การดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 17, 2010 14:39 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบการดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ตามมติคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ในคราวประชุม ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2553 สรุปสาระสำคัญได้ ดังนี้

1. รายงานสถานการณ์ภัยแล้งและการให้ความช่วยเหลือหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ได้แก่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ การประปาส่วนภูมิภาค ได้รายงานสถานการณ์ภัยแล้ง และการดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งการเตรียมการเพื่อช่วยเหลือประชาชนผู้ประสบภัยแล้ง

2. พิจารณาหลักเกณฑ์การเสนอขอรับการจัดสรรงบประมาณของหน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกรณีเงินทดรองจ่ายไม่เพียงพอและแผนการดำเนินการความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง

2.1 หลักเกณฑ์การขอรับการสนับสนุนงบประมาณแก่หน่วยงานต่างๆ เพื่อดำเนินการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง เพื่อให้การดำเนินการเตรียมการแก้ไขปัญหาภัยแล้งของ คปล. เป็นไปตามนัยมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 และเป็นการเร่งรัดให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง ดำเนินการให้การช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้งรวมทั้งเตรียมการในการแก้ไขปัญหาเป็นไปอย่างรวดเร็วทันการณ์ และเนื่องจากการดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งจะต้องเร่งดำเนินการให้ความช่วยเหลือในกรณีฉุกเฉิน ซึ่งนอกจากจะใช้งบประมาณจากเงินทดรองราชการที่ตั้งไว้ที่จังหวัด กระทรวงมหาดไทย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ รวมทั้งหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องแล้ว อาจต้องมีการดำเนินการในด้านอื่นๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยหน่วยงานที่รับผิดชอบมิได้มีการตั้งงบประมาณไว้ จึงเห็นควร ให้หน่วยงานต่าง ๆ จัดทำแผนงาน/โครงการเพื่อขอรับการสนับสนุนงบประมาณ ซึ่งฝ่ายเลขานุการได้นำเสนอที่ประชุมพิจารณาหลักเกณฑ์การให้ความช่วยเหลือ และแผนการดำเนินงาน ดังนี้

1) พื้นที่การให้ความช่วยเหลือจะต้องอยู่ในเกณฑ์ที่ได้มีการประกาศให้เป็นพื้นที่เกิดภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน และเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นในระหว่างเวลาที่ประกาศเป็นภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน

2) การให้ความช่วยเหลือเพื่อแก้ไขปัญหาหรือบรรเทาความเดือดร้อน ต้องเป็นกรณีที่มีความ เร่งด่วน ฉุกเฉิน หรือจำเป็น

3)โครงการ/กิจกรรมที่จะดำเนินการต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติจังหวัด (ก.ช.ภ.จ.) แล้ว และระยะเวลาดำเนินการโครงการ/กิจกรรมควรแล้วเสร็จภายในปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 (30 กันยายน 2553)

4) ต้องสอดคล้องกับอำนาจหน้าที่ หรือภารกิจของหน่วยงานโดยไม่เกิดความซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่น

คณะกรรมการฯ พิจารณาหลักเกณฑ์ดังกล่าว และได้มอบหมายให้กรมบัญชีกลางพิจารณาปรับปรุงให้เหมาะสมอีกครั้งหนึ่งเพื่อเป็นหลักเกณฑ์กลางให้หน่วยงานต่างๆ ได้ถือปฏิบัติต่อไป

2.2 แผนการดำเนินการความช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง

คณะกรรมการฯ ได้กำหนดแผนการดำเนินการสำหรับการอำนวยการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ดังนี้

1) รวบรวมข้อมูลแผนงาน/โครงการจากหน่วยงานต่างๆ ที่ขอจัดสรรงบประมาณเพื่อการแก้ไขปัญหาภัยแล้งส่งให้คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการและงบประมาณการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง (กุมภาพันธ์ - เมษายน 2553)

2) การพิจารณากลั่นกรองแผนงาน/โครงการ (กุมภาพันธ์- พฤษภาคม 2553)

3) การประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อรับทราบการเตรียมการแก้ไขปัญหาภัยแล้งและพิจารณาการขอรับการสนับสนุนงบประมาณการให้ความช่วยเหลือ และแผนการดำเนินงาน (กุมภาพันธ์-มีนาคม 2553)

4) การติดตามและประเมินผลการดำเนินงานในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง เป็นการตรวจติดตามและประเมินผลโดยใช้กลไกผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรีและผู้ตรวจราชการกระทรวงที่เกี่ยวข้อง ในการตรวจราชการรอบที่ 2 ปีงบประมาณ พ.ศ. 2553 (พฤษภาคม — มิถุนายน 2553)

5) การประชุมคณะกรรมการฯ เพื่อสรุปผลความคืบหน้าการดำเนินการแก้ไขปัญหาภัยแล้งนำเสนอคณะรัฐมนตรีทราบ/พิจารณา (มีนาคม — สิงหาคม 2553)

6) การนำผลการดำเนินงานการแก้ไขปัญหาภัยแล้งเสนอคณะรัฐมนตรีเพื่อทราบ/พิจารณา (พฤษภาคม- สิงหาคม 2553)

2.3 คณะอนุกรรมการสนับสนุนการดำเนินการของคณะกรรมการฯ

คณะกรรมการอำนวยการฯ ได้เห็นชอบให้คณะอนุกรรมการสนับสนุนการปฏิบัติงานการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง จำนวน 2 คณะ ซึ่งคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้งได้แต่งตั้งไว้ ยังคงปฏิบัติหน้าที่ตามเดิมต่อไป ดังนี้

1) คณะอนุกรรมการกลั่นกรองแผนงาน/โครงการและงบประมาณการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยมี ผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ เป็นประธาน

2) คณะอนุกรรมการติดตามประเมินผลการดำเนินงานในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยแล้ง โดยมี หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน

2.4 รองนายกรัฐมนตรี (พลตรี สนั่น ขจรประศาสน์) ได้เสนอความเห็นว่า คณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย และคณะกรรมการอำนวยการกำกับติดตามการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ในการดำเนินการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในลักษณะเดียวกัน จึงเห็นควรให้มีการปรับปรุง คณะกรรมการฯ ทั้ง 2 คณะดังกล่าวเป็นชุดเดียว เพื่อให้เกิดการบูรณาการการช่วยเหลือผู้ประสบภัยอย่างเป็นระบบ ซึ่งจะได้นำกราบเรียนนายกรัฐมนตรีพิจารณาในโอกาสต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ