เรื่อง การแก้ไขปัญหาการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (รอบที่1) เพิ่มเติม
และการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว (รอบที่ 2)
คณะรัฐมนตรีเห็นชอบการแก้ไขปัญหาการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (รอบที่1) เพิ่มเติม และการกำหนดหลักเกณฑ์และขั้นตอนการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว (รอบที่ 2) ตามมติคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ (กขช.) เมื่อวันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2553 ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว (รอบที่ 1) เพิ่มเติม
1.1 กรณีไม่ได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรภายในระยะเวลาตามโครงการฯ ไม่เห็นชอบให้เกษตรกรจังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม และนครสวรรค์ ที่ไม่ได้มาขึ้นทะเบียนเกษตรกรภายในระยะเวลาตามที่กำหนดเดือนตุลาคม 2552 เข้าร่วมโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 (รอบที่ 1) เพื่อให้เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553
1.2 กรณีทำสัญญาและขอใช้สิทธิภายในเดือนพฤศจิกายน 2552 และกรณีมีที่นาหลายแปลงแต่ขึ้นทะเบียนได้แปลงเดียว มอบหมายให้คณะอนุกรรมการ กขช.ระดับจังหวัด แต่งตั้งคณะทำงานเพื่อไต่สวนให้ได้ข้อเท็จจริงในพื้นที่ที่มีปัญหา เช่น จังหวัดร้อยเอ็ด มหาสารคาม บุรีรัมย์ อุบลราชธานี ลำปาง และเลย กรณีที่กลุ่มเกษตรกรขอใช้สิทธิ 16 -30 พฤศจิกายน 2552 แต่ ธ.ก.ส. ให้ใช้สิทธิช่วงวันที่ 1 ธันวาคม 2552 — 28 กุมภาพันธ์ 2553 และกรณีเกษตรกรจังหวัดมหาสารคามที่ปลูกข้าวในที่นาหลายแปลง แต่เกษตรอำเภอขึ้นทะเบียนให้ใช้สิทธิเพียงแปลงเดียว เพื่อให้เกิดความชัดเจนและเป็นธรรมกับทุกฝ่ายโดยให้หาต้นเหตุของปัญหาและดำเนินการให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อแจ้งฝ่ายเลขานุการ กขช. ดำเนินการต่อไป
1.3 กรณีเกษตรกรปลูกข้าว 2 ชนิด ทำสัญญาประกันรายได้ และต่อมาขอเปลี่ยนแปลงใช้สิทธิวันเดียวกันคือ 30 พฤศจิกายน 2552 แต่ ธ.ก.ส.กำหนดวันใช้สิทธิต่างกันสำหรับข้าวแต่ละชนิด มอบหมายให้ ธ.ก.ส.แก้ไขเปลี่ยนแปลงการใช้สิทธิของเกษตรกรให้ถูกต้อง โดยให้ได้รับสิทธิวันเดียวกันคือวันที่ 30 พฤศจิกายน 2552 ตามที่เกษตรกรจังหวัดมหาสารคามที่ปลูกข้าว 2 ชนิดร้องขอ เนื่องจากเกิดความผิดพลาดทางเอกสารและไม่ใช่ความผิดของเกษตรกร
1.4 กรณีเกษตรกรทำสัญญาช่วงวันที่ 1 — 16 ธันวาคม 2552 แต่ ธ.ก.ส.ระบุวันที่ใช้สิทธิให้เกษตรกรในช่วงวันที่ 16 — 31 ธันวาคม 2552 เห็นชอบให้เกษตรกรจังหวัดขอนแก่นที่ทำสัญญากับ ธ.ก.ส. ช่วงวันที่ 1 — 16 ธันวาคม 2552 ใช้สิทธิชดเชยได้ในวันที่ 1- 15 ธันวาคม 2552 ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552
1.5 กรณีเกษตรกรทำสัญญาช่วงวันที่ 16 — 31 ธันวาคม 2552 ขอใช้สิทธิในวันที่ 1 — 15 ธันวาคม 2552 มอบหมายให้ ธ.ก.ส.และสำนักงานการค้าภายในจังหวัดขอนแก่นตรวจสอบข้อเท็จจริงว่าเกษตรกรจังหวัดขอนแก่น จำนวน 28,369 ราย ทำสัญญาช่วงวันที่ 16 -31 ธันวาคม 2552 จริงหรือไม่ หรือเป็นการใช้สิทธิในช่วงเวลาดังกล่าว แต่ได้รับเงินชดเชยน้อย หรือไม่ได้รับเงินชดเชย จึงมาขอใช้สิทธิช่วงวันที่ 1 — 15 ธันวาคม 2552 โดยขอให้ตรวจสอบแล้วเสร็จภายใน 7 วัน และแจ้งฝ่ายเลขานุการ กขช.เพื่อดำเนินการต่อไป
1.6 กรณีเกษตรกรปลูกข้าวเหนียวขอรับเงินชดเชยช่วงเดือนพฤศจิกายน 2552 เนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 เห็นชอบให้เกษตรกรที่ทำสัญญาช่วง 16 — 30 ธันวาคม 2552 ใช้สิทธิชดเชยได้ในช่วง 1 — 15 ธันวาคม 2552 แต่เกษตรกรที่ปลูกข้าวเหนียวและข้าวปทุมธานี 1 ไม่ได้รับเงินชดเชยเพราะไม่มีส่วนต่างของราคาประกันกับเกณฑ์กลางอ้างอิง จึงเห็นชอบให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวเหนียวและข้าวปทุมธานี 1 ที่ทำสัญญาในช่วงวันที่ 1 -31 ธันวาคม 2552 สามารถใช้สิทธิชดเชยได้ โดยให้เกษตรกรที่ปลูกข้าวเหนียวใช้สิทธิในช่วงวันที่ 16 -30 พฤศจิกายน 2552 และเกษตรกรที่ปลูกข้าวปทุมธานี 1 ให้ใช้สิทธิในช่วงวันที่ 1 — 15 พฤศจิกายน 2552 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของชนิดข้าวดังกล่าวที่จะได้รับเงินชดเชย เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมเพราะเป็นช่วงขยายเวลาทำสัญญา เนื่องจากหน่วยงานของรัฐทำสัญญาไม่ทัน
1.7 กรณีกรมส่งเสริมการเกษตรออกหนังสือรับรองให้เกษตรกรไม่ตรงตามชนิดข้าวที่เกษตรกรปลูก รับทราบตามที่กรมส่งเสริมการเกษตรยืนยันว่าได้ตรวจสอบและแก้ไขให้เกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี และเชียงใหม่ ถูกต้องตามความเป็นจริงแล้ว
1.8 กรณีเจ้าหน้าที่ ธ.ก.ส.ขอเงินชดเชยบางส่วนคืนจากเกษตรกร และในกรณีนำเงินชดเชยมาจ่ายให้เกษตรกรแล้วคิดค่าธรรมเนียมจากเกษตรกร รายละ 30 บาท รับทราบตามที่ ธ.ก.ส.จะแก้ไขเปลี่ยนแปลงให้ ถูกต้องและคืนเงินชดเชยและค่าธรรมเนียมดังกล่าวแก่เกษตรกรจังหวัดอุบลราชธานี และมหาสารคาม
1.9 กรณีเกษตรกรภาคใต้ขอใช้สิทธิช่วงวันที่ 1 — 15 ธันวาคม 2552 เห็นชอบยืนยันให้เกษตรกรในจังหวัดภาคใต้ ใช้สิทธิประกันรายได้ รอบที่ 1 ช่วงหลังการเก็บเกี่ยวตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 2552 เพื่อให้เป็นไปตามหลักการของโครงการประกันรายได้ เนื่องจากหน่วยงานของรัฐสามารถทำสัญญาได้ทันตามกำหนดเวลา
2. การกำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงข้าวเปลือก
เห็นชอบให้กำหนดเกณฑ์กลางอ้างอิงโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 ทั้งรอบที่ 1 และรอบที่ 2 เป็นราคาเดียวกัน โดยให้ยึดหลักเกณฑ์และวิธีการคำนวณตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดไว้เดิม คือให้คำนวณจากมูลค่าข้าวสาร ณ ตลาดกรุงเทพมหานครรวมกับมูลค่าผลิตภัณฑ์ หักด้วยค่าแปรสภาพข้าวเปลือกเป็นข้าวสาร และค่าขนส่งเฉลี่ยจากกรุงเทพมหานครถึงจังหวัดจุดซื้อขายของเกษตรกร ทั้งนี้ เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงให้คำนวณค่าขนส่งเฉลี่ยกรุงเทพฯ ถึงจังหวัดจุดซื้อขายของเกษตรกรในพื้นที่ที่มีผลผลิตออกสู่ตลาดในขณะนั้นและนำปริมาณผลผลิตมา เฉลี่ยถ่วงน้ำหนักอัตรา ค่าขนส่งเพื่อใช้ในการคำนวณเกณฑ์กลางอ้างอิงด้วย
3. หลักเกณฑ์ขั้นตอน การประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2
เห็นชอบหลักเกณฑ์ ขั้นตอน และแนวทางการปฏิบัติโครงการประกันรายได้เกษตรกร ปี 2552/53 รอบที่ 2 ตามคู่มือการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 ของกรมส่งเสริมการเกษตร และหลักเกณฑ์การทำสัญญาและการใช้สิทธิโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 ของ ธ.ก.ส. ตามที่เสนอ โดยให้เพิ่มเติม ดังนี้
3.1 ขั้นตอนการทำประชาคม กรณีที่ทำประชาคมแล้วไม่มีการคัดค้าน ให้คณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลสุ่มตรวจสอบพื้นที่จริงร้อยละ 10 ของจำนวนแปลงที่มีการทำประชาคมภายในระยะเวลาที่กำหนด หากตรวจสอบข้อเท็จจริงแล้วพบว่าเกินกว่าร้อยละ 50 ของจำนวนแปลงที่สุ่มตรวจสอบไม่เป็นไปตามที่เกษตรกรแจ้งในแบบขึ้นทะเบียน ทพศ.1 คณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลจะต้องทำการตรวจสอบจำนวนแปลงที่มาทำประชาคมทั้งหมด ภายในระยะเวลา 30 วัน นับจากวันสุ่มตรวจสอบพื้นที่จริง โดยให้คณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลดำเนินการเพิกถอนสิทธิการขึ้นทะเบียนแปลงที่แจ้งข้อมูลไม่ตรงกับความเป็นจริง และให้อยู่ในดุลยพินิจของคณะกรรมการฯ ที่จะดำเนินการตามกฎหมาย
ทั้งนี้ ให้กรมส่งเสริมการเกษตรดำเนินการออกใบรับรองเกษตรกรให้กับเกษตรกรทุกแปลงตามที่ขึ้นทะเบียน โดยให้เพิ่มในรายละเอียดว่าอยู่ในระหว่างดำเนินการตรวจสอบ เมื่อเกษตรกรนำไปทำสัญญากับ ธ.ก.ส. ให้กำหนดการใช้สิทธิตามขั้นตอน แต่ ธ.ก.ส.จะยังไม่จ่ายเงินให้กับเกษตรกร จนกว่าการดำเนินการตรวจสอบของคณะกรรมการตรวจสอบระดับตำบลจะเสร็จสิ้น และแจ้งผลให้ ธ.ก.ส. ดำเนินการต่อไป
3.2 การออกใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ให้กรมส่งเสริมการเกษตรออกใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร จำนวน 3 ใบ ประกอบด้วย (1) ต้นฉบับ จะมอบให้เกษตรกรเพื่อนำไปทำสัญญากับ ธ.ก.ส. (2) สำเนาคู่ฉบับใบที่ 1 เกษตรอำเภอจะต้องเก็บไว้เป็นหลักฐาน (3) สำเนาคู่ฉบับ ใบที่ 2 ให้เกษตรกรเก็บไว้ หากต้องการสามารถนำไปใช้เป็นหลักฐานในการเข้าร่วมโครงการแทรกแซงตลาดรับซื้อข้าวเปลือก ในกรณีที่ราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงมีราคาต่ำกว่าราคาประกัน
ทั้งนี้ กำหนดให้ระบุในใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนว่าเกษตรกรต้องนำใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรมาขอทำสัญญากับ ธ.ก.ส. ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ออกหนังสือรับรอง ณ สาขาที่ตั้งภูมิลำเนา
3.3 ขั้นตอนการจัดทำสัญญาประกันรายได้กับ ธ.ก.ส. เกษตรกรสามารถกำหนดวันใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันเก็บเกี่ยวที่ระบุในใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกรเป็นต้นไป และต้องอยู่ในช่วงเวลาตั้งแต่วันที่ 21 มกราคม — 31 กรกฎาคม 2553 และภาคใต้ตั้งแต่วันที่ 21 เมษายน — 31 ตุลาคม 2553 โดยมีรายละเอียดดังนี้
3.3.1 กรณีจัดทำสัญญาประกันรายได้ก่อนวันที่เก็บเกี่ยวตามใบรับรองผลการขึ้นทะเบียนเกษตรกร ให้ใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่เก็บเกี่ยวเป็นต้นไป ซึ่งต้องไม่เกินวันสิ้นสุดกำหนดวันใช้สิทธิ โดยเกษตรกรสามารถแจ้งในวันทำสัญญาหรือแจ้งในภายหลังได้ ทั้งนี้ กรณีแจ้งขอใช้สิทธิในภายหลังวันที่เกษตรกรจะกำหนดวันขอใช้สิทธิให้นับตั้งแต่วันที่เกษตรกรมาแจ้งขอใช้สิทธิเป็นต้นไป ซึ่งต้องไม่เกินวันสิ้นสุดกำหนดวันใช้สิทธิ
3.3.2 กรณีส่วนราชการไม่สามารถออกใบรับรองผลการขึ้นทะเบียน หรือจัดทำสัญญาประกันรายได้ให้เกษตรกรก่อนวันที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวตามที่ระบุไว้ในใบรับรองฯ อนุโลมให้เกษตรกรจัดทำสัญญาประกันรายได้ โดยสามารถใช้สิทธิย้อนหลังตั้งแต่วันที่เกษตรกรเก็บเกี่ยวหรือใช้สิทธิในอนาคต แต่ไม่เกินวันที่ 31 กรกฎาคม 2553 และภาคใต้ไม่เกินวันที่ 31 ตุลาคม 2553 ทั้งนี้ เกษตรกรจะต้องจัดทำสัญญากับ ธ.ก.ส. ภายใน 15 วัน นับถัดจากวันที่กรมส่งเสริมการเกษตรออกใบรับรอง
3.3.3 กรณีที่เกษตรกรมาทำสัญญาเกิน 15 วัน นับถัดจากวันที่กรมส่งเสริมการเกษตร ออกใบรับรองผลการขึ้นทะเบียน เกษตรกรสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ทำสัญญาเป็นต้นไป แต่ไม่เกินวันสิ้นสุดกำหนดวันใช้สิทธิ และเกษตรกรจะต้องกำหนดการใช้สิทธิในวันที่มาทำสัญญาด้วย หากในอนาคตจะเปลี่ยนแปลงวันที่ใช้สิทธิอีกต้องมาแจ้ง ธ.ก.ส. ล่วงหน้า 3 วันทำการ ก่อนถึงกำหนดวันใช้สิทธิ
3.3.4 กรณีทบทวนการขึ้นทะเบียนใหม่หรือกรณีตกสำรวจจากการขึ้นทะเบียนและทำประชาคม เกษตรกรสามารถใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันทำสัญญาเป็นต้นไป
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--