ร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 — 2557

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 17, 2010 10:25 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 — 2557 และเห็นชอบในหลักการให้กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นผู้ประสานงานการจัดทำแผนปฏิบัติการรองรับแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 — 2557 ตามที่รองนายกรัฐมนตรี (นายสุเทพ เทือกสุบรรณ) ประธานกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติเสนอ ทั้งนี้ ให้คณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติรับความเห็นของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี สำนักงาน ก.พ.ร. ไปพิจารณาดำเนินการด้วย

สาระสำคัญของเรื่อง

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ในฐานะฝ่ายเลขานุการคณะกรรมการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (กปอ.) รายงานว่า

1. ที่ประชุม กปอ. ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2552 ได้มีมติเห็นชอบให้คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ ซึ่งมีอธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเป็นประธานอนุกรรมการดำเนินการจัดทำร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ. .... โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประเทศไทยมีแผนหลักในการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ และใช้เป็นแนวทางในการดำเนินงานด้านการป้องกันอุบัติภัยของหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความสอดคล้องกับสภาพปัญหาและแนวโน้มด้านอุบัติภัย รวมถึงนโยบายและยุทธศาสตร์ของรัฐบาล

2. คณะอนุกรรมการจัดทำแผนการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติใน กปอ. ได้จัดทำร่างแผนหลักการป้องกัน อุบัติภัยแห่งชาติ พ.ศ. 2553 — 2557 โดยได้จัดประชุมเพื่อระดมความคิดเห็นจากหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง เมื่อวันที่ 2 กรกฎาคม 2552 พร้อมทั้งได้นำเข้าสู่การพิจารณาที่ประชุมคณะอนุกรรมการจัดทำร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยฯ ครั้งที่ 1/2552 เมื่อวันที่ 27 สิงหาคม 2552 ซึ่งที่ประชุมได้มีมติเห็นชอบร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยฯ แล้ว

3. ที่ประชุม กปอ. ครั้งที่ 2/2552 เมื่อวันที่ 23 กันยายน 2552 ได้มีมติเห็นชอบร่างแผนหลักการป้องกัน อุบัติภัยฯ และให้ฝ่ายเลขานุการ กปอ. แก้ไขเพิ่มเติมตามข้อสังเกตของที่ประชุม และให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

4. ร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (พ.ศ. 2553 — 2557)

แนวทางการจัดทำร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยฯ มีดังนี้

4.1 กรอบการจัดทำร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยฯ

มีการนำหลักการและแนวทางมาจากพระราชบัญญัติป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 10 (พ.ศ. 2550 — 2554) นโยบายและแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ นโยบายความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2550 — 2554 นโยบายเตรียมพร้อมแห่งชาติ นโยบายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ อนุสัญญาและกติการะหว่างประเทศต่าง ๆ สถานการณ์และแนวโน้มของอุบัติภัยและ ผลการดำเนินงานป้องกันอุบัติภัยที่ผ่านมาเพื่อใช้เป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดทำร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยฯ

4.2 จุดเน้นของร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยฯ

ร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยฯ มีจุดเน้นที่สำคัญ ดังนี้

4.2.1 การเสริมสร้างการเรียนรู้ สร้างความตระหนักและพฤติกรรมความปลอดภัยให้เกิดขึ้นในวิถีชีวิตประจำวันของประชาชน

4.2.2 การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน ทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชน ที่ร่วมกันสร้าง “วัฒนธรรมความปลอดภัย” ให้เกิดขึ้นในสังคมไทย

4.2.3 การป้องกันอุบัติภัยที่เกิดจากการกระทำของคน

4.2.4 การสร้างมาตรฐานและระบบความปลอดภัย

4.2.5 เป็นกรอบแนวทางหลักให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องนำไปสู่การปฏิบัติในรูปของ “แผนปฏิบัติการ”

4.2.6 ให้มีการฝึกซ้อมแผนอย่างสม่ำเสมอ

4.3 สาระสำคัญของร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยแห่งชาติ (พ.ศ. 2553 — 2557) สรุปได้ดังนี้

4.3.1 สถานการณ์และแนวโน้มของอุบัติภัย

ในปัจจุบันประเทศไทยมีการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมให้เจริญก้าวหน้ามากขึ้น ซึ่งทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทั้งในด้านวัตถุ โครงสร้างพื้นฐาน การใช้เทคโนโลยีและเครื่องทุ่นแรงที่ทันสมัย และการพัฒนาคมนาคมขนส่ง ทำให้ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมถูกทำลาย และคุณภาพชีวิตของประชาชนลดลง ซึ่งการพัฒนาดังกล่าวล้วนเป็นปัจจัยทำให้เกิดอุบัติภัยและภาวะเสี่ยงต่อสุขภาพและความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในอนาคตที่นับวันจะเพิ่มสูงขึ้น โดยจำแนกอุบัติภัยเป็น 4 ประเภท ได้แก่ (1) อุบัติภัยทางจราจร (2) อุบัติภัยจากการทำงาน (3) อุบัติภัยในเคหะสถาน (4) อุบัติภัยจากสารเคมีและวัตถุอันตรายและสารกัมมันตภาพรังสี

4.3.2 วิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และหน่วยงานรับผิดชอบ

ร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยฯ ได้กำหนดวิสัยทัศน์ วัตถุประสงค์ เป้าหมาย และหน่วยงานรับผิดชอบ เพื่อให้สามารถบริหารจัดการกับอุบัติภัยที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีระบบมาตรฐานความปลอดภัยตามมาตรฐานสากล รวมทั้งมีวัฒนธรรมความปลอดภัยในวิถีชีวิต เพื่อให้สามารถลดความสูญเสียทั้งในด้านชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

4.3.3 ยุทธศาสตร์และแนวทางการป้องกันอุบัติภัย

ยุทธศาสตร์การป้องกันอุบัติภัยประกอบด้วย 6 ยุทธศาสตร์ ดังนี้

(1) ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการป้องกันอุบัติภัย

เพื่อส่งเสริมการป้องกันอุบัติภัย โดยเน้นหนักในด้านการป้องกันภัยเชิงรุก กระตุ้นและปลูกจิตสำนึกของสังคมและประชาชนทุกกลุ่มเป้าหมายให้มีความตระหนักถึงอันตรายและความสูญเสียจากอุบัติภัยต่าง ๆ มีความพร้อมรับการพัฒนาสามารถปรับตัวและรู้เท่าทันกับกระแสความเปลี่ยนแปลง ตลอดจนเข้ามามีส่วนร่วมและรับผิดชอบในการป้องกันอุบัติภัย

(2) ยุทธศาสตร์การพัฒนาเทคโนโลยี การจัดทำมาตรฐานความปลอดภัยการปรับปรุงสภาพแวดล้อม การวิจัยและพัฒนา และกำกับตรวจสอบ

เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบจากอุบัติภัยต่างๆ ไม่ให้เกิดความเสียหายที่รุนแรงต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนผู้ประสบภัย

(3) ยุทธศาสตร์การเฝ้าระวังและเตือนภัย

เพื่อติดตามรวบรวมข้อมูลข่าวสาร การวิเคราะห์สถานการณ์ความปลอดภัย และประเมินความเสี่ยงภัยต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้นในแต่ละพื้นที่

(4) ยุทธศาสตร์การสร้างการมีส่วนร่วมของภาคีต่างๆ

เพื่อเปิดโอกาสให้ภาคเอกชน องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ชุมชน องค์กรเอกชนหรือสมาคมวิชาชีพ สื่อสารมวลชน และองค์การสาธารณกุศล เข้ามามีส่วนร่วมและมีบทบาทในการดำเนินงาน ป้องกันอุบัติภัยให้มากขึ้น

(5) ยุทธศาสตร์การบังคับและปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับ

เพื่อเอื้ออำนวยให้การป้องกันอุบัติภัยเป็นไปอย่างมีเอกภาพและประสิทธิภาพ เป็นระบบที่รวดเร็ว เด็ดขาด และชัดเจน

(6) ยุทธศาสตร์การบริหารจัดการ

เพื่อให้มีการบริหารจัดการที่เป็นระบบและมีประสิทธิภาพ มีนโยบายแผนงาน และขั้นตอนที่ครอบคลุมและสอดคล้องกับสถานการณ์และแนวโน้มความรุนแรงของอุบัติเหตุ มีการบูรณาการปฏิบัติงานร่วมกับหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจากทุกภาคส่วน เพื่อให้สามารถบริหารจัดการได้อย่างมีประสิทธิภาพ

(7) การแปลงแผนไปสู่การปฏิบัติและการติดตามประเมินผล

เป็นการกำหนดแนวทางเพื่อให้ร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยฯ บรรลุวัตถุประสงค์ และเป้าหมายของแผนอย่างเป็นรูปธรรมและชัดเจน โดยการบูรณาการร่วมกันจากทุกภาคส่วนในการร่วมมือปฏิบัติงานอย่างเป็นเครือข่ายทั้งในระดับประเทศ ระดับภูมิภาค และระดับท้องถิ่น และชุมชน รวมทั้งมีการตรวจสอบและประเมินผลที่มีประสิทธิภาพ และมีการกำหนดตัวชี้วัดที่เป็นเครื่องมือบ่งบอกถึงความสำเร็จของงานเพื่อประโยชน์ต่อการติดตามประเมินผล และปรับปรุงร่างแผนหลักการป้องกันอุบัติภัยฯ ให้บรรลุเป้าหมายได้ชัดเจนยิ่งขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ