คณะรัฐมนตรีรับทราบและเห็นชอบสรุปภาวะเศรษฐกิจไทยไตรมาสที่สี่ ภาพรวมทั้งปี 2552 และแนวโน้ม ปี 2553 ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติเสนอ
สาระสำคัญของเรื่อง
ตามที่สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ได้เผยแพร่ตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 4/2552 ภาพรวมทั้งปี 2552 และแนวโน้มปี 2553 เมื่อวันที่ 22 กุมภาพันธ์ 2553 นั้น สำนักงานฯ ขอสรุปสาระสำคัญ ดังนี้
1. เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 4 ของปี 2552 ขยายตัวเป็นครั้งแรก
1.1 ไตรมาสที่ 4 ปี 2552 เศรษฐกิจไทยขยายตัวร้อยละ 5.8 (เทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน) เป็นการขยายตัวครั้งแรกจากที่หดตัวร้อยละ 7.1, 4.9 และ 2.7 ในไตรมาสแรก สองและสามของปี 2552 ทำให้ทั้งปี 2552 เศรษฐกิจไทย หดตัวเพียงร้อยละ 2.3 ดีกว่าที่คาดไว้ว่าจะหดตัวถึงร้อยละ 3.0 (ในการแถลงข่าวเมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552) และถือว่าเป็นการฟื้นตัวที่เร็วกว่าที่คาด เพราะติดลบเพียง 4 ไตรมาสติดต่อกันเท่านั้น
1.2 เศรษฐกิจไตรมาสที่ 4 เมื่อเปรียบเทียบกับไตรมาสที่ 3 โดยปรับผลของฤดูกาลออกแล้วขยายตัวร้อยละ 3.6 (% QoQ SA) นับเป็นการขยายตัว 3 ไตรมาสติดต่อกันต่อจากที่ขยายตัวร้อยละ 2.1 และ 1.7 ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ตามลำดับ ซึ่งเป็นการขยายตัวที่สูงกว่ากลุ่มประเทศยูโรโซน เกาหลีใต้ สหราชอาณาจักร และญี่ปุ่น ที่ขยายตัวร้อยละ 0.1, 0.2, 0.1 และ 1.1 (QoQ SA) ตามลำดับ ส่วนสิงคโปร์ หดตัวร้อยละ 1.7 (% QoQ SA) (ข้อมูล ณ วันที่ 16 กุมภาพันธ์ 2553)
1.3 ปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวสูง ได้แก่
(1) การส่งออก จากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ภาคการส่งออกของไทยฟื้นตัวอย่างชัดเจน การส่งออกสินค้าและบริการในไตรมาส 4/2552 ขยายตัวร้อยละ 4.1 จากที่หดตัวร้อยละ 14.8 ในไตรมาสที่ผ่านมา โดยที่การส่งออกสินค้าหลักๆ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์ และแผงวงจรไฟฟ้า ขยายตัวร้อยละ 7.4 14.1 และ 40.5 ตามลำดับ ตลาดส่งออกที่ขยายตัวได้แก่ตลาดจีน อินเดีย อาเซียน และสหรัฐอเมริกา ที่ขยายตัวร้อยละ 54.2 20.4 18.3 และ 4.5 ตามลำดับ
(2) ภาคอุตสาหกรรม ขยายตัวร้อยละ 9.9 โดยเฉพาะอุตสาหกรรมการผลิตที่เชื่อมโยงกับภาคการส่งออกตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก ได้แก่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ อุตสาหกรรมอาหาร และอุตสาหกรรมยานยนต์ ซึ่งทำให้อัตราการใช้กำลังการผลิตในภาคอุตสาหกรรมอยู่ที่ระดับร้อยละ 67.2 ปรับตัวเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1 2 และ 3 ที่อยู่ที่ระดับร้อยละ 58.1 59.2 และ 62.5 ตามลำดับ
(3) ราคาพืชผลหลักที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้การใช้จ่ายโดยรวมเป็นบวกครั้งแรกในรอบปี โดยขยายตัวร้อยละ 1.4 ทั้งนี้ราคาพืชผลเกษตรเพิ่มขึ้น (ยางพารา มันสำปะหลังและปาล์ม เพิ่มขึ้นร้อยละ 58.9 17.3 และ 41.1 ตามลำดับ) ทำให้รายได้เกษตรกรเพิ่มขึ้น ประกอบกับมีการจ้างงานเพิ่มขึ้น ทำให้มีผู้ว่างงานจำนวน 384,110 ส่งผลให้อัตราการว่างงานลดลงอยู่ที่ระดับร้อยละ 1.0 เทียบกับอัตราการว่างงานร้อยละ 2.1 ในไตรมาสแรกของปี และผลจากการดำเนินโครงการประกันรายได้เกษตรกร ทำให้เกษตรกรได้รับรายได้จากสินค้าเกษตรอย่างเต็มที่ รวมทั้งผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยมากขึ้น สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคในไตรมาสนี้อยู่ที่ร้อยละ 76.5 เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 74.5 ในไตรมาสที่ผ่านมา
(4) การท่องเที่ยว ฟื้นตัวอย่างชัดเจน โดยเฉพาะในเดือนธันวาคม มีจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ จำนวน 1.63 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 40.8 ซึ่งเป็นจำนวนนักท่องเที่ยวที่สูงที่สุดในรอบปี ทำให้ไตรมาสที่สี่มีจำนวนนักท่องเที่ยวจำนวน 4.2 ล้านคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 26.2 ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวจากประเทศจีน เกาหลี และไต้หวัน อัตราการเข้าพักของโรงแรมเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 54.6 จากร้อยละ 49.6 ในไตรมาสเดียวกันของปีที่ผ่านมา ส่งผลทำให้สาขาโรงแรม ภัตตาคารและสาขาคมนาคม ขนส่ง ขยายตัวร้อยละ 13.5 และ 6.9 ตามลำดับ เมื่อรวมทั้งปีมีนักท่องเที่ยวจำนวน 14.1 ล้านคน สูงกว่าเป้าหมายที่ตั้งไว้ (เป้าหมาย 14.0 ล้านคน)
(5) การก่อสร้าง ขยายตัวร้อยละ 5.1 ปรับตัวขึ้นจากที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 และ 1.9 ในไตรมาสที่ 2 และ 3 ตามลำดับ เป็นการปรับตัวของการก่อสร้างภาคเอกชน เนื่องจากผู้ประกอบการมีความมั่นใจสูงขึ้นตามสถานการณ์เศรษฐกิจที่มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น จะเห็นได้จากดัชนีความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการธุรกิจพัฒนาที่อยู่อาศัยในไตรมาส 4 มีค่า 57.8 เพิ่มจากไตรมาสก่อนที่มีค่า 55.8
2. คาดว่าเศรษฐกิจในปี 2553 จะขยายตัวร้อยละ 3.5 — 4.5 (ปรับเพิ่มจากเดิมร้อยละ 3.0— 4.0 ที่ประมาณการไว้เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายน 2552)
2.1 โดยมีเงื่อนไขการฟื้นตัวดังนี้
(1) การฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกจะส่งผลทำให้การส่งออกสินค้ามีแนวโน้มขยายตัว โดยคาดว่ามูลค่าการส่งออกในรูปดอลลาร์ สรอ. จะขยายตัวร้อยละ 15.5 และภาคการผลิตที่เชื่อมโยงกับการส่งออกยังมีแนวโน้มที่ขยายตัวต่อเนื่อง เช่นภาคการเกษตรจะทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้น สาขาการท่องเที่ยวมีแนวโน้มการขยายตัวในอัตราที่สูงเช่นกัน
(2) การปรับตัวที่ดีขึ้นของการใช้จ่ายครัวเรือน จากภาวะเศรษฐกิจที่ฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับแนวโน้มราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผู้บริโภคมีความเชื่อมั่นในการจับจ่ายใช้สอยเพิ่มขึ้นในช่วงไตรมาสแรกและสองของปี
2.2 ปัจจัยเสี่ยงในปี 2553 ได้แก่
(1) เศรษฐกิจโลกยังมีความเสี่ยงที่จะชะลอลงในครึ่งหลังของปี โดยเฉพาะเศรษฐกิจจีนซึ่งเป็นแรงผลักดันเศรษฐกิจโลกในปี 2553 และประเทศขนาดกลางและขนาดเล็กที่มีแรงกดดันจากเสถียรภาพการคลังและการเงิน
(2) การแก้ไขปัญหาในเขตนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด (ตามมาตรา 67 วรรค 2 ของ รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2550) ซึ่งควรดำเนินการแก้ไขปัญหาให้ได้ข้อสรุปที่ชัดเจนและภาคเอกชนสามารถดำเนินกิจการได้อย่างช้าภายในไตรมาสที่ 3 ปี 2553
(3) การดำเนินโครงการลงทุนภาครัฐ และการเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2553 โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข็มแข็ง 2555
(4) ปัญหาภัยแล้ง ที่จะส่งผลกระทบต่อภาคเกษตร ถึงแม้ว่าในปี 2553 ราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ผลผลิตการเกษตรมีแนวโน้มที่จะได้รับความเสียหายจากภัยแล้ง ซึ่งจะส่งผลต่อระดับรายได้เกษตรกร
(5) การดำเนินนโยบายการเงินที่เหมาะสมเพื่อสนับสนุนการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของประเทศและเพิ่มความสามารถในการแข่งขันทางด้านการค้ากับต่างประเทศ โดยเฉพาะในภาวะที่การเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันส่งผลให้เงินเฟ้อสูงขึ้น
2.3 องค์ประกอบของการขยายตัวทางเศรษฐกิจปี 2553 ดังนี้
(1) รายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภครวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 2.8 โดยที่การใช้จ่ายภาคครัวเรือนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นที่ขยายตัวร้อยละ 3.0 เนื่องจากภาวะการจ้างงานและรายได้ของครัวเรือนมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากราคาสินค้าเกษตรที่เพิ่มขึ้น ในขณะที่รายจ่ายการบริโภคภาครัฐมีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 1.6
(2) การลงทุนรวม คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 4.6 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 9.0 ในปี 2552 โดยที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มที่จะขยายตัวร้อยละ 5.0 การลงทุนภาครัฐขยายตัวร้อยละ 3.5
(3) มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 15.5 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 13.9 ในปี 2552
(4) มูลค่าการนำเข้าสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. ขยายตัวร้อยละ 24.0 เทียบกับการหดตัวร้อยละ 24.9 ในปี 2552
(5) ดุลการค้าเกินดุล 11.3 พันล้านดอลลาร์ สรอ. และเมื่อรวมกับดุลบริการที่คาดว่าจะเกินดุล จะส่งผลให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลประมาณ 12.2 พันล้านดอลลาร์ สรอ. หรือร้อยละ 4.1 ของ GDP
2.4 การบริหารเศรษฐกิจในปี 2553 ควรให้ความสำคัญกับมาตรการดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยนที่สมดุลระหว่างการรักษาอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจและการรักษาเสถียรภาพในระบบเศรษฐกิจเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของภาวะเศรษฐกิจและการเงินโลก
(2) เร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณและเร่งรัดโครงการลงทุนสำคัญๆ ที่จำเป็นต่อการสร้างศักยภาพการขยายตัวทางเศรษฐกิจในระยะยาว ภายใต้แผนปฏิบัติการไทยเข็มแข็ง 2555 เพื่อลดผลกระทบจากการหดตัวของกรอบงบประมาณปกติและขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจมีการขยายตัวอย่างต่อเนื่อง
(3) เร่งแก้ไขปัญหาและอุปสรรคด้านการลงทุนและสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนเพื่อมิให้เป็นข้อจำกัดในการขยายกำลังการผลิตในอนาคตของภาคอุตสาหกรรม
(4) ลดความเสี่ยงและรักษารายได้ของเกษตรกรโดยดำเนินมาตรการประกันรายได้เกษตรกรอย่างต่อเนื่องรวมทั้งการป้องกันและแก้ไขปัญหาสถานการณ์ภัยแล้ง
--ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ (นายกรัฐมนตรี) วันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2553--จบ--