มาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2010 09:26 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่กระทรวงการคลังเสนอ ทั้ง 2 ข้อ ดังนี้

1. รับทราบแนวทางการจัดสรรเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 31 มีนาคม 2553

2. เห็นชอบการขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ตามหลักการดำเนินมาตรการฯ ในข้อ 2 โดยให้รัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ กฟน. กฟภ. ขสมก. และ รฟท. กู้เงินเพื่อชดเชยรายได้จากการดำเนินการตามมาตรการฯ ดังกล่าว และให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปี เพื่อชำระคืนเงินต้นดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินให้กับรัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง ต่อไป

สาระสำคัญของเรื่อง

กระทรวงการคลังเสนอว่า ตามที่คณะรัฐมนตรีได้มีมติเมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2552 เห็นชอบให้ขยายระยะเวลาในการดำเนินการตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชนต่อไปอีกเป็นเวลา 3 เดือน (1 มกราคม — 31 มีนาคม 2553) และให้กระทรวงการคลังและสำนักงบประมาณร่วมกันพิจารณาแนวทางการจัดสรรเงินเพื่อสนับสนุนการขยายระยะเวลาการดำเนินการตามมาตรการฯ ดังกล่าวให้แก่หน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการ ได้แก่ การประปานครหลวง (กปน.) การประปาส่วนภูมิภาค (กปภ.) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กปภ.) องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้น กระทรวงการคลังได้สรุปผลการพิจารณาแนวทางการจัดสรรเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการฯ ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 31 มีนาคม 2553 พร้อมทั้งเสนอขยายระยะเวลาดำเนินการตามมาตรการฯ ต่อไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ดังนี้

1. แนวทางการจัดสรรเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการลดภาระค่าครองชีพของประชาชน ระยะที่ 3 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 31 มีนาคม 2553

กระทรวงการคลังได้ดำเนินการหารือร่วมกับสำนักงบประมาณในเรื่องแนวทางการจัดสรรเงินเพื่อสนับสนุนการดำเนินการตามมาตรการฯ ดังกล่าวตามมติคณะรัฐมนตรีข้างต้นแล้ว เห็นควรให้รัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบดำเนินการตามมาตรการฯ ได้แก่ กปน. กปภ. กฟน. กฟภ. ขสมก. และ รฟท. ดำเนินการกู้เงินเพื่อชดเชยรายได้จากการดำเนินการตามมาตรการฯ ที่ขยายระยะเวลาต่อไปอีกเป็นระยะเวลา 3 เดือน (1 มกราคม — 31 มีนาคม 2553) โดยสำนักงบประมาณจะพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินให้กับรัฐวิสาหกิจดังกล่าวตามความจำเป็นและเหมาะสมต่อไป

2. ขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการฯ

เนื่องจากการดำเนินมาตรการฯ ดังกล่าวสามารถแบ่งเบาภาระค่าครองชีพของประชาชนได้โดยตรง ประกอบกับมีประชาชนจำนวนมากที่ได้รับประโยชน์จากมาตรการฯ จึงเห็นสมควรขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการฯดังกล่าว โดยมุ่งเน้นให้ความช่วยเหลือประชาชนผู้ที่มีรายได้น้อยและประสบปัญหาภาระค่าครองชีพอย่างแท้จริง โดยมีสาระสำคัญดังนี้

2.1 หลักการดำเนินมาตรการฯ

2.1.1 มาตรการลดค่าใช้จ่ายไฟฟ้าของครัวเรือน ดำเนินการผ่าน กฟน. และ กฟภ. โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการใช้ไฟฟ้าสำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 90 หน่วยต่อเดือน

2.1.2 มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางรถโดยสารประจำทาง ดำเนินการผ่าน ขสมก. โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถโดยสารประจำทางธรรมดาจำนวน 800 คันต่อวัน ใน 73 เส้นทาง ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2.1.3 มาตรการลดค่าใช้จ่ายเดินทางโดยรถไฟชั้น 3 ดำเนินการผ่าน รฟท. โดยรัฐรับภาระค่าใช้จ่ายการจัดรถไฟชั้น 3 เชิงสังคม จำนวน 164 ขบวนต่อวัน และรถไฟชั้น 3 ระยะทางไกล ในขบวนรถเชิงพาณิชย์จำนวน 8 ขบวนต่อวัน ให้บริการแก่ประชาชนโดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อนึ่ง ตามที่คณะรัฐมนตรีมีมติอนุมัติให้ขยายระยะเวลาในการดำเนินการตามมาตรการ ลดภาระค่าครองชีพของประชาชนต่อไปอีก 3 เดือน (1 มกราคม — 31 มีนาคม 2553) โดยกรณีค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือนมีการเปลี่ยนแปลงจากเดิมที่ให้สำหรับผู้ใช้น้ำระหว่าง 0-30 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือนเป็น 0-20 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือน นั้น โดยที่ปัจจุบันสถานการณ์ภาวะเศรษฐกิจของประเทศฟื้นตัวในระดับหนึ่ง ประกอบกับมีรายงานยอดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนในเดือนมกราคม 2553 ของกลุ่มผู้ใช้น้ำระหว่าง 0-20 ลูกบาศก์เมตรต่อเดือนอยู่ที่ 75 — 258 บาทต่อครัวเรือน (ถัวเฉลี่ย 15 -52 บาทต่อคนต่อเดือน) ดังนั้น เห็นว่าค่าใช้จ่ายน้ำประปาในอัตราดังกล่าวอยู่ในระดับที่ประชาชนสามารถรับภาระได้ จึงเห็นสมควรยกเลิกมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายน้ำประปาของครัวเรือน โดยให้สิ้นสุดมาตรการดังกล่าว ณ วันที่ 31 มีนาคม 2553 ตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าวข้างต้น

2.2 ระยะเวลาในการดำเนินมาตรการฯ ตั้งแต่วันที่ 1 เมษายน 2553 — 30 มิถุนายน 2553

2.3 ค่าใช้จ่ายในการดำเนินมาตรการฯ ประมาณการวงเงินค่าใช้จ่ายรวม 4,538.53 ล้านบาท

          มาตรการลดค่าใช้จ่าย               หน่วยงานที่รับผิดชอบ             ค่าใช้จ่าย (ล้านบาท)
          ไฟฟ้าของครัวเรือน                       กฟน.                            376.61
                                               กฟภ.                          3,271.49
                                               รวม                           3,648.10
          เดินทางรถโดยสารประจำทาง              ขสมก.                            611.43
          เดินทางโดยรถไฟชั้น 3                    รฟท.                               279
                                         วงเงินรวม                            4,538.53

ทั้งนี้ เห็นควรให้รัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบดำเนินการตามมาตรการฯ ที่ขยายระยะเวลาออกไปจนถึงวันที่ 30 มิถุนายน 2553 ได้แก่ กฟน. กฟภ. ขสมก. และ รฟท. ดำเนินการกู้เงินเพื่อชดเชยรายได้จากการดำเนินการตามมาตรการฯ ดังกล่าว โดยให้สำนักงบประมาณพิจารณาจัดสรรงบประมาณรายจ่ายประจำปีเพื่อชำระคืนเงินต้น ดอกเบี้ยเงินกู้ และค่าใช้จ่ายในการกู้เงินให้กับรัฐวิสาหกิจทั้ง 4 แห่ง เช่นเดียวกับแนวทางที่กระทรวงการคลังได้หารือร่วมกับสำนักงบประมาณกรณีการขยายระยะเวลาการดำเนินมาตรการฯ ระยะที่ 3 ในช่วงวันที่ 1 มกราคม — 31 มีนาคม 2553 ตามนัยข้อ 1 ข้างต้น

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ