ขออนุมัติกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ตามพระราชกำหนด

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 17, 2010 11:21 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ขออนุมัติกู้เงินเพื่อปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ตามพระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟู

และเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552

คณะรัฐมนตรีอนุมัติให้กระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อการปรับโครงสร้างหนี้เงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนดให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อฟื้นฟูและเสริมสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจ พ.ศ. 2552 วงเงินไม่เกิน 100,000 ล้านบาท โดยการออกพันธบัตรออมทรัพย์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยมีรายละเอียดและเงื่อนไขของพันธบัตรออมทรัพย์รวมทั้งแนวทางการจัดจำหน่ายพันธบัตรออมทรัพย์ ดังนี้

อายุ                            : 6 ปี
วงเงินพันธบัตร                    : วงเงินไม่เกิน 100,000 ล้านบาท โดยจะต้องไม่เกินจำนวนเงินกู้ที่ค้างชำระภายใต้สัญญากู้เงิน

ณ วันที่ 31 มีนาคม2553

อัตราดอกเบี้ย                     : แบบขั้นบันได โดยอ้างอิงกับอัตราผลตอบแทนของพันธบัตรรัฐบาล บวกส่วนชดเชยภาษีไม่เกินร้อยละ15
การขายคืนก่อนกำหนด               : ผู้ถือพันธบัตรสามารถนำไปขายคืนก่อนครบกำหนด ได้ที่ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินอื่น ๆ

นับตั้งแต่พันธบัตร มีอายุครบ 6 เดือนขึ้นไป ตามราคาที่จะตกลงกันเอง

การโอนกรรมสิทธิ์                  : สามารถกระทำได้ตั้งแต่พันธบัตรมีอายุครบ 6 เดือนขึ้นไป ยกเว้นการโอนเพื่อเป็นหลักประกัน

และกรณีผู้ถือกรรมสิทธิ์นั้นเสียชีวิต ทายาทสามารถโอนได้ก่อนเวลาดังกล่าว

ช่วงเวลาจองซื้อและจำหน่าย          ระหว่างวันที่ 29 มี.ค. — 2 เม.ย. 2553 โดยแบ่งการจำหน่ายเป็น 2 ช่วงได้แก่

(1) ผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป วันที่ 29 — 30 มี.ค.2553

(2) ผู้มีสิทธิ์ซื้อทั่วไป* วันที่ 31 มี.ค. — 2 เม.ย. 2553 วงเงินผู้มีสิทธิ์ซื้อต่อ 1 รายในแต่ละช่วง ขั้นต่ำ 10,000 บาท/ ขั้นสูง 1,000,000 บาท

ผู้จัดจำหน่าย                      ธนาคารในการกำกับดูแลของรัฐ หรือธนาคารพาณิชย์
ค่าธรรมเนียม                     เป็นไปตามที่กระทรวงการคลังเห็นสมควร
หมายเหตุ : *ผู้มีสิทธิ์ซื้อทั่วไป ประกอบด้วย บุคคลธรรมดาที่ถือสัญชาติไทยหรือมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทย สภากาชาดไทย มูลนิธิ สมาคม วัด สถานศึกษาของรัฐ โรงพยาบาลของรัฐ และนิติบุคคลอื่นใดที่ไม่มีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไร

ทั้งนี้ ในการดำเนินการคัดเลือกผู้จัดจำหน่าย กระทรวงการคลังจะดำเนินการคัดเลือกสถาบันการเงินที่เหมาะสม โดยคำนึงถึงความสามารถในการกระจายตราสารหนี้ และความเหมาะสมของค่าใช้จ่ายทั้งหมดที่เกี่ยวกับการจัดจำหน่ายตราสารหนี้ สำหรับประมาณการเบิกจ่ายของหน่วยงานเจ้าของโครงการจนถึงสิ้นสุดวันที่ 31 มีนาคม 2553 เบื้องต้นคาดว่าจะมีการเบิกจ่ายสะสมประมาณ 98,126 ล้านบาท อย่างไรก็ดี ยังมีโครงการที่สามารถเร่งรัดการเบิกจ่ายได้ เช่น โครงการของกรมทางหลวง กรมทางหลวงชนบท และกรมชลประทาน เป็นต้น เนื่องจากหน่วยงานเจ้าของโครงการได้ทยอยลงนามผูกพันในสัญญาจ้างเกือบครบถ้วนแล้ว ประกอบกับมีลักษณะสัญญาจ้างที่เป็นสัญญาจ้างระยะสั้นประมาณ 3-6 เดือน

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ