ผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร รอบที่ 1 และความก้าวหน้า รอบที่ 2

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2010 11:38 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ

1. รับทราบสรุปผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร รอบที่ 1 ผลการติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร และความก้าวหน้าการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว รอบที่ 2 ตามข้อ 1 , 2 และ 3

2. เห็นชอบให้เกษตรกรที่ทำสัญญาในรอบที่ 1 (พ.ย. 52) แต่ยังไม่ได้รับการชดเชยสามารถอนุโลมขอใช้สิทธิ์รับการชดเชย ณ ราคาที่มีการประกาศการชดเชยสิทธิ์ในช่วงเวลาสุดท้ายของประเภทข้าวนั้น ๆ กล่าวคือ ข้าวเหนียว (ราคา ณ 16-30 พ.ย. 52) ข้าวปทุมธานี (ราคา ณ 1-15 พ.ย. 52) ข้าวอื่น ๆ (ราคา ณ 1-15 ธ.ค. 52)

3. เห็นชอบให้กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ธ.ก.ส. และจังหวัด เร่งรัดการดำเนินงาน ตามข้อ 1.5 และข้อ 3.3

4. เห็นชอบให้ยุติการดำเนินงานของคณะกรรมการประสานการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม 2552 และให้มีคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร โดยมีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ตามข้อ 4.2

สาระสำคัญของเรื่อง

ในคราวประชุมคณะกรรมการประสานการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ประชุมมีมติรับทราบผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร รอบที่ 1 และความก้าวหน้าของประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว รอบที่ 2 ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553 และที่ประชุมได้หารือเกี่ยวกับแนวทางการดำเนินงานในระยะต่อไป โดยมีสาระสำคัญสรุปได้ดังนี้

1. สรุปผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร รอบที่ 1 ณ วันที่ 18 กุมภาพันธ์ 2553

1.1 ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ธ.ก.ส.ได้ทำสัญญาประกันรายได้ 393,851 ราย และเกษตรกรได้ขอใช้สิทธิ์ชดเชยรายได้ จำนวน 365,919 ราย หรือร้อยละ 92.91 ของจำนวนเกษตรกรที่ทำสัญญา ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาการใช้สิทธิ์ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 โดย ธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินชดเชยรายได้ให้กับเกษตรกร เป็นเงิน 5,448.53 ล้านบาท

1.2 มันสำปะหลัง ธ.ก.ส.ได้ทำสัญญาประกันรายได้ให้กับเกษตรกร 430,661 ราย และเกษตรกรได้ขอใช้สิทธิ์รับการชดเชยรายได้แล้ว จำนวน 222,771 ราย หรือร้อยละ 51.73 ของจำนวนเกษตรกรที่ทำสัญญา ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาการใช้สิทธิ์ในเดือนพฤษภาคม 2553 ขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินชดเชยแล้วจำนวน 1,549.48 ล้านบาท

1.3 ข้าว ธ.ก.ส.ได้ทำสัญญาประกันรายได้ให้กับเกษตรกร 3,260,042 ราย และมีเกษตรกรมาขอใช้สิทธิ์รับการชดเชยรายได้แล้ว 2,542,412 ราย หรือร้อยละ 77.98 ของจำนวนเกษตรกรที่ทำสัญญา ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาการใช้สิทธิ์ในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 ขณะนี้ ธ.ก.ส.ได้จ่ายเงินชดเชยแล้วจำนวน 23,908.06 ล้านบาท

1.4 กรณีของข้าวภาคใต้ กรมส่งเสริมการเกษตรได้ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าวแล้วจำนวน 129,156 ราย คิดเป็นร้อยละ 54.18 ของเป้าหมาย 238,368 ราย ธ.ก.ส.ได้จัดทำสัญญาประกันรายได้กับเกษตรกร 65,695 ราย คิดเป็นร้อยละ 57.13 ของจำนวนเกษตรกรผ่านประชาคมแล้ว ทั้งนี้ มีเกษตรกรขอใช้สิทธิรับการชดเชยรายได้แล้ว 1,688 ราย ซึ่งจะสิ้นสุดระยะเวลาการใช้สิทธิ์ในวันที่ 31 พฤษภาคม 2553 และ ธ.ก.ส. ได้จ่ายเงินชดเชยแล้ว จำนวน 2.69 ล้านบาท ซึ่งในการขึ้นทะเบียนผู้ปลูกข้าวในเขตภาคใต้ จะต้องดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2553 และสิ้นสุดการทำสัญญาประกันรายได้ในวันที่ 15 เมษายน 2553

1.5 ที่ประชุมคณะกรรมการประสานฯ มีมติให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งรัดดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรและทำประชาคมเพื่อออกใบรับรองให้เกษตรกร และให้ธ.ก.ส.เร่งดำเนินการทำสัญญาประกันรายได้ให้กับเกษตรกรโดยเร็ว เนื่องจากขณะนี้ราคาข้าวเปลือกเจ้าเริ่มมีแนวโน้มลดลง และมีอัตราการชดเชยรายได้จากราคาประกันแล้ว

2. ผลการติดตามการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร ของคณะอนุกรรมการติดตามผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร

คณะกรรมการประสานฯ ได้มีมติรับทราบสรุปผลการติดตามการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกรของคณะอนุกรรมการติดตามผลการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร และคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจเพื่อตรวจสอบและติดตามการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกรในระดับพื้น จำนวน 35 คณะ โดยมีข้อเสนอแนะที่สำคัญ คือ (1) การประชาสัมพันธ์โครงการ ควรให้กรมส่งเสริมการเกษตรร่วมกับ ธ.ก.ส. ทำการประชาสัมพันธ์ให้ทั่วถึงและชัดเจนในแต่ละขั้นตอน เพื่อความเข้าใจของเกษตรกรและเจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน โดยเฉพาะการสุ่มตรวจพื้นที่จริงร้อยละ 10 ของจำนวนแปลงที่มีการทำประชาคม ตามหลักเกณฑ์และขั้นตอนการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2552/53 รอบที่ 2 (2) การประกันรายได้เกษตรกรอาจส่งผลให้เกษตรกรมีการขยายพื้นที่ปลูกมากขึ้น โดยเฉพาะข้าว จึงควรเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการน้ำเพื่อการเกษตร และสร้างความตระหนักแก่เกษตรกรถึงข้อจำกัดเรื่องน้ำ (3) ปรับปรุงระบบฐานข้อมูลให้มีประสิทธิภาพ และสามารถเชื่อมโยง ข้อมูลระหว่างหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ใช้ประโยชน์ร่วมกันได้

3. ความก้าวหน้าการดำเนินงานโครงการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว รอบที่ 2

3.1 กรมส่งเสริมการเกษตรได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รอบที่ 2 ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม — 18 กุมภาพันธ์ 2553 จำนวน 289,482.ราย คิดเป็นร้อยละ 59.93 ของเกษตรกร 483,025 ราย ที่ทำนาปรังในปีการผลิต 2552 (ฐานข้อมูลของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร) โดยได้จัดทำประชาคมเพื่อรับรองการเพาะปลูกแล้ว 11,912 ราย หรือร้อยละ 4.11 ของจำนวนเกษตรกรที่ขึ้นทะเบียน ซึ่ง ธ.ก.ส. ยังไม่ได้เริ่มทำสัญญากับเกษตรกร

3.2 จากการตรวจสอบความก้าวหน้าของการดำเนินงานในพื้นที่ พบว่า ในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนบน และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ จังหวัดเชียงใหม่ ลำปางอุดรธานี หนองบัวลำภู และขอนแก่น เกษตรกรเริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังในเดือนมกราคม 2553 และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวในช่วงกลางเดือนเมษายน 2553 สำหรับภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ตั้งแต่จังหวัดกำแพงเพชร พิษณุโลก นครสวรรค์ ชัยนาท สิงห์บุรี อ่างทอง และพระนครศรีอยุธยา รวม 7 จังหวัด เกษตรกรได้เริ่มทำการเพาะปลูกข้าวนาปรังในเดือนพฤศจิกายน 2552 และคาดว่าจะเก็บเกี่ยวในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2553 ร้อยละ 41 ของพื้นที่เพาะปลูก 3.82 ล้านไร่

ในพื้นที่ 7 จังหวัด ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ได้ดำเนินการขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว รอบที่ 2 แล้ว จำนวน 66,918 ราย หรือร้อยละ 50.6 ของเกษตรกร 132,243 รายที่ทำนาปรังในปี 2552 ในขณะที่กรมส่งเสริมการเกษตรและธ.ก.ส. ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการในขั้นตอนของกระบวนการทำประชาคม การสุ่มตรวจพื้นที่จริง การออกใบรับรองให้เกษตรกร และการทำสัญญาประกันรายได้ ซึ่งจะเกิดความล่าช้าไม่ทันกับช่วงเก็บเกี่ยวผลผลิตของเกษตรกร และจะไม่สามารถสุ่มตรวจ พื้นที่จริงร้อยละ 10 ตามขั้นตอนการประกันรายได้ผู้ปลูกข้าว ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 ทำให้ต้องมีการเสนอขออนุโลมในภายหลัง

3.3 ที่ประชุมคณะกรรมการประสานฯ ได้มีมติ ดังนี้ (1) ให้กรมส่งเสริมการเกษตรเร่งรัดดำเนินการจัดทำประชาคม และออกใบรับรองเกษตรกรในเขตพื้นที่ภาคเหนือตอนล่างและภาคกลางให้แล้วเสร็จภายในวันที่ 20 มีนาคม 2553 สำหรับภาคภาคเหนือตอนบนและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ให้ดำเนินการแล้วเสร็จภายในวันที่ 15 เมษายน 2553 เพื่อให้ทันกับช่วงการเก็บเกี่ยวของแต่ละพื้นที่ โดยให้สามารถปรับกระบวนการทำงานตามความเหมาะสมเพื่อให้ทันกำหนดการดังกล่าว และให้ ธ.ก.ส. ประสานกับกรมส่งเสริมการเกษตร เพื่อเร่งรัดการทำสัญญาประกันรายได้ให้แล้วเสร็จโดยเร็ว (2) ให้จังหวัดร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตร เร่งรัดกระบวนการตรวจสอบในพื้นที่ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553 (3) ให้จังหวัดร่วมกับกรมส่งเสริมการเกษตรและกรมชลประทาน เร่งการประชาสัมพันธ์ให้เกษตรกรรับทราบ ปริมาณน้ำและการจัดสรรน้ำ รวมทั้งผลกระทบของการทำนาปรังในระยะต่อไป เพื่อไม่ให้เกิดความเสียหายต่อผลผลิต โดยเฉพาะในเขตพื้นที่ภาคกลาง

4. กลไกประสานการดำเนินงานโครงการประกันรายได้ในระยะต่อไป

การดำเนินงานตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 19 มกราคม 2553 สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ได้มีหนังสือด่วนที่สุดที่ นร 1114/0586 ลงวันที่ 11 กุมภาพันธ์ 2553 แจ้งกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ เพื่อนำเสนอ กขช. พิจารณากลไกการดำเนินงานโครงการในลักษณะที่ถาวร และยกร่างระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการประกันรายได้เกษตรกร เพื่อให้การดำเนินงานของโครงการเป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและเป็นระบบ ทั้งนี้ในการประชุมคณะกรรมการประสานฯ ครั้งที่ 1/2553 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 ที่ประชุมมีมติให้นำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบ ดังนี้

4.1 มอบหมายให้กระทรวงการพาณิชย์ในฐานะกรรมการและเลขานุการคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ หารือร่วมกับกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงการคลัง ธ.ก.ส. พิจารณากำหนดรูปแบบและกลไกการดำเนินงานประกันรายได้เกษตรกรในลักษณะถาวร เพื่อให้เป็นไปอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพและเป็นระบบ

4.2 ให้ยุติการดำเนินงานของคณะกรรมการประสานฯ ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 195/2552 ลงวันที่ 27 สิงหาคม 2552 และแต่งตั้งคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการ โดยอาศัยบทบาทและกลไกของผู้ตรวจราชการกระทรวงประจำส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในการติดตามความก้าวหน้าและประสานแนวทางปฏิบัติกับคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง และคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยคณะกรรมการติดตามและเร่งรัดการดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร มีองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ ดังนี้

1) องค์ประกอบ

                    (1)  ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี                                 ประธานกรรมการ
                    (2)  ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ หรือผู้แทน                   กรรมการ
                    (3)  ปลัดกระทรวงพาณิชย์ หรือผู้แทน                           กรรมการ
                    (4)  ปลัดกระทรวงมหาดไทย หรือผู้แทน                         กรรมการ
                    (5)  เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจ                  กรรมการ

และสังคมแห่งชาติ หรือผู้แทน

                    (6)  อธิบดีกรมส่งเสริมการเกษตร หรือผู้แทน                     กรรมการ
                    (7)  เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร หรือผู้แทน            กรรมการ
                    (8)  รองปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีที่ได้รับมอบหมาย                  กรรมการ
                    (9)  หัวหน้าผู้ตรวจราชการสำนักนายกรัฐมนตรี                    กรรมการ
                    (10) หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์              กรรมการ
                    (11) หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงมหาดไทย                    กรรมการ
                    (12) หัวหน้าผู้ตรวจราชการกระทรวงพาณิชย์                      กรรมการ
                    (13) ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตร                           กรรมการ

และสหกรณ์การเกษตร หรือผู้แทน

                    (14) เจ้าหน้าที่สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี                   กรรมการและ
                         ที่ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีมอบหมาย                         เลขานุการ

2) อำนาจหน้าที่

(1) ติดตาม ตรวจสอบและเร่งรัดดำเนินงานโครงการประกันรายได้เกษตรกร รวมทั้งประสานแนวทางการปฏิบัติ และรายงานความก้าวหน้า ปัญหาอุปสรรค และข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมการนโยบายข้าวแห่งชาติ คณะกรรมการนโยบายมันสำปะหลัง และคณะกรรมการนโยบายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์

(2) แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ คณะทำงาน เพื่อดำเนินการอื่นใดได้ตามความเหมาะสม

(3) ปฏิบัติหน้าที่ตามที่คณะรัฐมนตรี หรือนายกรัฐมนตรี มอบหมาย

ทั้งนี้ การเบิกจ่ายงบประมาณของคณะกรรมการฯ ให้ใช้เงินเหลือจ่ายจากงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2552 งบกลาง รายการเงินสำรองจ่ายเพื่อกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็น ซึ่งได้รับอนุมัติตามมติรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 22 กันยายน 2552 โดยให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีทำความตกลงในรายละเอียดกับสำนักงบประมาณ ต่อไป

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ