คณะรัฐมนตรีเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. .... และถอนร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เนื่องจากมีสาระสำคัญซ้ำซ้อนกับร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงยุติธรรมเสนอ ทั้งนี้ ให้รับข้อสังเกตของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาดำเนินการด้วย
ข้อเท็จจริง
กระทรวงยุติธรรมเสนอว่า
1. คณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติได้มอบหมายให้คณะอนุกรรมการด้านศึกษาและวิจัยและพัฒนากฎหมายและระบบงานในกระบวนการยุติธรรมดำเนินการพิจารณารวมกฎหมายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการประนอมข้อพิพาทและกระบวนการยุติธรรมทางเลือก โดยได้นำหลักการของร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้อง พ.ศ. .... และร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ยข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน พ.ศ. .... มารวมไว้ และได้ยกร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. .... ขึ้น
2. ได้มีหนังสือแจ้งให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาชะลอการพิจารณาร่างพระราชบัญญัติไกล่เกลี่ย ข้อพิพาทคดีอาญาในชั้นสอบสวน พ.ศ. .... ที่อยู่ระหว่างการตรวจพิจารณาตามมติคณะรัฐมนตรี เนื่องจากคณะกรรมการพัฒนาการบริหารงานยุติธรรมแห่งชาติมีมติให้รวมร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวกับร่างพระราชบัญญัติชะลอการฟ้อง พ.ศ. .... และร่างกฎหมายต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการส่งเสริมการประนอมข้อพิพาทและกระบวนการยุติธรรมทางเลือก
3. ร่างพระราชบัญญัติมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา พ.ศ. .... มีหลักการเกี่ยวกับการให้คดีอาญาที่มีลักษณะของการกระทำความผิดที่ไม่ร้ายแรง และผู้ต้องหาอาจกลับตนเป็นคนดีได้ อีกทั้งยังเป็นการสนับสนุนให้ผู้ต้องหาและผู้เสียหายมีโอกาสไกล่เกลี่ยคดีอาญา ประกอบกับในคดีบางลักษณะ หากมีการนำวิธีคุมประพฤติมาใช้เพื่อให้ผู้กระทำความผิดได้มีโอกาสแก้ไขความผิดของตนโดยไม่มีมลทินติดตัว ด้วยการนำมาตรการชะลอฟ้องคดีมาใช้เป็นมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา จะเป็นการช่วยเยียวยาฟื้นฟูความเสียหายที่เกิดขึ้นจากการกระทำความผิด ลดระยะเวลาและ ความยุ่งยากซับซ้อนในการดำเนินการในกระบวนการยุติธรรมของคู่กรณี ประกอบกับร่างพระราชบัญญัติดังกล่าวสอดคล้องกับแผนพัฒนากฎหมายของกระทรวงยุติธรรมประจำปี 2552 และคำแถลงนโยบายของรัฐบาล ด้านกฎหมายและการยุติธรรม
สาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติ
1. กำหนดให้นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม และอัยการสูงสุด เป็นผู้รักษาการตามพระราชบัญญัตินี้ (ร่างมาตรา 4)
2. กำหนดมาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา ได้แก่ การไกล่เกลี่ยและการชะลอฟ้อง โดยไม่ให้ใช้บังคับกับ คดีที่อยู่ในอำนาจศาลเยาวชนและครอบครัว แต่คดีที่อยู่ในอำนาจศาลทหารและมีเหตุที่อาจใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญาได้ ให้ใช้บังคับได้โดยอนุโลม ส่วนในคดีที่อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลแขวง เมื่อมีคำสั่งให้ใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา มิให้นำบทบัญญัติในเรื่องการฟ้องและการผัดฟ้องมาใช้บังคับ และเมื่อได้มีคำสั่งให้ใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญาแล้ว ให้ถือเป็นเหตุอายุความสะดุดหยุดอยู่ ตลอดจนห้ามมิให้รับฟังพยานหลักฐาน คำรับสารภาพ หรือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นจากการใช้มาตรการแทนการฟ้องคดีอาญา เป็นพยานหลักฐานในการดำเนินคดี (ร่างมาตรา 5 ถึง ร่างมาตรา 10)
3. กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการไกล่เกลี่ย เช่น การไกล่เกลี่ยคดีอาญากระทำได้เมื่อคู่กรณีทั้งสองฝ่ายสมัครใจ กำหนดให้พนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการต้องแจ้งให้คู่กรณีทราบในโอกาสแรก กำหนดระยะเวลามีคำสั่งให้ไกล่เกลี่ยคดีอาญา กำหนดระยะเวลาแต่งตั้งผู้ไกล่เกลี่ย กรณีที่ผู้เสียหายเป็นผู้เยาว์จะกระทำได้เมื่อผู้เยาว์สมัครใจและมีความประสงค์ด้วยตนเอง รวมทั้งกำหนดคดีที่อาจได้รับการไกล่เกลี่ยได้ เป็นต้น (ร่างมาตรา 11 ถึงร่างมาตรา 17)
4. กำหนดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของบุคคลที่จะได้รับการขึ้นทะเบียนให้เป็นผู้ไกล่เกลี่ย และกำหนดให้การยื่นคำขอ การรับขึ้นทะเบียน และการตรวจคุณสมบัติ การลบชื่อ ให้กำหนดในกฎกระทรวง (ร่างมาตรา 18)
5. กำหนดกระบวนการไกล่เกลี่ยคดีอาญา เช่น กำหนดระยะเวลานัดไกล่เกลี่ย ระยะเวลาไกล่เกลี่ยคดีอาญาให้แล้วเสร็จ การจัดหาล่ามหรือทนายความกำหนดให้ผู้ไกล่เกลี่ยยุติการไกล่เกลี่ยเมื่อมีเหตุตามที่กำหนด เป็นต้น (ร่างมาตรา 19 ถึงร่างมาตรา 28)
6. กำหนดเกี่ยวกับผลของการไกล่เกลี่ยคดีอาญา เช่น ผู้เสียหายจะฟ้องคดีมิได้จนกว่าพนักงานสอบสวนหรือพนักงานอัยการจะมีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไป การไกล่เกลี่ยไม่ตัดอำนาจพนักงานสอบสวนที่จะทำการสอบสวนต่อไปเป็นต้น (ร่างมาตรา 29 ถึงร่างมาตรา 32)
7. กำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการชะลอการฟ้อง เช่น กำหนดมูลเหตุที่พนักงานอัยการอาจพิจารณามีคำสั่งให้ชะลอการฟ้องได้ และในการพิจารณามีคำสั่งให้ชะลอการฟ้อง พนักงานอัยการอาจดำเนินการตามที่กำหนดได้ เป็นต้น (ร่างมาตรา 33 ถึงร่างมาตรา 35)
8. กำหนดเกี่ยวกับคำสั่งชะลอการฟ้อง เช่น คำสั่งให้ชะลอฟ้องอาจกำหนดวิธีการคุมประพฤติผู้ต้องหาข้อเดียวหรือหลายข้อก็ได้ กำหนดระยะเวลาแจ้งเหตุผลและผลของคำสั่งชะลอการฟ้อง เงื่อนไขการคุมประพฤติ และวิธีการอุทธรณ์คำสั่งของผู้ต้องหาและผู้เสียหาย กำหนดระยะเวลายื่นคำคัดค้านคำสั่ง เป็นต้น (ร่างมาตรา 36 ถึงร่างมาตรา 39)
9. กำหนดเกี่ยวกับผลของคำสั่งชะลอการฟ้อง เช่น ให้ปล่อยตัวผู้ต้องหาในกรณีที่ถูกคุมขังอยู่ ผู้เสียหายจะฟ้องคดีมิได้จนกว่าพนักงานอัยการจะมีคำสั่งให้ดำเนินคดีต่อไป กำหนดมูลเหตุที่พนักงานอัยการจะพิจารณาสั่งให้ ดำเนินคดีอาญาต่อไป เป็นต้น (ร่างมาตรา 40 ถึงร่างมาตรา 44)
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--