การค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ 11 เดือนของปี 2552 (มกราคม-พฤศจิกายน)

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday February 24, 2010 11:47 —มติคณะรัฐมนตรี

คณะรัฐมนตรีรับทราบรายงานภาวะการค้าระหว่างประเทศของไทยในระยะ 11 เดือนของปี 2552 (มกราคม-พฤศจิกายน) ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ ดังนี้

1. การส่งออก

1.1 การส่งออกเดือนพฤศจิกายน 2552

1.1.1 การส่งออก มีมูลค่า 13,839.9 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 17.2 เป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก จากที่ส่งออกลดลงต่อเนื่องตั้งแต่ต้นปี ในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 59,347.5 ล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1

1.1.2 สินค้าส่งออก กลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นในทุกหมวด โดยเฉพาะสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 28.6 ขณะที่สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญเพิ่มขึ้นร้อยละ 13.2 และสินค้าอื่นๆ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.6

สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรเพิ่มขึ้นทุกรายการ เป็นการเพิ่มขึ้นทั้งปริมาณและมูลค่า โดยเฉพาะ ข้าว มันสำปะหลัง กุ้งแช่แข็งและแปรรูป และ น้ำตาล ที่ยังคงส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้ง ยางพารา และ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูปที่กลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก โดย ข้าว ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 66.4 และ 61.1 ตามลำดับ ผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 257.3 และ 143.5 ตาม ลำดับ กุ้งแช่แข็งและแปรรูปปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 และ 3.3 ตามลำดับ น้ำตาล ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 28.4 และ 67.1 ตามลำดับ ยางพารา ปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 37.1 และ 39.4 ตามลำดับ ผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูปปริมาณและมูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 19.6 และ 14.3 ตามลำดับ

สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ ส่งออกเพิ่มขึ้นเกือบทุกรายการ โดยสินค้าที่ยังคงส่งออกเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้า (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.7) อัญมณี (เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.6) เครื่องสำอาง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 37.7) สิ่งพิมพ์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.1) และผลิตภัณฑ์ยาง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.8) เป็นต้น รวมทั้ง สินค้าสำคัญที่กลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.9) ยานยนต์อุปกรณ์และส่วนประกอบ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.8) เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก (เพิ่มขึ้นร้อยละ 25.1) สิ่งทอ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.0) วัสดุก่อสร้าง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 3.3) และ เลนส์ (เพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8) เป็นต้น

1.1.3 ตลาดส่งออก การส่งออกไปตลาดสำคัญเพิ่มขึ้นทั้งในตลาดหลักและตลาดใหม่ โดยตลาดหลัก กลับมาส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกร้อยละ 5.9 โดยเป็นการส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรกของ อาเซียน(5) สหรัฐฯ และ สหภาพยุโรป ร้อยละ 16.4 , 4.6 และ 3.2 ตามลำดับ ขณะที่ญี่ปุ่นก็ปรับตัวดีขึ้นมากโดยลดลงเพียงร้อยละ 2.9 ขณะที่การส่งออกไปตลาดใหม่เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นเดือนที่สามโดยขยายตัวในอัตราสูงถึงร้อยละ 29.9 ตลาดที่ยังคงเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ได้แก่ จีน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 77.1) ออสเตรเลีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.4) ฮ่องกง (เพิ่มขึ้นร้อยละ 44.2) อินโดจีนและพม่า (เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.8) อินเดีย (เพิ่มขึ้นร้อยละ 27.1) และไต้หวัน (เพิ่มขึ้นร้อยละ 14.1) รวมทั้งตลาดที่ส่งออกเพิ่มขึ้นเป็นเดือนแรก ได้แก่ แคนาดา แอฟริกา ตะวันออกกลาง และ ยุโรปตะวันออก ส่วนเกาหลีใต้ และลาตินอเมริกาถึงแม้จะส่งออกลดลงแต่ก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นเป็นลำดับ

1.2 การส่งออกในระยะ 11 เดือนของปี 2552 (มกราคม-พฤศจิกายน)

1.2.1 การส่งออก มีมูลค่า 137,953.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 17.0 เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ในรูปเงินบาทการส่งออกมีมูลค่า 4,717,750 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 13.4

1.2.2 สินค้าส่งออก สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญลดลงร้อยละ 17.2 สินค้า อุตสาหกรรมสำคัญลดลงร้อยละ 15.1 และสินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 23.9

(1) สินค้าเกษตร/อุตสาหกรรมเกษตรสำคัญ ส่วนใหญ่ส่งออกลดลงตามความต้องการในตลาดโลกที่ลดลง การแข่งขันที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ลูกค้าชะลอการสั่งซื้อและมีการต่อรองราคามากขึ้น ได้แก่ ข้าว ยางพารา อาหารทะเลแช่แข็ง กระป๋องและแปรรูป(ไม่รวมกุ้ง) ไก่แช่แข็งและแปรรูป ขณะที่การส่งออกกุ้งแช่แข็งและแปรรูปและน้ำตาลยังขยายตัวเพิ่มขึ้น รวมทั้งมันสำปะหลังและผัก ผลไม้สด แช่แข็ง กระป๋องและแปรรูปที่มูลค่าส่งออกลดลงแต่ปริมาณส่งออกยังขยายตัวเพิ่มขึ้น

(2) สินค้าอุตสาหกรรมสำคัญ

  • สินค้าที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ได้แก่ อัญมณี เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.3 (เป็นการส่งออกทองคำที่เพิ่มขึ้นร้อยละ 113.9) และ ผลิตภัณฑ์เภสัช/เครื่องมือแพทย์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 5.5
  • สินค้าที่ส่งออกลดลง ได้แก่ เครื่องอิเล็กทรอนิกส์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ยานยนต์และส่วนประกอบ เม็ดและผลิตภัณฑ์พลาสติก วัสดุก่อสร้าง เฟอร์นิเจอร์ เลนส์ สิ่งทอ ผลิตภัณฑ์ยาง สิ่งพิมพ์ เครื่องเดินทางและเครื่องหนัง เป็นต้น

(3) สินค้าอื่นๆ ลดลงร้อยละ 23.9 ที่สำคัญและลดลงในอัตราสูงได้แก่ น้ำมันสำเร็จรูป น้ำมันดิบและเครื่องจักรกลและส่วนประกอบลดลงร้อยละ 35.7 , 44.0 และ 24.3 ตามลำดับ

1.2.3 ตลาดส่งออก การส่งออกไปตลาดหลักลดลงร้อยละ 24.7 และตลาดใหม่ลดลงร้อยละ 8.7 ทำให้สัดส่วนการส่งออกไปตลาดใหม่เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 53.1 ขณะที่สัดส่วนการส่งออกไปตลาดหลักลดลงเป็นร้อยละ 46.9

(1) ตลาดหลัก ส่งออกลดลงในทุกตลาด คือ อาเซียน(5) สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น และสหรัฐฯ ลดลงร้อยละ 26.8, 27.0, 23.9 และ 20.1 ตามลำดับ

(2) ตลาดใหม่ ส่งออกลดลงทุกตลาด ยกเว้น ออสเตรเลียที่ส่งออกเพิ่มขึ้น ร้อยละ 2.8 ได้แก่ ลาตินอเมริกา(ร้อยละ 34.2) ยุโรปตะวันออก(ร้อยละ 26.5) เกาหลีใต้(ร้อยละ 26.1) ไต้หวัน(ร้อยละ 21.4) ตะวันออกกลาง(ร้อยละ 13.0) อินโดจีนและพม่า(ร้อยละ 10.9) แคนาดา(ร้อยละ 8.8) แอฟริกา(ร้อยละ 7.6) ฮ่องกง(ร้อยละ 7.0) จีน(ร้อยละ 6.9) และ อินเดีย (ร้อยละ 6.6)

2. การนำเข้า

2.1 การนำเข้าเดือนพฤศจิกายน 2552

2.1.1 การนำเข้า มีมูลค่า 12,782.2 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อน ลดลงร้อยละ 2.2 คิดในรูปเงินบาทมีมูลค่า 428,971.8 ล้านบาท ลดลงร้อยละ 4.8 และเมื่อเทียบกับเดือนที่ผ่านมา ลดลง ร้อยละ 2.1

2.1.2 สินค้านำเข้า สินค้านำเข้าสำคัญมีการนำเข้าเพิ่มขึ้นเกือบทุกหมวดดังนี้

(1) สินค้าเชื้อเพลิง นำเข้ามูลค่าเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.7 เนื่องจากเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัว ส่งผลให้ความต้องการใช้เชื้อเพลิงสำหรับการผลิตและการขนส่งเพิ่มขึ้น สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ น้ำมันดิบ นำเข้าปริมาณ 23.0 ล้านบาร์เรล (767,698 บาร์เรลต่อวัน) ปริมาณเพิ่มขึ้นร้อยละ 0.69 มูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 4. 3 ก๊าซธรรมชาติปิโตรเลียม ลดลงร้อยละ 0.3

(2) สินค้าทุน นำเข้าลดลงร้อยละ 4.1 ติดลบลดลงเมื่อเทียบกับ 10 เดือนแรกของปี ซึ่งชี้ว่าแนวโน้มการลงทุนเริ่มมีสัญญาณฟื้นตัวจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่เครื่องจักรกลและส่วนประกอบ ลดลงร้อยละ 10.3 เครื่องจักรไฟฟ้าและส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 14.6 เครื่องคอมพิวเตอร์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เพิ่มขึ้น ร้อยละ 12.5

(3) สินค้าวัตถุดิบและกึ่งสำเร็จรูป นำเข้าลดลงร้อยละ 8.9 แม้การนำเข้าในภาพรวมจะติดลบ แต่มีสินค้าหลักที่นำเข้ามาเพื่อผลิตสำหรับส่งออกขยายตัวเพิ่มขึ้น เช่น อุปกรณ์ส่วนประกอบเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 23.7 เคมีภัณฑ์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 20.1 เหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ ปริมาณเพิ่มขึ้น ร้อยละ 62.7 มูลค่า เพิ่มขึ้นร้อยละ 2.3 ส่วนทองคำ นำเข้าปริมาณ 5.9 ตัน ปริมาณและมูลค่า ลดลงร้อยละ 87.1 และ 81.1 ตามลำดับ

(4) สินค้าอุปโภคบริโภค นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 18.8 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ เครื่องใช้ไฟฟ้าในบ้าน เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.0 เครื่องใช้เบ็ดเตล็ด นำเข้าเพิ่มขึ้นร้อยละ 9.7 ผลิตภัณฑ์เวชกรรมและเภสัชกรรม เพิ่มขึ้นร้อยละ 38.7

(5) สินค้ายานพาหนะและอุปกรณ์ นำเข้า เพิ่มขึ้นร้อยละ 29.9 สินค้านำเข้าสำคัญ ได้แก่ ส่วนประกอบและอุปกรณ์ยานยนต์ เพิ่มขึ้นร้อยละ 30.6 รถยนต์นั่ง เพิ่มขึ้นร้อยละ 19.3 รถยนต์โดยสารและรถบรรทุก เพิ่มขึ้นร้อยละ 57.6 ส่วนประกอบและอุปกรณ์จักรยานยนต์และรถจักรยาน เพิ่มขึ้น ร้อยละ 10.0

2.2 การนำเข้าในระยะ 11 เดือนของปี 2552 (มกราคม-พฤศจิกายน)

2.2.1 การนำเข้า นำเข้ามูลค่า 119,376.1 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปี 2551 ลดลงร้อยละ 28.9 ส่งออกมูลค่า 137,953.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เทียบกับระยะเดียวกันของปีก่อนลดลงร้อยละ 17.0 ทำให้ได้เปรียบดุลการค้ามูลค่า 18,577.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ

2.2.2 สินค้านำเข้าสำคัญ สินค้านำเข้าสำคัญมีการนำเข้าลดลงเกือบทุกหมวดสินค้า ได้แก่ สินค้าเชื้อเพลิง ลดลงร้อยละ 36.6 ส่วนสินค้าทุน ลดลงร้อยละ 18.2 สินค้าวัตถุดิบกึ่งสำเร็จรูป ลดลงร้อยละ 35.2 และสินค้าอุปโภคบริโภค ลดลงร้อยละ 11.9 ส่วนยานพาหนะและอุปกรณ์ ลดลงร้อยละ 20.9 ส่วนอาวุธยุทธปัจจัย เพิ่มขึ้น ร้อยละ 126.5

3. ดุลการค้า

3.1 ดุลการค้าเดือนพฤศจิกายน 2552

ไทยเกินดุลการค้า 1,057.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อคิดในรูปเงินบาท ไทยเกินดุลการค้ามูลค่า 30,375.8 ล้านบาท

3.2 ดุลการค้าในระยะ 11 เดือนของปี 2552 (มกราคม-พฤศจิกายน)

ไทยเกินดุลการค้า 18,577.7 ล้านเหรียญสหรัฐฯ เมื่อคิดในรูปเงินบาท ไทยเกินดุลการค้า มูลค่า 593,326.9 ล้านบาท

--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ