สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ครั้งที่ 1

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2010 15:04 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ สรุปสถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตรปี 2553 ครั้งที่ 1 ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553 ประกอบด้วย สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร สถานการณ์น้ำ การเพาะปลูกพืชฤดูแล้งปี 2552/2553 และการให้ความช่วยเหลือ สรุปได้ดังนี้

สถานการณ์ภัยพิบัติด้านการเกษตร

1. ภัยแล้ง ช่วงภัย วันที่ 15 ธ.ค. 52 ถึง 27 ม.ค. 53 (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.พ.53)

พื้นที่ประสบภัย 4 จังหวัด คือ จังหวัดเชียงราย(3 อำเภอ) แพร่ (5 อำเภอ) น่าน (1 อำเภอ) และสุโขทัย (1 อำเภอ) เกษตรกร 19,028 ราย พื้นที่คาดว่าจะเสียหาย 82,274 ไร่ แบ่งเป็นข้าว 3,431 ไร่ พืชไร่ 78,353 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 490 ไร่

การดำเนินการ จังหวัดแพร่และสุโขทัย ช่วยเหลือด้วยการสูบน้ำเข้าพื้นที่ ยังไม่มีพื้นที่เสียหาย จังหวัดเชียงราย สำรวจเสร็จและผ่าน ก.ช.ภ.อ.แล้ว 2 อำเภอ อยู่ระหว่างสำรวจ 1 อำเภอ จังหวัดน่านอยู่ระหว่างการสำรวจ

2. ศัตรูพืช โรคพืช ระบาด (ข้อมูล ณ วันที่ 5 ก.พ. 53)

เพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล พบการระบาดในพื้นที่ 8 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดพิษณุโลก อุทัยธานี กำแพงเพชร พิจิตร อ่างทอง ปทุมธานี ชัยนาท ลพบุรี เกษตรกร 20,681 ราย

พื้นที่ระบาด 398,577 ไร่ เป็นพื้นที่ระบาดรุนแรง 59,114 ไร่ และพื้นที่ระบาดไม่รุนแรง 339,463 ไร่ ลดลงจากสัปดาห์ก่อน 275,352 ไร่ (เดิม 27 ม.ค. 53) จำนวน 673,929 ไร่) เนื่องจาก มีการเก็บเกี่ยวข้าวไปแล้วบางส่วน และเกิดเชื้อราไฮซูเทร่า (Hirsutella) ขึ้นตามธรรมชาติและเข้าทำลายเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาล รวมทั้ง เกษตรกรใช้สารเคมีตามคำแนะนำ พ่นกำจัดอย่างต่อเนื่อง

โรคเขียวเตี้ยและโรคใบหงิก ที่เกิดจากเชื้อไวรัส โดยมีเพลี้ยกระโดดสีน้ำตาลเป็นพาหนะ พบการระบาดในพื้นที่ 11 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดจังหวัดพิษณุโลก อุทัยธานี กำแพงเพชร นครสวรรค์ พิจิตร สุพรรณบุรี อ่างทอง ปทุมธานี นนทบุรี ลพบุรี และนครนายก ซึ่งมีแนวโน้มการระบาดเพิ่มขึ้น และหากปล่อยทิ้งไว้จะเป็นแหล่งของโรคและแพร่ระบาดอย่างกว้างขวางต่อไป ส่งผลกระทบอย่างรุนแรงต่อการผลิตข้าวในฤดูการผลิตรอบที่ 2 และอาจเพิ่มความรุนแรงเป็น 5-10 เท่าในฤดูนาปีถัดไป

สถานการณ์น้ำ ณ วันที่ 5 กุมภาพันธ์ 2553

1. สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งประเทศ (5 กุมภาพันธ์ 2553) มีปริมาณน้ำในอ่างฯทั้งหมด 48,233 ล้านลูกบาศก์เมตร หรือ คิดเป็นร้อยละ 69 ของความจุอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้งหมด (ปริมาณน้ำใช้การได้ 24,706 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 35 ของความจุอ่างฯ) น้อยกว่าปี 2552 (51,786 ล้านลูกบาศก์เมตร) จำนวน 3,553 ล้านลูกบาศก์เมตร คิดเป็นร้อยละ 7 ของความจุอ่างฯ

ปริมาณน้ำไหลลงอ่างสะสมในช่วงฤดูแล้ง ตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 ถึงปัจจุบัน จำนวน 4,432 ล้านลูกบาศก์เมตร ปริมาณระบายสะสมในช่วงฤดูแล้งตั้งแต่วันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 ถึงปัจจุบัน จำนวน 10,606 ล้านลูกบาศก์เมตร

                                                                                          หน่วย : ล้าน ลบ.ม.
อ่างเก็บน้ำ       ปริมาตรน้ำในอ่างฯ     ปริมาตรน้ำใช้การได้       ปริมาตรน้ำไหลลงอ่างฯ            ปริมาณน้ำระบาย
               ปริมาตร   %ความจุ   ปริมาตร    %ความจุ     วันนี้   เมื่อวาน       สะสม    วันนี้   เมื่อวาน       สะสม
                   น้ำ     อ่างฯ       น้ำ      อ่างฯ                    1 พ.ย.52                   1 พ.ย.52
ภูมิพล            7,447       55    3,647        27       0        0        541     38       29      2,319
สิริกิติ์            4,847       51    1,997        21    3.26     3.26        518  19.01    19.05      1,631
ภูมิพล+สิริกิติ์      12,294       54    5,644        25    3.26     3.26      1,059  57.01    48.05      3,949
ป่าสักชลสิทธิ์         635       66      632        66       0        0        201    5.1     4.36        427

อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำมากกว่าร้อยละ 80 ของความจุอ่างฯ จำนวน 8 อ่าง ได้แก่ แม่งัดสมบูรณ์ชล (83) กระเสียว(84) ศรีนครินทร์(87) หนองปลาไหล(90) ประแสร์(85) ปราณบุรี(82) รัชชประภา(81) และบางลาง(81)

อ่างเก็บน้ำที่อยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยกว่าร้อยละ 30 ของความจุอ่างฯ จำนวน 2 อ่าง ได้แก่ แม่กวง (68) และทับเสลา (29)

สภาพน้ำในอ่างเก็บน้ำภาคตะวันออก

จังหวัดชลบุรี มีอ่างเก็บน้ำ 7 อ่าง รวมปริมาณน้ำ 96.9 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 54 ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 82 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 46 ของความจุอ่างฯ

จังหวัดระยอง มีอ่างเก็บน้ำ 4 แห่ง รวมปริมาณน้ำ 443.7 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 85ของความจุอ่างฯ ปริมาณน้ำใช้การได้ 415 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 ของความจุอ่างฯ

2. สภาพน้ำท่า

ภาคเหนือ แม่น้ำปิง ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ ยกเว้น อำเภอเมือง จังหวัดกำแพงเพชร ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย แม่น้ำวัง แม่น้ำยม และแม่น้ำน่าน ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ แม่น้ำมูล ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคกลาง แม่น้ำเจ้าพระยา และแม่น้ำป่าสัก ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อย

ภาคใต้ ปริมาณน้ำอยู่ในเกณฑ์ปกติ

3. คุณภาพน้ำ

ติดตามตรวจสอบและเฝ้าระวังคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยา ทำการตรวจวัด ณ วันที่ 31 มกราคม 2553 จำนวน 20 จุด พบว่า ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (Do) อยู่ในเกณฑ์ปกติ 10 จุด ต่ำกว่าเกณฑ์ จำนวน 6 จุด และ จำนวน 4 จุด ที่ค่าออกซิเจนละลายในน้ำ (Do)ต่ำกว่าเกณฑ์และค่าความเค็มของน้ำ (Sal) สูงกว่าเกณฑ์

แผนการจัดสรรน้ำในช่วงฤดูแล้ง ปี 2552/2553 (วันที่ 1 พ.ย.52-30 เม.ย. 53) จำนวน 20,720 ล้าน ลบ.ม. (เพื่อการอุปโภคบริโภค 1,836 ล้าน ลบ.ม. รักษาระบบนิเวศน์และอื่นๆ 5,539 ล้าน ลบ.ม. เกษตรกรรม 13,176 ล้าน ลบ.ม. และอุตสาหกรรม 169 ล้าน ลบ.ม.) โดยจัดสรรน้ำในลุ่มเจ้าพระยา 8,000 ล้าน ลบ.ม. (เขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์ 6,000 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน 400 ล้าน ลบ.ม. เขื่อนป่าสักฯ 600 ล้าน ลบ.ม. และลุ่มน้ำแม่กลอง 1,000 ล้าน ลบ.ม.)

ผลการจัดสรรน้ำ ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 52 ถึง ปัจจุบัน จัดสรรน้ำไปแล้ว 10,773 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 52 ของแผนการจัดสรรน้ำ

คาดการณ์พื้นที่ปลูกพืชฤดูแล้งทั้งประเทศ ปี 2552/2553 จำนวน 15.92 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 9.50 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 7.50 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 2.00 ล้านไร่) พืชไร่ พืชผัก 2.78 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 0.78 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 2.00 ล้านไร่) พืชอื่นๆ เช่น ไม้ยืนต้น อ้อย บ่อปลา บ่อกุ้ง จำนวน 3.64 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทานทั้งหมด)

ผลการปลูกพืชฤดูแล้ง ณ วันที่ 1 ก.พ..53 พื้นที่ปลูกแล้วทั้งสิ้น 14.10 ล้านไร่ แยกเป็น ข้าวนาปรัง 8.80 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 6.36 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 2.44 ล้านไร่) พืชไร่ พืชผัก 1.53 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทาน 0.43 ล้านไร่ และนอกเขตพื้นที่ชลประทาน 1.10 ล้านไร่) พืชอื่นๆ 3.77 ล้านไร่ (ในเขตพื้นที่ชลประทานทั้งหมด)

การให้ความช่วยเหลือ

1. สนับสนุนเครื่องสูบน้ำเคลื่อนที่ จำนวน 536 เครื่อง ในพื้นที่ 34 จังหวัด ดังนี้

ภาคเหนือ 15 จังหวัด จำนวน 223 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ (36 เครื่อง) ลำพูน (10 เครื่อง) แม่ฮ่องสอน (18 เครื่อง) ลำปาง (25 เครื่อง) น่าน (9 เครื่อง) พะเยา (2 เครื่อง) เชียงราย (6 เครื่อง) พิษณุโลก (8 เครื่อง) พิจิตร (10 เครื่อง) นครสวรรค์ (22 เครื่อง) อุตรดิตถ์ (4 เครื่อง)ตาก (16 เครื่อง) สุโขทัย (14 เครื่อง) แพร่ (33 เครื่อง) และกำแพงเพชร (10 เครื่อง)

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 10 จังหวัด จำนวน 201 เครื่อง ได้แก่ จังหวัดหนองคาย (17 เครื่อง) อุดรธานี (8 เครื่อง) ขอนแก่น (10 เครื่อง) มหาสารคาม (23 เครื่อง) ร้อยเอ็ด (61 เครื่อง) กาฬสินธุ์ (57 เครื่อง) ชัยภูมิ (7 เครื่อง) สกลนคร (12 เครื่อง) เลย (5 เครื่อง) และหนองบัวลำภู (1 เครื่อง)

ภาคกลาง ภาคตะวันออกและภาคตะวันตก 9 จังหวัด จำนวน 112 เครื่อง ได้แก่ จังหวัด นครนายก (12 เครื่อง) ชัยนาท (32 เครื่อง) ปราจีนบุรี (29 เครื่อง) ฉะเชิงเทรา (22 เครื่อง) ลพบุรี (3 เครื่อง) จันทบุรี (4 เครื่อง) เพชรบูรณ์ (6 เครื่อง) สุพรรณบุรี (3 เครื่อง) และอ่างทอง (1เครื่อง)

2. การปฏิบัติการฝนหลวง สำนักฝนหลวงและการบินเกษตร จะมีการจัดตั้งศูนย์ปฏิบัติการฝนหลวง จำนวน 5 ศูนย์ 7 หน่วย ได้แก่ ภาคเหนือ (เชียงใหม่ พิษณุโลก) ภาคกลาง (นครสวรรค์) ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ(ขอนแก่น นครราชสีมา) ภาคตะวันออก(ระยอง) และภาคใต้(อ.หัวหิน ประจวบคีรีขันธ์) โดยเริ่มปฏิบัติการฝนหลวงในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 เพื่อช่วยเหลือพื้นที่การเกษตร และลดปริมาณการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำต่างๆ

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ