ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2010 09:11 —มติคณะรัฐมนตรี

เรื่อง ร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ....

คณะรัฐมนตรีอนุมัติหลักการร่างพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ตามที่กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอ และให้ส่งสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา แล้วดำเนินการต่อไปได้

ข้อเท็จจริง

กระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเสนอว่า

1. สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ SIPA เป็นหน่วยงานของรัฐในกำกับดูแลของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร ตามพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 โดยมีคณะกรรมการบริหารสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติปฏิบัติหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหาร และให้ความเห็นชอบแผนการดำเนินงานของสำนักงานฯ และสามารถแต่งตั้งคณะอนุกรรมการ เพื่อพิจารณาหรือปฏิบัติการอย่างใดอย่างหนึ่งตามที่คณะกรรมการบริหารฯ มอบหมายได้

2. เนื่องจากคณะกรรมการบริหารฯ มีความจำเป็นจะต้องแต่งตั้งกรรมการบริหารฯ เข้าร่วมเป็นคณะอนุกรรมการคณะต่าง ๆ ทั้งนี้ เพราะกรรมการบริหารฯ จะมีความเข้าใจนโยบายของคณะกรรมการบริหารฯ และสามารถติดตามผลการดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ในทางปฏิบัติคณะกรรมการบริหารฯ ไม่สามารถเป็นอนุกรรมการได้ เพราะตามมาตรา 15 (6) แห่งพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้กำหนดว่าประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิต้องไม่เป็นอนุกรรมการ ดังนั้นจึงได้มีการหารือเรื่องการแต่งตั้งกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิเป็นอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการต่าง ๆ กับสำนักงาน ก.พ.ร. และได้รับแจ้งว่าหากประสงค์จะแต่งตั้งให้กรรมการผู้ทรงคุณวุฒิดำรงตำแหน่งอนุกรรมการในคณะอนุกรรมการดังกล่าว จะต้องแก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 จากเดิม โดยตัดคำว่า “อนุกรรมการ” ในมาตรา 15 (6) ออก

3. คณะกรรมการบริหารฯ ได้มีมติในการประชุมครั้งที่ 3/2552 เห็นชอบให้แก้ไขพระราชกฤษฎีกาจัดตั้งสำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) พ.ศ. 2546 โดยให้ตัดคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามในส่วนการเป็น “อนุกรรมการ” ตามมาตรา 15 (6) ออก

สาระสำคัญของร่างพระราชกฤษฎีกา

แก้ไขคุณสมบัติและลักษณะต้องห้ามของประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ โดยตัดลักษณะต้องห้ามในการเป็นอนุกรรมการออก เพื่อให้คณะกรรมการบริหารฯ สามารถได้รับแต่งตั้งเป็นอนุกรรมการได้ (ร่างมาตรา 3 ยกเลิกมาตรา 15 (6))

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ