปัจจุบันมีปริมาณน้ำกักเก็บ 1,176 ล้านลบ.ม.เทียบกับปี 2552 ซึ่งมีถึง 1,600 ล้านลบ.ม.และมีปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้เพียงร้อยละ 24 ในขณะที่เขื่อนน้ำอูนมีปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้ ร้อยละ 29 เขื่อนลำตะคอง มีปริมาณน้ำที่สามารถใช้ได้ ร้อยละ 40

2. เป้าหมายพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง จากฐานข้อมูลสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเนื้อที่เพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2552 มีทั้งสิ้น 12.4 ล้านไร่ โดยภาคตะวันออกเฉียงเหนือ มีพื้นที่ปลูกข้าวนาปรัง 1.46 ล้านไร่ ในขณะที่กรมชลประทานได้คาดการณ์พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปรังปี 2553 ตามปริมาณการจัดสรรน้ำได้เพียง 9.5 ล้านไร่ โดยในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 912,300 ไร่

3. ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว รอบที่ 2 ซึ่งได้เริ่มการขึ้นทะเบียนเกษตรกรตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 30 - เมษายน 2553 โดยขณะนี้ (ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553) สามารถขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าว รอบที่ 2 ได้ร้อยละ 35.26 และทำประชาคมแล้วร้อยละ 0.56 ซึ่งในเขตภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวแล้ว ร้อยละ 58 ทั้งนี้การขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวยังดำเนินการได้ล่าช้า เนื่องจากหน่วยงานระดับพื้นที่ขาดแบบรายงานการจดทะเบียนผู้ปลูกพืชเศรษฐกิจ (ทพศ.1) และยังมิได้จัดส่งข้อมูลเข้าสู่ระบบ

4. ผลการติดตามความก้าวหน้าการดำเนินงานในพื้นที่จังหวัดขอนแก่น หนองบัวลำภูและอุดรธานีพบว่า เกษตรกรส่วนใหญ่มีความประสงค์จะขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวในรอบที่ 2 มากขึ้น เนื่องจากผลการดำเนินงานของโครงการประกันรายได้และประโยชน์ที่เกษตรกรได้รับ ทำให้คาดว่า จะมีการขยายพื้นที่การปลูกข้าวนาปรังในปี 2553 เพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าหมาย ซึ่งจากการหารือกับผู้ใหญ่บ้านพบว่า เกษตรกรบางรายที่ไม่เคยปลูกข้าวนาปรังได้เริ่มปลูกข้าวนาปรังในปี 2553 เช่น บ้านทุ่งโป่ง ต.ทุ่งโป่ง อ.อุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น มีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นกว่า 60 ราย จากเดิมปี 2552 มีเกษตรกรปลูกข้าวนาปรังเพียง 30 ราย โดยพื้นที่ดังกล่าวอยู่ในเขตสูบน้ำด้วยไฟฟ้าจากเขื่อนอุบลรัตน์

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ