สรุปสถานการณ์ภัยหนาว และการเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2553

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 10, 2010 15:19 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย รายงานสรุป สถานการณ์ ภัยหนาวที่เกิดขึ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553) รวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน และเนื่องจากช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคมจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้อากาศร้อนอบอ้าว มีปริมาณฝนตกน้อย รวมทั้งผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทย ต้องประสบกับความแห้งแล้ง และขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดมาตรการป้องกัน และแก้ไขปัญหาภัยแล้งดังกล่าว ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์ภัยหนาวและการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553)

1.1 พื้นที่ประสบภัยหนาวที่มีอุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์อากาศหนาว (8.0-15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (ต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) และได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว จำนวน 35 จังหวัด สรุปได้ดังนี้

          ที่   ภาค       พื้นที่ประกาศภัยพิบัติ                                   รวม
          1   เหนือ      กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน           13 จังหวัด
                        พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง
                        ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์
          2   ตะวันออก   กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา         19 จังหวัด
              เฉียงเหนือ  บุรีรัมย์ มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด
                        เลย ศรีสะเกษ  สกลนคร  สุรินทร์  หนองคาย
                        หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ
          3   กลาง      ลพบุรี   สุพรรณบุรี                               2 จังหวัด
          4   ตะวันออก   จันทบุรี                                        1 จังหวัด
                        รวม                                         35 จังหวัด

1.2 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ปี 2552 - 2553 ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และมี 35 จังหวัด รายงานว่า ได้มอบเครื่องกันหนาวให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนใน 477 อำเภอ 3,095 ตำบล 41,691 หมู่บ้าน โดยกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภากาชาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สมาคม มูลนิธิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว โดยแจกจ่ายเครื่องกันหนาวไปแล้ว รวม 703,185 ชิ้น แยกเป็น ผ้าห่มนวม 578,450 ผืน เสื้อกันหนาว 86,664 ตัว หมวกไหมพรม 18,901 ใบ และอื่นๆ 19,170 ชิ้น

ตารางจังหวัดที่ประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินและได้แจกจ่ายเครื่องกันหนาวช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ที่   ภาค       จังหวัดที่แจกจ่ายเครื่องกันหนาว                   จำนวนราษฎรเดือดร้อนจากภัยหนาว    จำนวนเครื่องกันหนาว
                                                              คน         ครัวเรือน       ที่แจกจ่ายแล้ว (ชิ้น)
1   เหนือ      กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่                  995,346         274,209           419,545
              ตากน่าน พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่
              แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัยอุตรดิตถ์
2   ตะวันออก   กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ                       2,019,415         454,647           275,790
    เฉียงเหนือ  นครพนมนครราชสีมา บุรีรัมย์
              มหาสารคามมุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย
              ศรีสะเกษ  สกลนคร  สุรินทร์  หนองคาย
              หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ
3   กลาง      ลพบุรี   สุพรรณบุรี                             120,554          19,955             2,850
4   ตะวันออก   จันทบุรี                                       25,462           6,050             5,000
    รวม       35 จังหวัด 477 อำเภอ 3,095 ตำบล            3,160,777         754,861           703,185
              41,691 หมู่บ้าน

1.3 การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1) มูลนิธิร่วมกตัญญู มอบผ้าห่มกันหนาวพร้อมถุงยังชีพในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 2,500 ชุด พร้อมกันนี้ได้นำอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา และทุนการศึกษาไปมอบให้กับโรงเรียนในพื้นที่ จำนวน 82 โรงเรียน

2) หอการค้าไทย-จีน และสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ได้มอบผ้าห่มช่วยเหลือภัยหนาว จำนวน 8,000 ผืน ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้นำไปมอบให้แก่ประชาชนใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย อุตรดิตถ์ แพร่ พะเยา และจังหวัดเชียงราย

3) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 200,000 ผืน มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท แจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ 15 จังหวัด

อนึ่ง เมื่อวันที่ 4 และ 6 กุมภาพันธ์ 2553 ได้เกิดพายุฤดูร้อน ฝนฟ้าคะนองลมกระโชกแรงและลูกเห็บตก ในพื้นที่ 2 จังหวัด 2 อำเภอ 2 เทศบาล 1 ตำบล มีผู้ได้รับบาดเจ็บ 9 ราย บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย จำนวน 370 หลัง แยกเป็น

1) จังหวัดกาฬสินธุ์ เกิดฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรง ในพื้นที่อำเภอยางตลาด ได้แก่ เทศบาลตำบลบัวบาน (หมู่ที่ 1,2,3,13,15,17,18,20) และเทศบาลตำบลยางตลาด (หมู่ที่ 1,4,6,10,19) บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย จำนวน 250 หลัง

2) จังหวัดอุดรธานี เกิดฝนฟ้าคะนอง ลมกระโชกแรง และลูกเห็บตก ในพื้นที่อำเภอบ้านผือ ตำบลเมืองพาน (หมู่ที่ 6-16) เป็นเหตุให้บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย หลังคาทะลุ เสาไฟฟ้าแรงสูงโค่นล้ม ต้นไม้ล้มทับถนนจำนวนมาก ไฟฟ้าดับทั้งตำบล บ้านเรือนราษฎรได้รับความเสียหาย จำนวน 120 หลัง และนักเรียนที่เข้าค่ายลูกเสือบนภูเขาพระบาท ได้รับบาดเจ็บ 9 ราย ศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เขต 14 อุดรธานี สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัดอุดรธานี อำเภอบ้านผือ อปพร. เจ้าหน้าที่ชุดเผชิญเหตุ (ERT) อส. และหน่วยกู้ชีพอุดรธานี ได้นำรถกู้ภัย และรถไฟฟ้าส่องสว่างเข้าไปให้ความช่วยเหลือนำผู้บาดเจ็บส่งโรงพยาบาลแล้ว

2. การให้ความช่วยเหลือ

  • สิ่งของพระราชทาน

1) มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบสิ่งของพระราชทาน ผ้าห่มกันหนาวและอุปกรณ์กีฬา แก่นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และมอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทานแก่ราษฎรผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดหนองคาย อุดรธานี เลย พิษณุโลกแพร่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลพบุรี ตาก ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ ยโสธรอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และจังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2552 — 28 มกราคม 2553 รวมทั้งสิ้น 23,683 ชุด

2) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย และคณะ นำเครื่องกันหนาว ยาสามัญประจำบ้าน เครื่องอุปโภคบริโภค มอบให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เชียงใหม่ และจังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 14 - 28 ธันวาคม 2552 รวม 3,829 ชุด เสื้อกันหนาวเด็กนักเรียนพร้อมอุปกรณ์การเรียน จำนวน 667 ชุด

3) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ผู้แทนพระองค์ นำถุงยังชีพและสิ่งของพระราชทาน ไปมอบที่จังหวัดเลย ตาก สกลนคร แม่ฮ่องสอน เชียงราย อำนาจเจริญ และจังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2552 — 15 มกราคม 2553 รวมทั้งสิ้น 10,500 ชุด

4) สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ และเหล่ากาชาดจังหวัดมอบสิ่งของให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครพนม และจังหวัดพะเยาระหว่างวันที่ 7 - 26 มกราคม 2553 รวมผ้าห่มกันหนาว 2,065 ผืน เสื้อกันหนาวผู้ใหญ่และเด็กรวม 1,438 ตัว และยาสามัญประจำบ้าน 1,500 ชุด

3. การเตรียมการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2553

3.1 กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดหมายลักษณะอากาศในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคม 2553 ว่าจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้อากาศร้อนอบอ้าวและร้อนจัดในบางพื้นที่ ประกอบกับมีปริมาณฝนตกน้อย รวมทั้งผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทยต้องประสบกับความแห้งแล้ง ขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน

3.2 การดำเนินการของกระทรวงมหาดไทย

กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้กำหนดมาตรการและแจ้งให้จังหวัดทุกจังหวัดดำเนินการป้องกันและบรรเทาความเดือดร้อนจากปัญหาภัยแล้ง ปี 2553 โดยให้ทุกจังหวัดเตรียมความพร้อมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ปี 2553 ที่อาจเกิดขึ้นในพื้นที่ ให้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้งระดับจังหวัด/อำเภอ/องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น พร้อมกับแต่งตั้งเจ้าหน้าที่รับผิดชอบประจำศูนย์ฯ และแบ่งหน้าที่การปฏิบัติอย่างชัดเจน และเป็นระบบ โดยให้จังหวัดดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติ ดังนี้

3.2.1 ด้านการเตรียมการ

1) จัดทำบัญชีหมู่บ้านและชุมชนที่มีความเสี่ยงต่อการประสบปัญหาภัยแล้ง

2) จัดทำแผนเฉพาะกิจป้องกันและแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

3) จัดเตรียมความพร้อมด้านกำลังคน วัสดุ อุปกรณ์ รถยนต์บรรทุกน้ำ เครื่องสูบน้ำ และเครื่องมือเครื่องใช้ในการบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้งไว้ให้พร้อมใช้การได้ทันที

4) สำรวจตรวจสอบแหล่งน้ำ รวมทั้งภาชนะเก็บกักน้ำให้อยู่ในสภาพที่ใช้การได้อย่างเพียงพอ

5) รวบรวมข้อมูลและประมวลข้อคิดเห็นของผู้ที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำเป็นแผนการพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดตามลำดับความสำคัญ

6) ดำเนินการขุดลอก คู คลอง แหล่งน้ำสาธารณะ เพื่อให้สามารถเก็บกักน้ำ ในหมู่บ้านและตำบลได้มากขึ้น

7) รณรงค์และส่งเสริมให้ประชาชน มีส่วนร่วมในการจัดหาภาชนะเก็บกักน้ำ และใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคอย่างประหยัด ถูกวิธี ถูกสุขลักษณะ รวมทั้งทำความเข้าใจและแนะนำให้เกษตรกรปลูกพืชที่ใช้น้ำน้อยหรือพืชชนิดอื่นทดแทนในช่วงฤดูแล้ง ตลอดจนบริหารจัดการน้ำอย่างมีประสิทธิภาพในลักษณะของประชาคมตามที่ได้มีการจัดตั้งไว้แล้ว

8) แจ้งองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ให้ความสำคัญในการดูแลรักษาแหล่งน้ำสาธารณะ คู คลอง หนอง บึง และภาชนะเก็บกักน้ำอื่นๆ เพื่อให้มีน้ำอุปโภคและบริโภคในตลอดฤดูแล้ง อีกทั้งพิจารณาสนับสนุนงบประมาณในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากภัยแล้ง ตามแผนพัฒนาแหล่งน้ำของจังหวัดที่จัดทำไว้มาดำเนินการในระยะยาวอย่างต่อเนื่อง

9) ติดตามและประสานการบริหารจัดการน้ำกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด

10) หากสถานการณ์ภัยแล้งส่งผลกระทบต่อพื้นที่การเกษตร ให้จังหวัดรีบประสานไปยังสำนักฝนหลวงและการบินเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อจัดทำฝนหลวงในพื้นที่เมื่อสภาวะอากาศเอื้ออำนวย ก่อนที่ความชื้นในอากาศจะหมดไป

3.2.2 ด้านการให้ความช่วยเหลือ

เมื่อเกิดสถานการณ์ภัยแล้งในพื้นที่ ให้จังหวัดดำเนินการ ดังนี้

1) พิจารณาให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งตามระเบียบกระทรวงการคลังว่าด้วยเงินทดรองราชการเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน พ.ศ. 2546 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัด (วงเงิน 50 ล้านบาท) เพื่อช่วยเหลือราษฎรที่ประสบภัยแล้ง ในปัญหาเฉพาะหน้าเร่งด่วนที่เกิดขึ้น ตามหลักเกณฑ์ที่กำหนด ทั้งนี้หากความเสียหายด้านการเกษตรครอบคลุมพื้นที่เป็นบริเวณกว้าง ในหลายอำเภอ และจำเป็นต้องใช้จ่ายเงินงบประมาณช่วยเหลือเป็นจำนวนมาก ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อวงเงินทดรองราชการในอำนาจของผู้ว่าราชการจังหวัดที่คงเหลืออยู่ และไม่เพียงพอเพื่อนำไปใช้จ่ายเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งที่มีความจำเป็นเร่งด่วนด้านอื่นๆ ได้อีก ให้จังหวัดพิจารณาขอความช่วยเหลือด้านพืชผลการเกษตรที่ได้รับความเสียหายดังกล่าว ไปยังกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เพื่อขอรับการสนับสนุนงบกลางจากคณะรัฐมนตรี เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่เกษตรกรโดยตรงต่อไป

2) สำหรับหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งในปี 2553 ซึ่งยังไม่ได้ดำเนินการแก้ไขปัญหาทั้งในด้านน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตร ให้ผู้ว่าราชการจังหวัดเร่งดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง โดยบูรณาการแผนงาน โครงการ ใช้งบประมาณจากงบปกติของหน่วยงาน และงบประมาณขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนน้ำอุปโภค บริโภค และน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่ดังกล่าว

3) เพื่อให้การรายงานสถานการณ์ภัยแล้งเป็นไปอย่างถูกต้องและตรงกับข้อเท็จจริง ขอให้จังหวัดดำเนินการ ดังนี้ (1) การประกาศพื้นที่ประสบภัยแล้งของจังหวัด ให้พิจารณาประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัย ตามระเบียบกระทรวงการคลังฯ โดยแยกเป็นรายตำบลเฉพาะหมู่บ้านที่มีสถานการณ์ภัยแล้งเกิดขึ้นแล้วเท่านั้น และคิดเป็นร้อยละเปรียบเทียบจำนวนหมู่บ้านที่ประสบภัยแล้งกับจำนวนหมู่บ้านทั้งหมดของจังหวัด เพื่อให้การประเมินสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เป็นไปอย่างถูกต้องตามข้อเท็จจริง (2) ข้อมูลจำนวนราษฎรและครัวเรือนที่ประสบภัยแล้ง ให้รายงานตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้นเฉพาะครัวเรือนที่ประสบปัญหาความเดือดร้อนเท่านั้น (3) ข้อมูลพื้นที่การเกษตรที่ได้รับความเสียหายแล้ว และที่คาดว่าจะเสียหาย ให้ประสานข้อมูลกับสำนักงานเกษตรจังหวัด โดยใช้ข้อมูลของสำนักงานเกษตรจังหวัดเป็นหลัก เพื่อให้ข้อมูลความเสียหายถูกต้อง

4) ให้จังหวัดจัดส่งแผนเฉพาะกิจฯ ให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย) ภายในระยะเวลาที่กำหนด

5) ให้สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือที่ได้ดำเนินการแล้ว ในด้านต่างๆ ตามแบบรายงานสถานการณ์ภัยแล้งประจำสัปดาห์ และจัดส่งให้ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ศูนย์อำนวยการบรรเทาสาธารณภัย) ทุกวันพฤหัสบดี จนกว่าสถานการณ์ภัยแล้งจะเข้าสู่ภาวะปกติ

4. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 8-13 กุมภาพันธ์ 2553

4.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในวันที่ 8 กุมภาพันธ์ 2553 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางที่ปกคลุมประเทศจีนเคลื่อนลงสู่ทะเลจีนใต้ ส่งผลให้มีลมตะวันออกเฉียงใต้พัดนำความชื้นจากทะเลเข้ามาปกคลุมภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันออกเฉียงเหนือมากขึ้นทำให้บริเวณดังกล่าวมีฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง อาจทำให้ป้ายโฆษณาและต้นไม้หักโค่นได้ ขอให้ประชาชนบริเวณดังกล่าวระมัดระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติไว้ด้วย สำหรับอ่าวไทย มีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร จากนั้นในช่วงวันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ 2553 ลมตะวันออกเฉียงใต้จะมีกำลังอ่อนลง ทำให้บริเวณประเทศไทยตอนบนมีอุณหภูมิสูงขึ้นในตอนกลางวัน และมีฝนฟ้าคะนองบางแห่ง

4.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 9 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ