สรุปสถานการณ์ภัยหนาว ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 17, 2010 14:22 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบตามที่กระทรวงมหาดไทย โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้ติดตามสถานการณ์ ภัยหนาวที่เกิดขึ้น (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553) สรุปสถานการณ์ดังกล่าว รวมทั้งผลการปฏิบัติงานช่วยเหลือประชาชน และเนื่องจากช่วงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ถึงมีนาคมจะมีอุณหภูมิสูงขึ้น ทำให้อากาศร้อนอบอ้าวมีปริมาณฝนตกน้อย รวมทั้งผลกระทบจากปรากฏการณ์เอลนีโญ ทำให้หลายพื้นที่ของประเทศไทย ต้องประสบกับความแห้งแล้ง และขาดแคลนน้ำเพื่ออุปโภคบริโภค รวมทั้งน้ำเพื่อการเกษตร โดยเฉพาะพื้นที่นอกเขตชลประทาน และการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยจนถึงปัจจุบัน (วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553) ดังนี้

1. สรุปสถานการณ์ภัยหนาวและการให้ความช่วยเหลือ (ข้อมูล ณ วันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553)

1.1 พื้นที่ประสบภัยหนาวที่มีอุณหภูมิอยู่ในเกณฑ์อากาศหนาว (8.0-15.9 องศาเซลเซียส) ถึงหนาวจัด (ต่ำกว่า 8.0 องศาเซลเซียส) และได้ประกาศเป็นพื้นที่ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉินแล้ว จำนวน 35 จังหวัด สรุปได้ดังนี้

ที่    ภาค          พื้นที่ประกาศภัยพิบัติ                                                รวม
1    เหนือ         กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตาก น่าน พะเยา                  13 จังหวัด
                  เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง ลำพูน สุโขทัย อุตรดิตถ์
2    ตะวันออก      กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนม นครราชสีมา บุรีรัมย์                19 จังหวัด
     เฉียงเหนือ     มหาสารคาม มุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย ศรีสะเกษ
                  สกลนคร  สุรินทร์  หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี
                  อุบลราชธานี อำนาจเจริญ
3    กลาง         ลพบุรี   สุพรรณบุรี                                           2 จังหวัด
4    ตะวันออก      จันทบุรี                                                    1 จังหวัด
     รวม                                                                  35 จังหวัด

1.2 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคกลาง และภาคตะวันออกได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการเฉพาะกิจช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว ปี 2552 - 2553 ณ สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด และมี 35 จังหวัด รายงานว่า ได้มอบเครื่องกันหนาวให้แก่ประชาชนที่ขาดแคลนใน 477 อำเภอ 3,095 ตำบล 41,691 หมู่บ้าน โดยกระทรวงมหาดไทยได้ร่วมกับมูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ สภากาชาดไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย สำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยจังหวัด องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) สมาคม มูลนิธิ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาว โดยแจกจ่ายเครื่องกันหนาวไปแล้ว รวม 703,185 ชิ้น แยกเป็น ผ้าห่มนวม 587,611 ผืน เสื้อกันหนาว 91,464 ตัว หมวกไหมพรม 18,901 ใบ และอื่นๆ 19,170 ชิ้น

ตารางจังหวัดที่ประกาศภัยพิบัติฉุกเฉินและได้แจกจ่ายเครื่องกันหนาวช่วยเหลือผู้ประสบภัย

ที่   ภาค       จังหวัดที่แจกจ่ายเครื่องกันหนาว                   จำนวนราษฎรเดือดร้อนจากภัยหนาว    จำนวนเครื่องกันหนาว
                                                              คน         ครัวเรือน       ที่แจกจ่ายแล้ว (ชิ้น)
1   เหนือ      กำแพงเพชร เชียงราย เชียงใหม่ ตากน่าน           995,346         274,209           419,545
              พะเยา เพชรบูรณ์ แพร่ แม่ฮ่องสอน ลำปาง
              ลำพูน สุโขทัยอุตรดิตถ์
2   ตะวันออก   กาฬสินธุ์ ขอนแก่น ชัยภูมิ นครพนมนครราชสีมา        2,019,415        454,647           275,790
    เฉียงเหนือ  บุรีรัมย์ มหาสารคามมุกดาหาร ยโสธร ร้อยเอ็ด
              เลย ศรีสะเกษ  สกลนคร  สุรินทร์  หนองคาย
              หนองบัวลำภู อุดรธานี อุบลราชธานี อำนาจเจริญ
3   กลาง      ลพบุรี   สุพรรณบุรี                              120,554         19,955             2,850
4   ตะวันออก   จันทบุรี                                        25,462          6,050             5,000
    รวม       35 จังหวัด 477 อำเภอ 3,095                  3,160,777        754,861           703,185
              ตำบล 41,691 หมู่บ้าน

1.3 การให้ความช่วยเหลือของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

1) มูลนิธิร่วมกตัญญู มอบผ้าห่มกันหนาวพร้อมถุงยังชีพในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ จำนวน 2,500 ชุด พร้อมกันนี้ได้นำอุปกรณ์การเรียน อุปกรณ์กีฬา และทุนการศึกษาไปมอบให้กับโรงเรียนในพื้นที่ จำนวน 82 โรงเรียน

2) หอการค้าไทย-จีน และสมาคมแต้จิ๋วแห่งประเทศไทย ได้มอบผ้าห่มช่วยเหลือภัยหนาว จำนวน 8,000 ผืน ผ่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย และได้นำไปมอบให้แก่ประชาชนใน 7 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดอุดรธานี หนองบัวลำภู เลย อุตรดิตถ์ แพร่ พะเยา และจังหวัดเชียงราย

3) บริษัทไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้ให้การสนับสนุนผ้าห่มกันหนาว จำนวน 200,000 ผืน มูลค่ากว่า 30 ล้านบาท แจกจ่ายช่วยเหลือผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่ 15 จังหวัด

2. สรุปสถานการณ์ภัยแล้ง และการให้ความช่วยเหลือ (ระหว่างวันที่ 1 พฤศจิกายน 2552 - 15 กุมภาพันธ์ 2553)

2.1 พื้นที่ประสบภัย 14 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกำแพงเพชร เชียงราย น่าน พะเยาแพร่ ลำปาง สุโขทัย ขอนแก่น เลย หนองบัวลำภู ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สุพรรณบุรี และจังหวัดตรัง รวม 95 อำเภอ 827 ตำบล 4,824 หมู่บ้าน แยกเป็น

ที่                         พื้นที่ประสบภัย                                                     ราษฎรประสบภัย
   ภาค       จังหวัด     อำเภอ     ตำบล      หมู่บ้าน         รายชื่อจังหวัด                     คน      ครัวเรือน
1  เหนือ          7        62      444      2,919    กำแพงเพชร เชียงราย น่าน          669,618      225,890
                                                    พะเยาแพร่ ลำปาง สุโขทัย
2  ตะวันออก       3        20      291      1,286    ขอนแก่น  เลย  หนองบัวลำภู         238,022       71,445
   เฉียงเหนือ
3  กลาง          3        11       85        584    ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี สุพรรณบุรี     115,998       29,906
4  ใต้            1         2        7         35    ตรัง                              1,556          134
   รวมทั้งประเทศ  14        95      827      4,824                                 1,025,194      327,375

2.2 ความเสียหาย

  • ราษฎรได้รับความเดือดร้อน 1,025,194 คน 327,375 ครัวเรือน
  • พื้นที่การเกษตรคาดว่าจะเสียหาย รวม 82,274 ไร่ แยกเป็น พืชไร่ 78,353 ไร่ นาข้าว 3,431 ไร่ พืชสวนและอื่นๆ 490 ไร่

2.3 การให้ความช่วยเหลือ

1) ใช้รถบรรทุกน้ำ 55 คัน แจกจ่ายน้ำอุปโภคบริโภคแล้ว จำนวน 321,600 ลิตร

2) ซ่อมสร้างทำนบ/ฝายชั่วคราวปิดกั้นลำน้ำ 180 แห่ง

3) ขุดลอกแหล่งน้ำ 108 แห่ง

4) กรมชลประทาน ได้จัดส่งเครื่องสูบน้ำ 575 เครื่อง ไปให้ความช่วยเหลือ โดยแยกเป็นรายภาค ดังนี้ ภาคเหนือ 231 เครื่อง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 228 เครื่อง ภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคตะวันตก 116 เครื่อง

3. การให้ความช่วยเหลือ

  • สิ่งของพระราชทาน

1) มูลนิธิราชประชานุเคราะห์ ในพระบรมราชูปถัมภ์ มอบสิ่งของพระราชทาน ผ้าห่มกันหนาวและอุปกรณ์กีฬา แก่นักเรียนโรงเรียนราชประชานุเคราะห์ และมอบผ้าห่มกันหนาวพระราชทานแก่ราษฎรผู้ประสบภัยในพื้นที่จังหวัดหนองคาย อุดรธานี เลย พิษณุโลกแพร่ พะเยา เชียงราย เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน ลำพูน ลพบุรี ตาก ลำปาง น่าน อุตรดิตถ์ ยโสธรอุบลราชธานี ศรีสะเกษ และจังหวัดบุรีรัมย์ ระหว่างวันที่ 6 ธันวาคม 2552 — 28 มกราคม 2553 รวมทั้งสิ้น 23,683 ชุด

2) สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ สภานายิกาสภากาชาดไทย ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้นายแผน วรรณเมธี เลขาธิการสภากาชาดไทย และคณะ นำเครื่องกันหนาว ยาสามัญประจำบ้าน เครื่องอุปโภคบริโภค มอบให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวในพื้นที่จังหวัดชัยภูมิ เชียงใหม่ และจังหวัดกาฬสินธุ์ ระหว่างวันที่ 14 - 28 ธันวาคม 2552 รวม 3,829 ชุด เสื้อกันหนาวเด็กนักเรียนพร้อมอุปกรณ์การเรียน จำนวน 667 ชุด

3) สมเด็จพระบรมโอรสาธิราชฯ สยามมกุฎราชกุมาร และพระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าศรีรัศมิ์ พระวรชายาฯ ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า ให้ผู้แทนพระองค์ นำถุงยังชีพและสิ่งของพระราชทาน ไปมอบที่จังหวัดเลย ตาก สกลนคร แม่ฮ่องสอน เชียงราย อำนาจเจริญ และจังหวัดลำปาง ระหว่างวันที่ 14 ธันวาคม 2552 — 15 มกราคม 2553 รวมทั้งสิ้น 10,500 ชุด

4) สำนักงานบรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ และเหล่ากาชาดจังหวัดมอบสิ่งของให้แก่ผู้ประสบภัยหนาวที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ร้อยเอ็ด ศรีสะเกษ นครพนม และจังหวัดพะเยาระหว่างวันที่ 7 - 26 มกราคม 2553 รวมผ้าห่มกันหนาว 2,065 ผืน เสื้อกันหนาวผู้ใหญ่และเด็กรวม 1,438 ตัว และยาสามัญประจำบ้าน 1,500 ชุด

4. การคาดหมายลักษณะอากาศระหว่างวันที่ 15-20 กุมภาพันธ์ 2553

4.1 กรมอุตุนิยมวิทยา คาดหมายลักษณะอากาศว่า ในช่วงวันที่ 15-16 กุมภาพันธ์ 2553 ลมใต้และลมตะวันออกเฉียงใต้พัดปกคลุมประเทศไทยตอนบน ทำให้มีฝนฟ้าคะนอง และลมกระโชกแรงบางแห่ง และอุณหภูมิสูงขึ้นในตอนกลางวัน ในช่วงวันที่ 17-19 กุมภาพันธ์ 2553 บริเวณความกดอากาศสูงกำลังปานกลางจากประเทศจีนจะแผ่ลงมาปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ทำให้บริเวณดังกล่าวเกิดพายุฤดูร้อนได้ ขอให้ประชาชนบริเวณประเทศไทยตอนบน โดยเฉพาะในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ระมัดระวังอันตรายจากพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรง ที่อาจทำให้ต้นไม้หักโค่น ป้ายโฆษณาหรือที่พักอาศัยได้รับความเสียหายในระยะนี้

4.2 กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ได้จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์ในพื้นที่อย่างต่อเนื่องตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งเตรียมเครื่องมืออุปกรณ์ไว้ให้พร้อมเพื่อสามารถช่วยเหลือผู้ประสบภัยได้ทันต่อเหตุการณ์เมื่อเกิดสาธารณภัยขึ้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ