การกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการและแนวทางในการปรับปรุงเครื่องแบบพิเศษ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2010 15:06 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบหลักเกณฑ์ วิธีการและแนวทางในการปรับปรุงเครื่องแบบพิเศษ ตามที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเสนอ ดังนี้

1. กรณีส่วนราชการที่มีเครื่องแบบพิเศษอยู่แล้วให้ปรับปรุงการประดับเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูของเครื่องแบบพิเศษของแต่ละส่วนราชการ เพื่อให้สอดคล้องกับระบบจำแนกตำแหน่งใหม่ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยกำหนดชั้นของการประดับเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูให้ส่วนราชการพิจารณาเลือกได้ตามความเหมาะสมกับสภาพการปฏิบัติงานและหลักเกณฑ์ที่ปฏิบัติอยู่เดิม แบ่งเป็น 3 ทางเลือก ดังนี้

(1) ทางเลือกที่หนึ่ง แบ่งเป็น 4 ชั้นเหมือนกับการแบ่งชั้นของการประดับเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูของเครื่องแบบข้าราชการพลเรือนสามัญทั่วไป ดังนี้

  • ชั้น 1 ประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน
  • ชั้น 2 ประเภททั่วไป ระดับชำนาญงานและประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
  • ชั้น 3 ประเภททั่วไป ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการและระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น
  • ชั้น 4 ประเภททั่วไป ระดับทักษะพิเศษ ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ และทรงคุณวุฒิ ประเภทอำนวยการ ระดับสูง และประเภทบริหาร ระดับต้นและระดับสูง

(2) ทางเลือกที่สอง แบ่งเป็น 5 ชั้น ดังนี้

  • ชั้น 1 ประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน
  • ชั้น 2 ประเภททั่วไป ระดับชำนาญงานและประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
  • ชั้น 3 ประเภททั่วไป ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการและระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการระดับต้น
  • ชั้น 4 ประเภททั่วไป ระดับทักษะพิเศษ ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ประเภทอำนวยการ ระดับสูง และประเภทบริหาร ระดับต้น
  • ชั้น 5 ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ และประเภทบริหาร ระดับสูง

(3) ทางเลือกที่สาม แบ่งเป็น 7 ชั้นเหมือนกับการแบ่งชั้นการประดับเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนูของเครื่องแบบพิเศษกรมราชทัณฑ์ ดังนี้

  • ชั้น 1 ประเภททั่วไป ระดับปฏิบัติงาน
  • ชั้น 2 ประเภทวิชาการ ระดับปฏิบัติการ
  • ชั้น 3 ประเภททั่วไป ระดับชำนาญงาน
  • ชั้น 4 ประเภททั่วไป ระดับอาวุโส ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการ
  • ชั้น 5 ประเภทวิชาการ ระดับชำนาญการพิเศษ และประเภทอำนวยการ ระดับต้น
  • ชั้น 6 ประเภททั่วไป ระดับทักษะพิเศษ ประเภทวิชาการ ระดับเชี่ยวชาญ ประเภทอำนวยการ ระดับสูง และประเภทบริหาร ระดับต้น
  • ชั้น 7 ประเภทวิชาการ ระดับทรงคุณวุฒิ และประเภทบริหาร ระดับสูง

2. กรณีส่วนราชการที่จะกำหนดเครื่องแบบพิเศษขึ้นใหม่เห็นควรกำหนดหลักเกณฑ์ในการกำหนดเครื่องแบบพิเศษ ดังนี้

(1) การกำหนดชนิดหรือประเภทของเครื่องแบบพิเศษควรกำหนดชนิดหรือประเภทของเครื่องแบบพิเศษขึ้นเฉพาะเท่าที่จำเป็นต่อการปฏิบัติหน้าที่ที่มีลักษณะพิเศษ

(2) การกำหนดสิ่งประกอบหรือส่วนประกอบของเครื่องแบบพิเศษควรกำหนดสิ่งประกอบหรือส่วนประกอบของเครื่องแบบพิเศษเป็นแบบเดียวกัน โดยไม่ต้องแบ่งชั้นของการประดับอีก เว้นแต่การกำหนดชั้นในการประดับเครื่องหมายตำแหน่งบนอินทรธนู ตามข้อ 1

(3) การกำหนดเจ้าหน้าที่ผู้มีสิทธิแต่งเครื่องแบบพิเศษควรกำหนดเฉพาะเจ้าหน้าที่ที่มีกฎหมายกำหนดให้ปฏิบัติงานที่มีลักษณะพิเศษเท่านั้นเป็นผู้มีสิทธิแต่งเครื่องแบบพิเศษ

3. เพื่อให้การกำหนดเครื่องแบบพิเศษของแต่ละส่วนราชการเป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการและแนวทางในการปรับปรุงเครื่องแบบพิเศษ ตามข้อ 1 และข้อ 2 จึงเห็นควรให้แต่งตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองการกำหนดเครื่องแบบพิเศษของส่วนราชการ โดยมีปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ผู้แทนสำนักราชเลขาธิการ สำนักพระราชวัง สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน กรมศิลปากร เป็นกรรมการ ผู้อำนวยการสำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นกรรมการและเลขานุการ และเจ้าหน้าที่สำนักกฎหมายและระเบียบกลาง สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย จำนวนสองคน เป็นผู้ช่วยเลขานุการ เพื่อทำหน้าที่พิจารณาเกี่ยวกับการปรับปรุงหรือกำหนดเครื่องแบบพิเศษของแต่ละส่วนราชการก่อนที่ส่วนราชการจะเสนอร่างกฎหมายให้รัฐมนตรีเจ้าสังกัดพิจารณาลงนามเสนอเรื่องไปยังสำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรีเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณา

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ